ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และเห็นชอบร่างประกาศ คกก. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการดำเนินงาน และความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มตกหล่นให้สามารถเข้าถึงโครงการ
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 20 ล้านคน (ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เดิม และผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่) คาดสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 โดยมีกรอบวงเงินดำเนินการ 564.455 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างเหมาบริการระบบลงทะเบียน และการยืนยันตัวตน 164.274 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียน ของหน่วยรับลงทะเบียน 400.181 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบฯ ของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว
คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน มีดังนี้
- ผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องไม่เป็นภิกษุ ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐ
- รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี และรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี
- ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ เช่น วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และวงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น
- ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คกกฯกำหนด
ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรสวัสดิการฯ และปัญหาผู้มีบัตรฯ ที่ไม่ควรได้รับสิทธิ ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับลงทะเบียน ตามโครงการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ จะมีการดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและตรวจสอบข้อมูลของผู้ลงทะเบียน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อีกด้วย
สำหรับผู้ได้รับสิทธิจากโครงการ ปี 2565 จะใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรสวัสดิการฯ เนื่องจากบัตรสวัสดิการฯ ที่ได้เริ่มใช้งานตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 มีอายุการใช้งาน 5 ปี และจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2565 ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตบัตรสวัสดิการฯ ใหม่ ประมาณ 1,258 ล้านบาท อีกทั้งลดปัญหาเรื่องการสวมสิทธิบัตรประจำตัวประชาชน หรือการนำบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่นไปใช้สิทธิแทน และช่วยลดการทุจริต เช่น กรณีร้านค้าเก็บบัตรสวัสดิการฯ ไว้เอง เป็นต้น