‘อีริคสัน’ มองในปี 68 คนไทยใช้ 5G เกิน 50% พร้อมประเมินควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ตลาดยิ่งแข่งสูง

รายงานเชิงลึกระดับโลกของอีริคสัน (NASDAQ: ERIC) เปิดเผยว่าตั้งแต่อีริคสันจัดทำและเผยแพร่รายงาน Ericsson Mobility Report ครั้งแรกในปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีปริมาณ การใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเพิ่มขึ้นเกือบ 300 เท่า โดยในรายงานฉบับครบรอบสิบปีนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับเครือข่ายมือถือทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์ไปจนถึงปี 2570

ผู้ใช้ 5G ทั่วโลกแตะ 660 ล้านบัญชีในสิ้นปี

จากการคาดการณ์ที่ระบุว่า ยอดผู้ใช้บริการ 5G จะสูงแตะ 660 ล้านบัญชีภายในสิ้นปีนี้ เป็นการตอกย้ำสมมติฐานที่ว่า 5G เป็นเจเนอเรชั่นเครือข่ายไร้สายที่มีการนำมาใช้งานรวดเร็วที่สุด โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนและอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาอุปกรณ์ 5G ที่ลดลง อีริคสันยังพบว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้ทั่วโลกมียอดผู้ใช้ 5G มีจำนวนเพิ่มขึ้นสุทธิที่ 98 ล้านบัญชี เทียบกับผู้สมัครใช้ 4G รายใหม่ที่ 48 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ยังคาดว่าเครือข่าย 5G จะครอบคลุมผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคนภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ล่าสุดที่ระบุว่าภายในปี 2570 เครือข่าย 5G จะกลายเป็นเครือข่ายหลักของโลกเพื่อใช้เข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ  ซึ่ง ณ เวลานี้ผู้ใช้ 5G มีสัดส่วนประมาณ 50% ของจำนวนผู้ใช้มือถือทั้งหมดทั่วโลก โดยครอบคลุมประชากรโลกถึง 75% และคิดเป็น 62% ของปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนทั่วโลก

ดีไวซ์มีจำนวนมากในราคาที่ถูกลง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2554 การนำเครือข่าย 4G LTE มาใช้งานได้ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่เพิ่มยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกพุ่งเป็น 5.5 พันล้านคน และเกิดอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ 4G ขึ้นในตลาดมากกว่า 20,000 รุ่น ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่าวงจรเทคโนโลยีของอุปกรณ์ 5G นั้นเปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็วกว่า ปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือ 5G คิดเป็นสัดส่วน 23% ของมือถือทั้งหมดทั่วโลก เทียบกับโทรศัพท์มือถือ 4G ที่มีเพียง 8% ณ จุดเดียวกัน

สิ่งนี้กระตุ้นให้การใช้ปริมาณอินเทอร์เน็ตบนมือถือเติบโตอย่างก้าวกระโดด หากพิจารณาการเติบโตแบบปีต่อปี จะพบว่าปริมาณการใช้เน็ตมือถือ ณ ไตรมาส 3 ปี 64 เติบโตที่ 42% หรือประมาณ 78 เอกซะไบต์ (EB) ซึ่งนับรวมปริมาณอินเทอร์เน็ตจากบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตไร้สาย (Fixed Wireless Network) นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดการใช้เน็ตมือถือในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีปริมาณเทียบเท่าปริมาณเน็ตที่เคยมีมาทั้งหมดจนถึงปี 2559 ซึ่งจากการคาดการณ์ล่าสุดยังเผยว่าในปี 2570 จะมีการใช้เน็ตมือถือเพิ่มขึ้นสูงถึง 370 เอกซะไบต์ (EB)

ไทยเป็นผู้นำ 5G เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ยอดผู้ใช้มือถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเพิ่มเป็น 1.1 พันล้านราย โดยมียอดผู้สมัครใช้บริการ 5G สูงแตะ 15 ล้านราย และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีนี้ โดยคาดว่าในปี 2570 จะมียอดผู้ใช้ 5G ถึง 560 ล้านราย

นอกจากนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะมีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในโลก แตะ 46 กิกะไบต์ (GB) ต่อเดือน ภายในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย 34% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือทั้งหมดที่เติบโตต่อปีที่ 39% ส่งผลให้มียอดการใช้เน็ตต่อเดือนสูงถึง 46 เอกซะไบต์ (EB) เป็นผลมาจากจำนวนผู้สมัครใช้บริการ 4G และ 5G ที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่เปิดให้บริการ 5G

สำหรับประเทศไทย คือ หนึ่งในประเทศที่มีประชากรใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก โดยมีการประเมินว่าภายในปี 2568 การใช้งานจะคิดเป็น 50% ส่วน 4G จะมีการใช้งานประมาณ 40% นอกจากนี้ ไทยคือหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค โดยมีธุรกิจที่มีศักยภาพจำนวนมากที่นำเทคโนโลยี 5G มาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีความทันสมัย ดังนั้น อุตสาหกรรมการผลิต, ยานยนต์ และเฮลท์แคร์ จะเป็นอุตสาหกรรมที่นำ 5G มาใช้โดยเฉพาะในเรื่องของออโตเมชั่นและการแพทย์ทางไกล ซึ่งการใช้งาน 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ การใช้งาน 5G ไทยเป็นช่วงเออรี่สเตจ ตอนนี้โอเปอเรเตอร์มองไปที่โคเวอเรจพื้นที่ใช้งานเป็นหลัก ขณะที่ผู้ใช้ในปัจจุบันมีประมาณ 3 ล้านราย ดังนั้นมองว่า โอเปอเรเตอร์ควรไปเน้นที่ คุณภาพ มากกว่าโคเวอเรจด้านพื้นที่เพื่อให้คนมาใช้ 5G เนื่องจากปัจจุบัน สิ่งที่ขับเคลื่อนการใช้งานคือ คอนเทนต์ และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือ แพ็กเกจใหม่ ๆ ในราคาที่จับต้องได้

“ตลาดไทยแอคทีฟมาก และ 5G ก็ไปเร็วกว่าที่อื่น ถือเป็นผู้นำด้วยซ้ำ แต่จะทำอย่างไรให้ประสบการณ์ 5G ดีกว่านี้ และผลักดันให้ผู้บริโภคมาใช้มากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคไทยมีการใช้งานหลากหลายและคาดหวังกบบริการสูง ดังนั้น ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้” อิกอร์ มอเรล ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยกล่าว

อิกอร์ มอเรล ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทย

ควบรวมทรู-ดีแทค อาจทำให้ตลาดแข่งสูงขึ้น

สำหรับประเด็นที่โอเปอเรเตอร์เบอร์ 2 และ 3 อย่าง ทรู-ดีแทค ควบรวมกัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดจาก 3 เหลือ 2 รายที่ต้องแข่งขันกัน แน่นอนว่าผู้เล่นที่น้อยลงแปลว่าตัวเลือกที่น้อยลง แต่แปลว่าเส้นแบ่งระหว่างเบอร์ 1 และ 2 ก็ยิ่งน้อย ดังนั้น การแข่งขันจะยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านของคุณภาพสัญญาณและโปรโมชัน เพราะผู้บริโภคไทยมีความคาดหวังสูงและใช้งานหลากหลาย ดังนั้น ในส่วนนี้ทางด้านผู้กำกับดูแลต้องมาดูว่าโอเปอเรเตอร์ให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคหรือยัง

สำหรับอีริคสันเอง การควบรวมนี้นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งใน ระยะสั้น มองว่าการควบรวมจะนำไปสู่การ ลดต้นทุน จะมีการรวมทรัพยากรกัน แต่ใน ระยะยาว โอเปอเรเตอร์จะต้องพยายามหาเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกค้า ดังนั้น อีริคสันต้องเกาะติดลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความต้องการของเขา และนำเสนอโซลูชั่นที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ซึ่งสิ่งที่อีริคสันกำลังมองก็คือ เทคโนโลยี สแตนด์อะโลน หรือก็คือ การใช้เทคโนโลยี 5G ที่ไม่ได้ไปใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีเก่าอย่าง 4G