แม้ว่าในตลาดโลก เสียวหมี่ (Xiaomi) จะเป็นที่ 4 แต่ในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา เสียวหมี่เป็นแบรนด์เดียวในโลกที่สามารถเติบโตได้ถึง 1.4% ขณะที่แบรนด์อื่น ๆ ติดลบหมด และสำหรับในประเทศไทย การ์ดเนอร์ระบุว่า เสียวหมี่ได้ก้าวเป็นเบอร์ 1 ในตลาดครั้งแรกด้วยส่วนแบ่งการตลาด 16.2% มีจำนวนยอดขายกว่า 691,000 เครื่อง เป็นไปตามคำมั่นสัญญาเมื่อปี 2018 ที่บอกว่าจะขึ้นเป็น เบอร์ 1 ภายใน 3 ปี อะไรเป็นปัจจัยให้น้องใหม่ในตลาดสามารถผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ได้ตามที่เคยลั่นวาจาไว้ ไปหาคำตอบกัน
เน้นขายออนไลน์ตั้งแต่ต้น
ในช่วง Covid-19 ทำให้ห้างร้านต่าง ๆ ต้องปิดลง ดังนั้น การจะจับจ่ายซื้อของจึงถูกเปลี่ยนมาอยู่บนออนไลน์ ซึ่งนี่เป็นจุดที่เสียวหมี่ได้เปรียบมาก เพราะช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางการขายหลักตั้งแต่ต้นของแบรนด์ โดยในระเทศไทยนั้น เสียวหมี่สามารถทำยอดขายได้สูงสุดทั้งในลาซาด้า และช้อปปี้ ก่อนจะขยาย ‘Mi Store’ เข้าสู่ตลาดออฟไลน์จนมีกว่า 50 สาขาในไทยควบคู่กับการขายออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้
ถูก และ ดี มีอยู่จริง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากอยากได้สมาร์ทโฟนสเป็กเทพในราคาสุดคุ้ม เสียวหมี่ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ แน่นอน อย่างเรือธงบางแบรนด์ราคาทะลุ 3 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นเสียวหมี่จะอยู่ที่ 2 หมื่นเท่านั้น แถมเสียวหมี่ยังมีสมาร์ทโฟนทุกระดับราคาให้จับจองตั้งแต่ล่าง-กลาง-บน และสาเหตุที่เสียวหมี่ทำราคาได้ดีกว่าชาวบ้าน ก็เพราะกำไรสุทธิมีกำไรเพียง 5% เท่านั้น โดยเสียวหมี่จะเน้นสร้าง ecosystem เพื่อสร้างที่จะสร้างกำไรในระยะยาวมากกว่า
นวัตกรรม และ ecosystem ที่แข็งแรง
หลายคนคงรู้แล้วว่า เสียวหมี่ไม่ได้มีดีแค่สมาร์ทโฟน แต่มีสินค้า IoTs เยอะแยะไปหมด ของบางอย่างไม่น่ามีก็มี และที่เสียวหมี่สามารถมีสินค้ามากมายที่ออกมาโดนในลูกค้าก็เพราะ ‘Xiaomi Ecosystem Product’ ที่เสียวหมี่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพและ SME ได้ผลิตสินค้าโดยเสียวหมี่จะเป็นผู้ลงทุน นอกจากนี้เสียวหมี่ยัง ‘ฟังเสียงผู้ใช้’ โดยเปิดรับ Feedback จากผู้ใช้งานเพื่อไปปรับปรุงและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ผ่านมาออนไลน์โดยตรง
อ่าน >>> ไขข้อข้องใจ ทำไม ‘Xiaomi’ ถึงมีสินค้าสากกะเบือยันเรือรบ?
Mi Fan สุดยอดกลยุทธ์ Loyaty
นอกจากที่จะรับฟังความต้องการของผู้ใช้ไปพัฒนาสินค้าแล้ว ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง Loyalty โปรแกรมชั้นเยี่ยม เพราะทำให้เหล่า ‘Mi Fans’ รู้สึกภูมิใจในการมีส่วนร่วมพัฒนาสินค้า นอกจากนี้ เมี่อมีกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ เปิดตัวสินค้าใหม่ เสียวหมี่ก็จะไม่ลืมเชิญเหล่า Mi Fans ไปร่วมงานด้วย และสำหรับประเทศไทย เหล่า Mi Fans ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2018 สามารถเพิ่มฐานจาก 3 หมื่นรายเป็น 1.5 แสนราย หรือ 5 เท่าภายในปีเดียว
แม้ว่าทั่วโลกจะเผชิญกับพิษ Covid-19 แต่ในไตรมาสแรกของปีนี้ เสียวหมี่เติบโตถึง 13.6% มีรายได้ 4.97 หมื่นล้านหยวน ทำกำไรไป 2.3 พันล้านหยวน โดยในตลาดสมาร์ทโฟนทำรายได้ 3.03 หมื่นล้านหยวน เติบโต 12.3% และในส่วนของ IoTs ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยรายได้ 1.3 หมื่นล้านหยวน ขณะที่รายรับจากต่างประเทศของเสียวหมี่เกือบครึ่งมาจากต่างประเทศ ส่วนแอปพลิเคชัน Mi Home มีผู้ใช้งานถึง 40 ล้านคนต่อเดือน