อ่านอินไซต์จาก Google Trends หลัง COVID-19 อะไรจะเลิกฮิตและอะไรจะยังฮิตต่อเนื่อง

อ่านกราฟความนิยมบน Google Trends ในช่วง COVID-19 เริ่มคลี่คลาย พฤติกรรมคนไทยต่อสินค้าและบริการสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเริ่มแล้วเลิก กลุ่มเริ่มแล้วทำต่อไป และกลุ่มกระแสรองกลายเป็นกระแสหลัก แนะผู้ประกอบการและนักการตลาดประเมินความนิยมต่อสินค้าและบริการของตนเอง เพื่อรับมือให้ทันท่วงที

“ไมเคิล จิตติวาณิชย์” หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย เปิดข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่ได้จากการใช้เครื่องมือ Google Trends ในช่วงหลังการระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย พบว่า สามารถแยกเทรนด์การค้นหาสินค้าและบริการได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มเริ่มแล้วเลิก (Start/Stop) กลุ่มเริ่มแล้วทำต่อไป (Step-Change) และ กลุ่มกระแสรองกลายเป็นกระแสหลัก (Speed Up) มีรายละเอียดและตัวอย่างสินค้า/บริการดังนี้

 

“กลุ่มเริ่มแล้วเลิก” (Start/Stop)

ในกราฟของ Google Trends จะเห็นว่าผู้คนค้นหาคำเหล่านี้มากเป็นพิเศษในช่วงที่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 และเริ่มลดน้อยลงตามการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล หรือในทางกลับกันคือ มีการค้นหาน้อยลงเป็นพิเศษเทียบกับปีก่อนหน้า แต่กลับมาเป็นปกติแล้วหลังจากการคลายล็อกดาวน์

โดยพบว่าคำค้นสินค้าหรือบริการที่มักจะเป็นเทรนด์แบบนี้คือ สินค้ากลุ่มที่เกี่ยวกับ “ความสะอาดปลอดภัย” หรือเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำด้วยตนเองหรือ “DIY” ในบ้านแก้ขัดไปก่อนเนื่องจากร้านค้าหรือบริการนั้นๆ ปิดชั่วคราว ยกตัวอย่างเคสในกลุ่มนี้ดังนี้

1.สินค้าที่เกี่ยวกับความสะอาดปลอดภัย ได้แก่ หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ จะเห็นจาก Google Trends ได้เลยว่า 3 สิ่งนี้คือสิ่งที่คนไทยค้นหามากขึ้นตามสถานการณ์ COVID-19 ที่มีเคสผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และค่อยๆ ลดลงช่วงปลายเดือนเมษายนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

2.การดูแลความงามด้วยตนเอง (DIY) ในภาพรวม Google Trends พบว่ามีการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับความงามลดลง 5% แต่ถ้าเจาะลึกลงไปจะพบว่าสินค้าที่เกี่ยวกับการดูแลความงามด้วยตนเอง (DIY) กลับเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว เช่น ค้นหาวิธีทำผมเอง วิธีตัดผมเอง และค้นหาเกี่ยวกับแบตตาเลี่ยน แต่การค้นหาเหล่านี้เริ่มหายไปหลัง COVID-19 คลี่คลายเช่นกัน

ครีมกันแดด กลายเป็นสินค้าที่ถูกค้นหาน้อยลงในหน้าร้อนนี้ แต่เริ่มกลับมาเป็นปกติหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

3.ครีมกันแดด สำหรับเคสกลับสลับข้างกันยกตัวอย่างเช่น ครีมกันแดด ที่มองย้อนไป 2 ปีจะเป็นสินค้าที่ถูกค้นหามากในหน้าร้อน แต่ปีนี้ในเดือนเมษายน การค้นหาครีมกันแดดไม่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เทรนด์เริ่มกลับมาเป็นปกติแล้วเพราะการค้นหาครีมกันแดดเดือนพฤษภาคมสูงขึ้นเท่าๆ กับปีก่อน

4.การเดินทางไปศูนย์การค้า ส่วนนี้เป็นข้อมูลจาก Google Mobility Trend เมื่อเทียบกับ base line คือการเดินทางในช่วงปกติก่อน COVID-19 จะเห็นว่าคนไทยในช่วงเริ่มล็อกดาวน์ลดการเดินทางไปศูนย์การค้ากว่า 40% จากปกติ แต่เทรนด์การเดินทางกลับมามากขึ้นเป็นลำดับ ตามการคลายล็อกดาวน์แต่ละเฟส จนล่าสุด วันที่ 14 มิถุนายน 2020 คนไทยเดินทางไปศูนย์การค้าลดลง 18% จากปกติสะท้อนภาพว่าการเดินทางจะกลับมาเป็นปกติในไม่ช้า

 

“กลุ่มเริ่มแล้วทำต่อไป” (Step-Change)

กลุ่มนี้เมื่อศึกษากราฟของ Google Trends จะเห็นว่า ช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้มีการเติบโตมากนัก แต่มาพุ่งสูงในช่วง COVID-19 และหลังสถานการณ์คลี่คลาย กราฟการค้นหายังตกลงไม่มาก (ยังไม่ลดไปเท่ากับช่วงก่อน COVID-19) รวมถึงมีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไปแม้ว่าจะช้าลงก็ตาม สะท้อนภาพว่าจะเป็นสิ่งใหม่ที่คนไทยยังสนใจแม้โรคระบาดจะเริ่มคลี่คลายแล้วก็ตาม ตัวอย่างมีดังนี้

1.การเรียนออนไลน์ พบว่ามีการค้นหาคำว่า “เรียน” ใน YouTube มากขึ้น 2 เท่า และพื้นที่ที่เสิร์ชหามากที่สุดต่อจำนวนประชากรไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่เป็นต่างจังหวัด มากที่สุด 3 จังหวัดคือ อุตรดิตถ์ ชัยนาท และหนองบัวลำภู ส่วนการค้นหาใน Google พบว่าคำว่า “เรียน ออนไลน์ ได้ เกียรติบัตร” เพิ่มขึ้นถึง 2,400% จากปีก่อน และคำว่า “คอร์ส ออนไลน์” เพิ่มขึ้น 300% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

2.ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ สำรวจการค้นหาเฉพาะในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลซึ่งมีบริการเดลิเวอรีสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตสั่งผ่านออนไลน์ พบว่าเติบโตขึ้น 6 เท่าในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2020 เทียบกับช่วงมกราคม-มีนาคม 2020

 

“กลุ่มกระแสรองกลายเป็นกระแสหลัก” (Speed Up)

กลุ่มนี้จะเห็นกราฟการเติบโตที่ต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ก่อน COVID-19 แต่ยังไม่ “แมส” จนกระทั่งเกิดโรคระบาดทำให้กลายเป็นกระแสของคนส่วนใหญ่ และเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็ยังคงเป็นกระแสหลักเพราะผู้คนเริ่มเคยชินกับการใช้สินค้าบริการเหล่านั้นไปแล้ว เช่น

1.Food Delivery ก่อนเกิด COVID-19 การค้นหาแอปพลิเคชันเหล่านี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่กลางปี 2019 แต่มาพุ่งขึ้นถึง 4 เท่าตัวในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2020 โดยส่วนใหญ่การค้นหาจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ เพราะเป็นเขตที่มีความพร้อมบริการอยู่แล้ว 

2.การทำอาหาร เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยคำว่า “เมนู” ถูกค้นหาเพิ่มขึ้น 2 เท่าบน YouTube นำไปสู่การเสิร์ชหาสินค้าที่เกี่ยวข้องใน Google เช่น หม้อทอดไร้น้ำมัน ค้นหาเพิ่ม 2,400% เตาไฟฟ้า 400% ไมโครเวฟ 156% (ข้อมูลทั้งหมดเปรียบเทียบช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2020 กับมกราคม-กุมภาพันธ์ 2020)

3.ค้นหาร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ การซื้อของออนไลน์เป็นเทรนด์มาแต่เดิม แต่สิ่งที่พุ่งสูงในช่วง COVID-19 คือผู้บริโภคเสิร์ชหาร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์มากขึ้น 3 เท่า เช่น เว็บไซต์ของ เพาเวอร์บาย บุญถาวร โฮมโปร เนื่องจากมีสินค้าที่ต้องการได้แก่ จักรเย็บผ้า เพิ่มขึ้น 335% เครื่องเล่นวิดีโอเกม 138% และ แล็ปท็อป 104%

4.Mobile Banking การค้นหาคำว่า “พร้อมเพย์” โครงการที่เริ่มในปี 2016 กลายเป็นกระแสแมสทันทีในเดือนมีนาคม 2020 เนื่องจากรัฐบาลจะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านพร้อมเพย์ และยังเป็นเทรนด์ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน รวมถึงการค้นหาและดาวน์โหลด แอปฯ Mobile Banking ของธนาคารต่างๆ ก็พุ่งสูงทันทีในเดือนมีนาคม 2020 สะท้อนภาพสถานการณ์ที่ผลักให้สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) จุดติดในประเทศไทยมากขึ้น 

 

Google Trends นั้นเป็นเครื่องมือใช้งานฟรีของ Google ที่เข้าไปค้นหาคีย์เวิร์ดต่างๆ ได้ทันทีที่ https://trends.google.com/trends โดยไมเคิลแนะนำว่า เครื่องมือนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถหาอินไซต์ความต้องการ หรือความนิยมของผู้บริโภคต่อสินค้า/บริการของตนเองได้

การที่ทราบความต้องการของลูกค้าทำให้คิดกลยุทธ์เพื่อดูแลธุรกิจของตนเองได้ดีขึ้น เช่น ร้านอาหาร อาจจะพบว่าหน้าร้านนั่งทานกำลังกลับมาเป็นปกติแล้วเพราะมีคนเดินทางออกจากบ้านมากขึ้น (กลุ่ม 1) ขณะที่ผู้บริโภคที่ต้องการจ่ายเงินด้วย Mobile Banking กลายเป็นกระแสหลักแทนที่เงินสดไปแล้ว (กลุ่ม 3) การทราบอินไซต์เหล่านี้ทำให้ร้านสามารถเตรียมตัวได้ทันต่อความต้องการ

อย่างไรก็ตาม การประเมินว่าสินค้าของตนจะอยู่ในกลุ่มไหนหลัง COVID-19 อาจจะต้องติดตามสม่ำเสมอทุก 2 สัปดาห์ ในระหว่างที่วิกฤตโรคระบาดยังคงไม่กลับมาเป็นปกติ 100%