นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า GDP ของจีนช่วงไตรมาสสองจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ 2.5% แต่ประเทศจีนรายงานว่า GDP ของประเทศขยายตัว 3.2% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด และฟื้นตัวจากการหดตัวในไตรมาสแรกที่ 6.8% ซึ่งถือเป็นการลดลงของ GDP ครั้งแรกของประเทศตั้งแต่ปี 1992
สัญญาณการฟื้นตัว
ข้อมูลล่าสุดจากจีนแสดงสัญญาณการฟื้นตัว ตัวเลขการค้าในเดือนมิถุนายนแสดงให้เห็นว่าการส่งออกและนำเข้าที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ของจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตในเดือนมิถุนายนก็ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม โดยอัตราการว่างงานในเขตเมืองลดลงจาก 5.9% ในเดือนพ.ค. เหลือเพียง 5.7% ในเดือนมิ.ย. ส่วนดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเติบโต 4.8% ในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในเดือนพ.ค.
“การส่งออกของจีนได้รับส่วนแบ่งการตลาดขนาดใหญ่ เนื่องจากจีนเริ่มผ่อนปรนมาตรการปลดล็อกดาวน์ค่อนข้างเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ” Bo Zhuang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของจีนที่ TS Lombard ระบุ
และคาดว่าการฟื้นตัวของจีดีพีของจีนจะกลับมาอย่างยั่งยืนในอีกสองไตรมาส โดยอาจฟื้นที่ 5% เนื่องจากมีการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานและการเดินทางข้ามจังหวัดอีกครั้ง ทั้งนี้ การเติบโตของ GDP ในปี 2019 ของจีนอยู่ที่ 6.1%
ความท้าทายยังคงอยู่
ด้วยการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทั่วโลกทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้นความท้าทายภายนอกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน ขณะที่ภาคการบริโภคของจีนยังอ่อนแอ โดยยอดค้าปลีกในเดือนมิถุนายนยังคงลดลง -1.8%
“เรายังคงเห็นข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับการขาดการปราบปรามไวรัสในตลาดสำคัญ ๆ ” Johanna Chua หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์และยุทธศาสตร์ของซิตี้กรุ๊ป กล่าว
เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะตกอยู่ในภาวะถดถอยในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการล็อคดาวน์กิจกรรมทางธุรกิจ และการชุมนุมทางสังคม ซึ่งการชะลอตัวของอุปสงค์ทั่วโลกคาดว่าจะกระทบการส่งออกของจีน ดังนั้น ในปีนี้จีนได้ตัดสินใจที่จะไม่ตั้งเป้าหมาย GDP เนื่องจากความไม่แน่นอนจากผลกระทบของการระบาด