บทบาท “ซีพีแรม” กับความมั่นคงทางอาหารของไทย ไม่ใช่แค่ผู้ใช้วัตถุดิบ แต่รักษาสมดุล ทั้งซัพพลายเชน


“ซีพีแรม” บริษัทผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปในเครือซีพี โดยผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยกันดีมักจะได้เห็นการจัดจำหน่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เช่น ข้าวกล่อง ข้าวปั้นโอนิกิริ เบเกอรี่เลอแปง ซาลาเปา ขนมจีบ เบื้องหลังอาหารเหล่านี้มีซีพีแรมเป็นฐานผลิต สามารถสร้างยอดขายต่อปี ในปริมาณเพียงพอสำหรับเลี้ยงประชากร 5.4 แสนคนรับประทานได้ครบ 3 มื้อตลอด 365 วัน

ปริมาณการผลิตอาหารปีละ 140 ล้านกิโลกรัม (ข้อมูลปี 2562) ออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ต่างๆ ข้างต้นของ “ซีพีแรม” ไม่ใช่แค่ปริมาณที่มากเท่านั้น แต่ตลอดทั้งซัพพลายเชนยังมีองค์ประกอบหลายชนิดด้วย ถ้าเรามองดูสินค้าแต่ละชิ้นของซีพีแรม เราจะเห็นทั้งวัตถุดิบต้นน้ำอย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ ผัก ข้าว และสิ่งที่เราอาจจะนึกไม่ถึงอย่างวัตถุดิบกลางน้ำ เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา จนถึงวัตถุดิบปลายน้ำอย่างแพ็กเกจจิ้งและระบบขนส่งสู่ร้านค้า

เมื่อบริษัทต้องใช้วัตถุดิบมากทั้งในแง่ปริมาณและชนิดสินค้า ซีพีแรมในฐานะผู้ใช้วัตถุดิบรายใหญ่จึงออกนโยบายที่ให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคงทางอาหาร” (Food Security) ของประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดิบอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานจะสามารถผลิตได้อย่างเพียงพอและยั่งยืนสำหรับคนไทย รวมถึงมีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ มีคุณค่าทางโภชนาการ

รากฐานการรักษาความมั่นคงทางอาหารของซีพีแรมเป็นอย่างไร นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้นิยามการขับเคลื่อนธุรกิจของซีพีแรมในปัจจุบันคือ การทำธุรกิจที่มีความดีคู่กับความเก่งเป็นเนื้อเดียวกัน อันจะนำไปสู่การรักษาความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ เพราะต้องการรักษาความยั่งยืนให้กับซัพพลายเชน ดูแลไปถึงต้นทางของการผลิตวัตถุดิบด้วย มิใช่เป็นผู้ใช้วัตถุดิบเท่านั้น ซึ่งจะทำให้คนไทยมีอาหารเพียงพอในระยะยาว

“ที่ปรึกษาของเราในซีพี ออลล์คือ อาจารย์ประสิทธิ์ ตันสุวรรณ ท่านกล่าวถึงโมเดลของเนื้อโกเบ คือเวลาเราทานเนื้อแดงเฉยๆ ก็ไม่อร่อย ทานไขมันเฉยๆ ก็ไม่อร่อย แต่เนื้อโกเบที่สอดแทรกไขมันในเนื้อแดงนั้นอร่อยมาก เนื้อโกเบยังมีหลายเกรด ที่เป็นระดับพรีเมียมจริงๆ จะมีไขมันแทรกในเนื้อแดงแบบเป็นเนื้อเดียวกัน แทบจะแยกไม่ออก ดังนั้นความดีคู่ความเก่งของเราต้องทำทุกลมหายใจให้เป็นเนื้อเดียวกัน” วิเศษกล่าว

ความมั่นคงทางอาหาร หนึ่งในเสาหลัก FOOD 3S ของซีพีแรม

นิยาม “ความดี” คู่กับ “ความเก่ง” ของซีพีแรมถูกถอดออกมาเป็นนโยบายสำหรับปฏิบัติ คือ FOOD 3S ได้แก่ Food Safety (ความปลอดภัยทางอาหาร) หมายถึงการผลิตอาหารที่สะอาดปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ เหมือนกับเป็น “อาหารฝีมือแม่”, Food Security (ความมั่นคงทางอาหาร) ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คือการดูแลแหล่งผลิตอาหารให้มีเพียงพอ และสุดท้าย Food Sustainability (ความยั่งยืนทางอาหาร) เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ใช้ในการผลิตอาหาร เช่น ทรัพยากรดิน น้ำ และอากาศ

จะเห็นได้ว่า เรื่อง Food Security (ความมั่นคงทางอาหาร) เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของนโยบายซีพีแรม และเป็นประเด็นที่มีความท้าทายสูง เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเกษตรและปศุสัตว์ได้ดีกว่าอีกหลายประเทศในโลก แต่ใช่ว่าทรัพยากรเหล่านี้จะไม่หมดไปหากไม่ดูแลรักษา หรือไม่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

วิเศษยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เฉพาะซีพีแรมเองมีการใช้เนื้อหมู 9 ล้านกิโลกรัมต่อปี ใช้เนื้อไก่สด 4 ล้านกิโลกรัมต่อปี ใช้ข้าวสาร (รวมทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่) 20 ล้านกิโลกรัมต่อปี ใช้ผักสด 9.5 ล้านกิโลกรัมต่อปี ใช้ไข่ไก่ 220 ล้านฟองต่อปี ด้วยปริมาณมากเช่นนี้ทำให้ซีพีแรม มีความร่วมมือกับทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุดิบอาหารจะยังมีความมั่นคงเพียงพอต่อการผลิตให้กับคนทั้งประเทศ

ยกตัวอย่างโครงการหนึ่งที่ซีพีแรมดาเนินมาต่อเนื่องหลายปีคือ โครงการปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย เป็นโครงการร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำลูกปูม้า (young crab) ที่ศูนย์วิจัยฯ เพาะพันธุ์กลับคืนสู่ทะเลไทย เพื่อให้ลูกปูเหล่านี้เจริญเติบโตเป็นแหล่งอาหารต่อไป เพราะถ้าหากไม่มีการเพาะพันธุ์และนำปูกลับคืนทะเล อาจทำให้ปูม้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีวิธีเพาะเลี้ยงปูม้าตั้งแต่เกิดจนโตเต็มวัยได้ ต้องทำการประมงจากทะเลเท่านั้น

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญกับความมั่นคงทางอาหารเช่นกันคือผู้บริโภคปลายทาง เมื่อต้นทางการผลิต มีการสนับสนุนให้ผลิตได้เพียงพอแล้ว ฝั่งผู้บริโภคเองซีพีแรมก็มีโครงการช่วยรณรงค์ให้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรแต่พอดีด้วย เช่น การจัดกิจกรรม “คนรุ่นใหม่ ไร้ Food Waste” ให้นักเรียนนักศึกษา ส่งประกวดคลิปวิดีโอที่สื่อสารถึงเรื่องความสูญเปล่าทางอาหาร (Food Waste) สร้างจิตสำนึก ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม ลดความสูญเปล่าของอาหาร

เพิ่มสินค้าตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์คนไทย

วิเศษกล่าวต่อว่า การสร้างความปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืนทางอาหาร (FOOD 3S) คือ รากฐานที่แข็งแรงสู่การขยายกำลังผลิตและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตามเป้าหมายเพิ่มยอดขายปีละ 10% อย่างต่อเนื่อง

ในอนาคต ซีพีแรมจะขยายไปสู่การส่งสินค้าอาหารกึ่งปรุงสำเร็จให้กับร้านอาหารหรือภัตตาคาร ไปจนถึงอาหารเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารเด็ก อาหารสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งต้องการดูแลเรื่องอาหารเป็นพิเศษอย่างเช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง

โดยซีพีแรมมีการลงทุนปีละ 1% ของยอดขาย (ประมาณ 150-200 ล้านบาท) สำหรับงานวิจัยและพัฒนาอาหารแบบใหม่ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้อาหารของซีพีแรมไปสู่คนไทยได้อย่างหลากหลายกว่าที่เคย

“ทั้งนี้ ไม่ว่าสิ่งที่จะทำหรือเป้าหมายของเรา เป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำเพียงลำพัง เงินจำนวน 1% จะใช้กับการวิจัยเพื่อหาเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เฉพาะซีพีแรม แต่รวมถึงเทคโนโลยีสำหรับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของซีพีแรมในห่วงโซ่อุปทานของเราทั้งหมด” วิเศษกล่าวปิดท้าย