ยุคนี้ใครๆ ก็ต้องจับเทรนด์อาหารเเห่งอนาคต ล่าสุดเจ้าใหญ่อย่าง ‘ซีพีเเรม’ เปิดตัวเเบรนด์ใหม่ ‘VG for Love’ อาหารเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช ’Plant Based Diet’ เเบบพร้อมทาน ประเดิม 10 เมนูเเรก ตั้งเป้าปั๊มยอดขายเเตะ 1,000 ล้านภายในปี 2566 เชื่อตลาดไทยเปิดใจรับ หวัง 3-5 ปี มีสัดส่วนทำรายได้ให้บริษัทถึง 20% ย้ำเเผนอาหารผสม ‘กัญชง-กัญชา’ ตอนนี้ยังอยู่ในการศึกษาความเป็นไปได้
สินค้าแบรนด์ ‘เนื้อมังสวิรัติ’ เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากกระเเส ‘รักษ์โลก’ เเละ ‘รักสุขภาพ’ ของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคอาหารที่ทำมาจากพืช มากกว่าการบริโภคเนื้อสัตว์จริงๆ เพราะเห็นว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ มีการปล่อยคาร์บอนที่เป็นภัยต่อการเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ยักษ์ใหญ่ลงเล่นตลาด ‘Plant-Based’ ไทย
วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ในเครือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สังคมไทยและทั่วโลกมีแนวโน้มการบริโภคอาหารที่ตอบโจทย์สุขภาพ พร้อมกับร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็น ‘โอกาสตลาด’ ของบริษัทที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ออกมาให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค ซึ่ง Plant Based ก็เป็นอาหารทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เเละบริษัทก็มีความพร้อมทั้งด้านโรงงาน วัตถุดิบ จึงสามารถขยายการลงทุนได้ง่าย
สำหรับเเบรนด์ ‘VG for Love’ มีที่มาของชื่อจาก ทั้ง 4 ความรัก คือ รักสุขภาพ รักชีวิตสัตว์ รักสิ่งแวดล้อม และรักโลก วางจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยเเล้วในแม็คโคร , ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven (ตอนนี้ขายทางออนไลน์ก่อน ช่วงปลายเดือนหน้าถึงจะวางในสาขา) , ร้านค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะขยายจุดจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็ว ๆ นี้ (รวมถึงโลตัสด้วย)
สินค้าของ ‘VG for Love’ เเบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ หมายเลข 1 อาหารเจ , หมายเลข 2 อาหารวีแกน , หมายเลข 3 อาหารมังสวิรัติกับนม, หมายเลข 4 อาหารมังสวิรัติกับไข่ และ หมายเลข 5 อาหารมังสวิรัติกับนม และ ไข่
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หลักๆ คือคนทุกเพศทุกวัยที่บริโภคพืชเป็นหลัก เเละกลุ่มที่บริโภคพืชเป็นบางมื้อ เช่นเลือกทาน Plant Based ราว 2-3 มื้อต่อสัปดาห์
สำหรับเมนูเปิดตัว จะปล่อย ’10 เมนู’ ออกมาทดลองตลาดเเละจะมีเมนูอื่นๆ เพิ่มเข้ามาตลอดปี โดยผู้บริหารซีพีเเรม บอกถึงเหตุผลการเปิดตัวด้วย 10 เมนูว่า “คิดเหมือนเราเปิดร้านข้าวเเกง ที่ต้องมีอาหารหลากหลาย ให้ลูกค้ามีทางเลือก จากนั้นเราจะดูว่าเมนูเเบบไหนขายดี ก็จะนำมาต่อยอดต่อไป”
ส่วนเหตุผลในการเลือกเปิดตัวท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจนั้น เพราะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเเล้ว อีกทั้งยังเป็นการช่วยเเบ่งเบาภาระผู้บริโภค เเละการเลือกเปิดตัวในเดือน ‘กุมภาพันธ์’ ก็เพราะเป็นเดือนเเห่งความรักที่สอดคล้องกับชื่อเเบรนด์ ‘VG for Love’ ด้วย
สำหรับ 10 เมนูเเรก จะเน้นเป็นอาหารที่คนไทยชื่นชอบเเละทานได้ในชีวิตประจำวัน เหมือนเมนูอาหารตามสั่งทั่วไป ได้เเก่
- ข้าวกะเพราหมูพีบี
- ข้าวกะเพราหมูพีบีไข่ดาว
- ข้าวคะน้าหมูกรอบพีบี
- ข้าวผัดกะเพราขี้เมาเห็ดออรินจิพีบี
- ข้าวผัดเเกงเขียวหวานไก่พีบี
- ข้าวผัดเห็ดออรินจิพีบี
- ข้าวลาบหมูพีบี
- บะหมี่เเห้งปลาเส้นทอดพีบี
- สปาเก็ตตี้ขี้เมาเห็นออรินจิพีบี
- สปาเก็ตตี้พอร์คบอลพีบี
การที่ ‘ซีพีแรม’ วางขายข้าวกล่อง ’Plant Based Diet’ เเบบพร้อมทานในร้านสะดวกซื้อเจ้าเเรกในไทย ด้วยราคา 39-45 บาท ถือว่าเป็น ‘ข้อได้เปรียบทางราคา’ ที่จะช่วยให้ขยายฐานลูกค้าในตลาดเเมสได้ง่ายขึ้น เพราะปกติเเล้วอาหาร Plant Based มักจะมีราคาสูงเเละหาทานได้ยากกว่า
เมื่อถามว่า บริษัทมีเเผนจะออกผลิตภัณฑ์ที่ผสม ‘กัญชง-กัญชา’ ตามที่ผู้ผลิตอาหารเจ้าใหญ่ในไทยหลายรายประกาศลงเล่นตลาดนี้หรือไม่ ได้คำตอบว่า ตอนนี้ยังอยู่ในการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ อยู่
ผู้บริหารซีพีเเรมประกาศว่า เป้าหมายยอดขายในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ 120 ล้านบาท จากนั้นปี 2565 จะเติบโตหลายเท่าเป็น 500 ล้านบาท เเละในปี 2566 เชื่อว่ายอดขายเมนู ’Plant Based Diet’ จะเเตะถึง 1,000 ล้านบาทได้
เเม้ดูเหมือนว่าตัวเลขเป้ายอดขายจะดูสูงมากเมื่อเทียบกับการเปิดตลาดใหม่ เเต่ ‘ซีพีเเรม’ ยืนยันว่า คนไทยจะเปิดใจรับอย่างเเน่นอน เเละหวังว่าภายใน 3-5 ปีนี้ ’Plant Based Diet’ จะมีสัดส่วนที่ทำรายได้ถึง 20% ของพอร์ตสินค้าทั้งหมด (ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีรายได้รวมราว 2 หมื่นล้านบาท ก็จะเป็นสินค้า Plant Based ถึง 4,000 ล้านบาท เป็นต้น)
สำหรับตลาด Plant-Based Food ในประเทศไทย เริ่มมีเชนร้านอาหารนำเนื้อทำจากพืชมาปรุงเป็นเมนูหลัก เช่น Sizzler ในเครือไมเนอร์ หรือร้านฌานาในเครือฟู้ดแพชชั่น รวมถึงมีนำเข้าจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งด้วย
จากข้อมูลของ NRF ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของไทย ระบุว่า ตลาดเนื้อที่ทำจากพืชปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั่วโลก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปเป็น 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี เนื่องจากผู้บริโภคเห็นข้อดีของวัตถุดิบอาหารรูปแบบนี้มากขึ้น
การลงสนามในตลาด Plant-Base Food ของบริษัทยักษ์ใหญ่ใน “เครือซีพี” ครั้งนี้ จึงน่าจับตาไม่น้อย
- NRF ขอเป็น Foxconn แห่งตลาด Plant-based Food กางแผนขยายโรงงานทั่วโลก
- Plant-Based เทรนด์อาหารแห่งอนาคต Unilever ขยับรุกตลาดจริงจัง ตั้งเป้าทำเงิน 3.6 หมื่นล้าน
ในปี 2563 ซีพีเเรมทำรายได้ 19,373 ล้านบาท เเบ่งเป็นการจำหน่ายใน 7-Eleven ถึง 95% , ไม่ใช่ 7-Eleven ราว 3% เเละส่งออก 2% มีการพัฒนาสินค้าใหม่มากกว่า 338 รายการ
ในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า จะทำรายได้ 21,310 ล้านบาท เเบ่งเป็นการจำหน่ายใน 7-Eleven ถึง 94% , ไม่ใช่ 7-Eleven ราว 4% เเละส่งออก 2% เเละมีเป้าหมายการขยายตลาดเพิ่มขึ้น 10%
“เรามองว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก จากผลกระทบของ COVID-19 จะยังคงมีต่อเนื่อง แต่จะคลี่คลายลงบ้างตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป”
โดยโครงการเมนู “อิ่มคุ้ม” จะยังคงเป็นกลยุทธ์หลักของซีพีแรมเเละจะเพิ่มขึ้นอีก 50% นอกจากนี้ยังมีเเผนจะสร้าง ‘โรงงานเบเกอรี่แห่งใหม่’ ที่จังหวัดชลบุรี ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท มีกำลังผลิต 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งโรงงานใหม่แห่งนี้ จะสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้กลางปี 2565 นับเป็นโรงงาน
เบเกอรี่แห่งที่ 6 หรือโรงงานแห่งที่ 16 ของซีพีแรม โดยมองว่าตลาดเบเกอรี่ในไทยยังมีช่องว่างโอกาสให้เติบโตได้อีกมาก