‘AIS’ เดินหน้าพา 5G ลุยภาค ‘อุตสาหกรรม’ พร้อมเปิดสวิตช์คลื่น 26 GHz บุก EEC

ครบรอบ 1 ปีที่ ‘เอไอเอส’ ให้บริการ 5G ในไทย ปัจจุบันบริการได้ครอบคลุมครบ 77 จังหวัด และครอบคลุมพื้นที่ EEC 100% และสำหรับปีนี้ 2564 เอไอเอส ได้เตรียมงบลงทุนเครือข่ายรวม 25,000 – 30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเครือข่ายทั้ง 5G และ 4G

2020 ปีแห่งการเริ่ม 5G

ในปีที่ผ่านมา เอไอเอสใช้เงินลงทุนประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาทในการลงทุน 5G และ 4G โดยตลอด 1 ปี เอไอเอสก็สามารถให้บริการ 5G ได้ครอบคลุมครบ 77 จังหวัดในส่วนของหัวเมืองใหญ่ โดยปีที่แล้วเอไอเอสให้บริการ 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz และ 2600 MHz ซึ่งเน้นเจาะกลุ่มคอนซูมเมอร์

“เชื่อว่าภายใน 2 ปี สัญญาณ 5G จะครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น เพราะที่เรายังไม่ได้ขยายให้ครอบคลุมเหมือน 4G เป็นเพราะอุปกรณ์ที่รองรับ 5G ยังไม่ได้นำมาใช้ในวงกว้าง ซึ่งปีที่แล้วเปิดอย่างเป็นทางการสำหรับแมส แต่ปีนี้จะเป็นอุตสาหกรรมสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าว

ล่าสุด เอไอเอส ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz เป็นจำนวนเงิน 5.719 พันล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย ทำให้ปัจจุบันเอไอเอสมีคลื่นความถี่ 5G ได้แก่ คลื่น 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz รวมคลื่นความถี่ในการให้บริการทั้งหมดที่ 1420 MHz

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

2021 ปีแห่งการลุยภาคอุตสาหกรรม

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ซึ่งคลื่นย่านความถี่สูง มีแบนด์วิธ 1200 MHz ด้วยคุณสมบัติของคลื่น 26 GHz ถือได้ว่าตอบโจทย์การดำเนินงานของภาค ‘อุตสาหกรรม’ เป็นอย่างยิ่ง เพราะย่านความถี่สูงและมีปริมาณแบนด์วิธมากที่สุด ทำให้สามารถรองรับการใช้งานได้มหาศาล สามารถลงเครือข่ายได้อย่างเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ของแต่ละโรงงาน ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการกวนกันของคลื่นสัญญาณไม่เหมือนคลื่นที่ให้บริการกับคอนซูมเมอร์

ซึ่งหลังจากที่ชำระค่าคลื่น 26 Ghz เอไอเอสก็เดินหน้าให้บริการ 5G ในภาคอุตสาหกรรมทันที หลังจากที่ปีที่แล้วได้เป็นพาร์ตเนอร์กับผู้นำอุตสาหกรรมระดับประเทศ อย่างสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ในการร่วมทุนตั้งบริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค พัฒนาด้าน ICT Infrastructure และเทคโนโลยี 5G, อมตะ คอร์ปอเรชัน ร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City), สวนอุตสาหกรรมบางกะดี พัฒนาสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ, สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ในการยกระดับภาคการผลิต และ ปตท. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5G สร้างนวัตกรรม Unmanned ภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง

ล่าสุด ได้ร่วมกับ เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) ผู้ผลิตกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของประเทศในพื้นที่ EEC นำเทคโนโลยี 5G มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตภายในโรงงาน

5G เป็นนวัตกรรมที่สร้างมาเพื่ออุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะความเร็ว ความหน่วงต่ำ ทำให้มีความแม่นยำ เพราะแต่ละโรงงานมีเครื่องจักรมีความต้องการไม่เหมือนกัน การออกแบบให้ตรงตามความต้องการจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก”

นำ 5G เสริมแกร่งอุตสาหกรรม

สมชาย งามกิจเจริญลาภ รองประธานกรรมการบริหารเอสเอ็นซี กล่าวว่า ปัจจุบันได้นำ 5G มาประยุกต์ใช้ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.5G เอจีวี เป็นการใช้ 5G ควบคุม และสั่งการรถเอจีวี (Automated Guided Vehicles) ที่ใช้สำหรับการขนส่งชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตภายในโรงงาน และระหว่างโรงงาน เพื่อให้การขนส่งชิ้นส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตให้โรงงาน

2.5G Smart Robot เป็นการใช้ 5G ควบคุม สั่งการในส่วนของแขนกลหุ่นยนต์ (Robot) ที่ใช้งานในส่วนสายการผลิตที่เกี่ยวข้อง โดยเทคโนโลยี 5G จะนำมาช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human error) และช่วยสร้างความปลอดภัย, ลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนได้ และ 3.5G Active Dashboard การประยุกต์ใช้งาน 5G ในการเชื่อมต่อระหว่างเซิร์ฟเวอร์ และแมชชีน เพื่อให้สามารถ Monitoring สายการผลิตต่างๆ นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้โรงงานเป็น Smart Factory อย่างแท้จริง

5G ช่วยสร้างความได้เปรียบ

ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธาน EEC Industrial Forum ระบุว่า การนำ 5G มายกระดับให้อุตสาหกรรมไทยเป็น Industry 4.0 จะช่วยดึงดูดนักลงทุนได้อย่างมาก เพราะไทยจะมีความพร้อมในด้านโลจิสติกส์ ดังนั้น หากมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ก็จะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในไทย ก่อนที่จะหันไปหาเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรือประเทศอินเดียแทน

ทุกด้านของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การผลิตมีประสิทธิผลทั้งคุณภาพและระยะเวลา และยังได้เปรียบในเรื่องของต้นทุน ผลที่ได้คือ GDP จะเพิ่มขึ้นถึง 50% ตามมาด้วยการขยายตัวของอุตสาหกรรมและระบบขนส่ง โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเห็นชัดภายใน 3 ปี

“การใช้หุ่นช่วยให้ได้เวลาทำงานเพิ่ม 10-20% ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น 5-10% เพราะไม่มี Human Error ไม่ต้องพัก สามารถงานซ้ำ งานอันตรายจะช่วยได้มาก และความได้เปรียบของ 5G ทำให้ต้นทุนถูกลงเพิ่มคุณภาพ นักลงทุนไม่ย้ายไปไหน”