ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงเศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัวช้าสุด’ ตามหลังเพื่อนบ้านในอาเซียน เหตุพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง จับตาเร่งกระจายวัคซีน วิกฤตยื้อยาวอาจทำโรงเเรม 30-40% ‘ไม่รอด’ หายออกจากตลาด หนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดเศรษฐกิจ SMEs อ่วมสารพัดปัญหาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้
‘วัคซีน’ คือตัวเเปรสำคัญของเศรษฐกิจไทย
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้ข้อมูลว่า KBank ยังคงคาดการณ์เป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.6%
มีหลายประเด็นที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัวช้า’ ตามหลังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวคิดเป็นกว่า 10% ของ GDP
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดการคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2564 มาอยู่ที่ประมาณ 2-4.5 ล้านคน จากเดิมที่คาดไว้ 4.5-7 ล้านคน
ตัวเเปรหลักของเศรษฐกิจไทยคือ ‘วัคซีน’ ต้องติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนการ
กระจายวัคซีนในประชากรหมู่มากจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแนวทางการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ณ ขณะนี้มองไว้ว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2564
ณัฐพร คาดว่า กว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปเท่าที่ระดับก่อนโรคระบาดได้คงใช้เวลาจนถึงปี 2565-2566 เพราะปัญหาจาก COVID-19 ในรอบนี้ กระทบภาคธุรกิจจริงตรงๆ ต่างจากปี 2540 ที่มีจุดกำเนิดจากธุรกิจการเงิน
“การฟื้นตัวของธุรกิจหลังผ่านพ้นช่วง COVID-19 คงไม่ทั่วถึง และยังมีโจทย์เชิงโครงสร้างที่รออยู่ อีกทั้งสังคมสูงอายุ ตลาดผู้บริโภคเล็กลง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ”
โรงแรม 40% เสี่ยงหายออกจากตลาด
ด้าน เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เสริมว่า ภาคท่องเที่ยวในไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ ‘เปราะบางที่สุด’ ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก เช่นใน 6 จังหวัดอย่าง ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี, ชลบุรี เเละกรุงเทพฯ ที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง และการปิดพื้นที่ชั่วคราว
“ปัญหาโควิดในครั้งนี้คงทำให้โรงแรม 30-40% อาจต้องออกจากตลาดไป เน้นไปที่โรงแรมในกลุ่มราคาประหยัด (Budget) หรือราคาระดับกลาง (Midscale) รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก อย่างร้านค้า SMEs ในห้างที่มีสัดส่วนกว่า 30% ของผู้ประกอบการรายย่อยไทยในภาคการค้าทั่วประเทศ”
เเม้ช่วงที่ผ่านมา คนไทยจะหันมา ‘เที่ยวในประเทศ’ กันมากขึ้น โดยคาดว่า ปี 2564 จะอยู่ที่ราว 90-120 ล้านคนต่อครั้ง แต่ยังไม่สามารถทดแทนการหายไปของรายได้ที่พึ่งพิงจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เคยสร้างรายได้ให้ธุรกิจในภาคโรงเเรมไทยถึง 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 70%
สำหรับประเด็นเรื่อง ‘Vaccine Passport’ มองว่า ยังไม่อาจคาดหวังได้มากในขณะนี้ เพราะยังไม่มีหลักฐานการศึกษาว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะไม่ติดเชื้อหรือแพร่เชื้ออีกครั้ง ประโยชน์ในเรื่องนี้คงเกิดกับเฉพาะบางประเทศที่รับความเสี่ยงได้ มากกว่าจะเป็นประโยชน์ในระดับโลก
- เดนมาร์ก เตรียมใช้ ‘วัคซีน พาสปอร์ต’ เเบบดิจิทัล กลางปีนี้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว
- รู้จัก ‘วัคซีน พาสปอร์ต’ อนาคต ‘New Normal’ ของการใช้ชีวิตในยุค COVID-19
ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ‘โจทย์เฉพาะหน้าคือ การดูแลปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจและครัวเรือน’
“ภาคการเงินต้องติดตามสภาพคล่องภาคธุรกิจ SMEs มีปัญหาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ แม้ว่าตอนนี้ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) จะยังไม่สะท้อนมาก เพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของธปท.ก็ตาม”
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าว เห็นได้จากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินที่คงไต่ระดับขึ้นจากปลายปี 2563 ที่ 27.6% และ 14.7% ของสินเชื่อสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคลรายย่อยตามลำดับ
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางนั้น คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น Asset Warehousing แต่อาจไม่เร็วพอ เพราะยังต้องรอรายละเอียดในหลายประเด็น ด้านลูกค้าหากมีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ ก็แนะนำให้รีบคุยกับสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องรอให้เป็น NPL ก่อน
“ธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป เเต่คาดว่าตลาดจะเล็กลง จากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปีก่อนที่ 86% ปีนี้น่าจะแตะ 90-91% ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อลดลง เเละการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยที่กำลังใกล้เข้ามา ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้”
- โควิดรอบใหม่ ซัดเศรษฐกิจไทย สูญอย่างน้อย 1.6 เเสนล้าน ท่องเที่ยวซึมยาว สะเทือนจ้างงานหลายล้านคน
- SCB มองเศรษฐกิจไทย 2021 พลิกบวก 3.8% จับตาว่างงานสูง SME ระส่ำ เงินบาทเเข็งยาว