โรงเเรมหรู ดิ้นหาลูกค้า จัด ‘หมูกระทะ Rooftop’ งัดจุดเด่นปิ้งย่างวิวหลักล้าน ค่าอาหารหลักร้อย

ธุรกิจท่องเที่ยวไทยทรุดหนัก ทุ่มหมดหน้าตักเพื่อหาลูกค้างัดสารพัดวิธีเเบบคาดไม่ถึงหารายได้เพิ่มพยุงกิจการ ล่าสุดบรรดาโรงเเรมหรูปิ๊งไอเดียสร้างความฮือฮาอย่างการออกเมนูหมูกระทะ Rooftop’ ปิ้งย่างชมวิวหลักล้าน แต่จ่ายค่าอาหารหลักร้อย

เมื่อนักท่องเที่ยวยังคงไม่กลับมาง่ายๆ ในเร็ววัน โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ต้องรอความคืบหน้าการฉีดวัคซีน โรงเเรมเเละร้านอาหารต่างๆ ต้องหันมาใช้กลยุทธ์การตลาดที่หลากหลาย

โนโวเทล สุขุมวิท 20’ เป็นอีกหนึ่งโรงเเรมหรูย่านกลางใจเมือง ที่ออกเเคมเปญดึงดูดลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ นั่นก็คือหมูกระทะออนเดอะรูฟ เชิญชวนสาวกปิ้งย่างสตรีทฟู้ด มานั่งฟินกินหมูย่างในบรรยากาศสุดหรู ดื่มด่ำวิวพระอาทิตย์ตกบน ‘Sky on 20’ รูฟท็อปบาร์ชื่อดังที่เป็นจุดขายของโรงเเรม

สำหรับชุดเมนูหมูกระทะออนเดอะรูฟ’ มาพร้อมกับเนื้อหมู ไก่ เนื้อ ซีฟู้ด ผักสด เต้าหู้ ไข่ไก่ เห็ด วุ้นเส้น ผักสดและอื่น ๆ ตามเเบบฉบับหมูกระทะสไตล์ไทย มีน้ำจิ้มให้เลือก 3 แบบคือ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มแจ่ว เเละน้ำจิ้มหมูกระทะ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของเชฟโนโวเทล จัดมาในราคาชุดละ 999 บาท สำหรับ 2 ท่าน รวมน้ำดื่ม เปิดให้บริการวันพุธอาทิตย์ โดยลูกค้าต้องทำการจองโต๊ะก่อน เพราะที่นั่งมีจำนวนจำกัด 

ก่อนหน้านี้ โรงแรมหรูอย่างโฟร์ซีซั่น รีสอร์ต เกาะสมุยก็ได้เสนอเมนูพิเศษเป็น ‘หมูกระทะเช่นเดียวกัน โดยเลือกได้ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัวแองกัส กุ้งกุลาดำ หรือจะเป็นเนื้อไก่ปลอดสาร นั่งปิ้งย่างท่ามกลางบรรยากาศริมทะเลสวยๆ มีราคาเริ่มต้นที่ 1,900-2,500 บาท สร้างเสียงฮือฮาในโลกออนไลน์ได้อย่างมากที่พบเห็นเมนูหมูกระทะในโรงแรมระดับห้าดาว

โดยมีชาวเน็ตมากดไลก์โพสต์โปรโมตของโรงเเรมกว่า 1 หมื่นครั้ง เเชร์ไปมากกว่า 4 พันเเชร์ เเละมีผู้มา
เเสดงความคิดเห็นถึง 2 พันคอมเมนต์

 

นับว่าเป็นการสร้างกิมมิกใหม่ๆ ให้ร้านอาหารของโรงเเรมกลับมาคึกคัก ด้วยการเปลี่ยนบรรยากาศจากหมูกระทะบ้านๆ ตามร้านทั่วไป ให้เป็นหมูกระทะลอยฟ้าได้ใจสายกินเที่ยว เเละสายโซเชียลที่ได้ถ่ายรูปเมนูเก๋ ๆ ในบรรยากาศหรู ๆ ได้ดีทีเดียว อีกทั้งยังเป็นการโปรโมตโรงเเรมบนโลกออนไลน์ไปในตัวด้วย

ด้านร้านปิ้งย่างชาบูชื่อดังอย่างเพนกวิน อีท ชาบู’ (Penguin Eat Shabu) ที่มักจะผุดไอเดียใหม่ๆ มา
สร้างสีสันให้วงการร้านอาหารอยู่เสมอ ล่าสุดประกาศเปิดให้ลูกค้าจองโต๊ะรับประทานอาหารที่เป็นเมนูของทางร้าน บนพื้นที่ดาดฟ้าของร้าน ChubbyPapaya เพื่อให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำบรรยากาศสวยๆ ของวัดภูเขาทอง ยามพระอาทิตย์ใกล้ตก เเละมองเห็นไฟสีทองเหลืองสวยในเวลาพลบค่ำ

โดยจะเปิดให้บริการเพียงวันละ 2 รอบ (เวลา 17.00-19.00 . และ 19.00-21.00 .) รอบละ 2 โต๊ะ จำกัดจำนวนลูกค้าโต๊ะละ 4 คน ราคา 2,500 บาท (เฉลี่ยคนละ 625 บาท) เปิดให้จองล่วงหน้าได้ตั้งแต่ 1-28 .. (หยุดวันพุธ)

 

นับเป็นการจับมือกันระหว่างร้านอาหาร ทั้งฝ่ายนำเสนอเมนูเเละฝ่ายสถานที่ เพื่อฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปให้ได้ โดยการปรับตัวของร้านปิ้งย่างชาบู ต้องยอมรับว่าเผชิญกับอุปสรรคมาแล้วมากมายหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 รอบเเรก ตลอดปีที่ผ่านมา

โดยหลายร้านได้ปรับตัวสู้ด้วยการหันมาส่งเดลิเวอรี่ถึงบ้าน พร้อมออกกลยุทธ์เด็ด อย่างการสั่งชาบูแถมหม้อที่สร้างความตื่นเต้นให้กับธุรกิจอาหารในเมืองไทยอย่างมาก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์เพิ่มยอดขายที่มาช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจ ในช่วงที่ร้านยังให้บริการหน้าร้านไม่ได้เต็มที่

เป็นกลยุทธ์การตลาดของเหล่าร้านปิ้งย่าง-ชาบู ที่งัดหมัดเด็ดเอาใจผู้บริโภคจนเกิดกระเเส “สุกี้ฟรีหม้อ” เเก้ Pain Point คนอยากกินเเต่ไม่มีอุปกรณ์ ที่เเม้จะดูเป็นการเพิ่มต้นทุน เเต่ร้านกำลังต้องการรายได้ให้พอหมุนเงินไปได้

นอกจากนั้นยังเป็นการ “ยิงนกหลายตัว” เพราะเมื่อลูกค้ามีหม้อที่บ้านเเล้ว ก็มีเเนวโน้มที่จะ “สั่งซ้ำ” มากินอีกบ่อยๆ เป็นการรักษาความผูกพันกับแบรนด์ไว้ต่อยอดเมื่อผ่านพ้น COVID-19 พวกเขาเหล่านั้นก็จะกลับมาทานที่ร้านอีก

ขณะเดียวกันเหล่าร้านขนมก็ปิ๊งไอเดียออกเเพ็กเกจรวมวัตถุดิบเเบบ DIY จัดส่งเดลิเวอรี่ให้ถึงบ้าน ให้ลูกค้าสามารถทำขนมเบื้อง โตเกียว เเพนเค้ก ไปจนถึงบัวลอย ได้เองเเบบง่ายๆ ใช้เวลานิดเดียวเเถมเเก้เหงาช่วงล็อกดาวน์ได้ด้วย

เป็นช่องทางการขายใหม่ๆ ของทางร้าน ที่เเม้ว่าจะผ่านพ้นโรคระบาดไปแล้ว เเต่ “เซตพร้อมทำ DIY” เเบบนี้ก็น่าจะขายต่อไปได้อีกยาว

เเต่การเเพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ในไทย ตั้งเเต่ช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา ถือว่ามีความเเตกต่างจากการระบาดรอบเเรกพอสมควร เพราะธุรกิจร้านอาหารเเละโรงเเรม ยังสามารถเปิดบริการให้ลูกค้าเข้าไปรับประทานได้ตามปกติ เพียงเเต่ต้องมีมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม

เหล่านี้จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องสรรหาไอเดียใหม่ๆ ที่มักมาในทางชมวิวสวยหรือการให้บรรยากาศดีๆ  ผสมกับเมนูอาหารที่คนไทยนิยม ราคาไม่เเพงมาก เพื่อให้ผู้คนเลือกจะเดินทางออกมาทานข้าวนอกบ้านกันมากขึ้นนั่นเอง

นับเป็นกลยุทธ์หารายได้ใหม่ ที่นอกเหนือจากการลดราคาห้องพัก เเจกเเถมสินค้าหรือการจัดโปรโมชันบุพเฟ่ต์ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

Photo : Shutterstock

โรงแรมสู้ต่อ…ปรับกลยุทธ์ให้พนักงานมีงานทำ

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี ประธานสมาคมโรงแรมไทย เผยมุมมองภาพรวมธุรกิจโรงแรมในวิกฤต COVID-19 กับ MGR Online ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะในแง่ของการสูญเสียจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

จากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น ประเมินว่า โรงแรมในไทยจะปลดพนักงานไม่น้อยกว่า 35-50% เพราะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการชดเชยต่างๆ ช่วงเวลาที่ไม่มีนักท่องเที่ยวซึ่งกลายมาเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดของกลุ่มโรงแรมราวๆ 24% ต่อรายได้รวม คาดว่ากลุ่มโรงแรมจะไม่เพิ่มจำนวนพนักงานกลับสู่ระดับในปี 2562 แม้สถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ เพราะมีทางเลือกในการจ้างบุคคลภายนอกและพนักงาน part-time

อย่างไรก็ตาม มองว่าในอนาคตกลุ่มธุรกิจโรงแรมจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ หากเริ่มเปิดประเทศให้กรุ๊ปทัวร์เข้ามาแล้ว จะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระที่กลับมาเป็นกลุ่มแรกๆ เเละกลุ่ม MICE จะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสุดท้ายที่จะกลับเข้ามา

ความเสี่ยงที่ต้องจับตามองคือ ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก และขนาดย่อม อาจจะต้องปิดกิจการไปก่อน เพราะสายป่านสั้น ตามด้วยรายใหญ่ซึ่งก็คงไม่รอดง่ายๆ เพราะต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก แม้จะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนไทย เเต่การใช้จ่ายของคนไทยไม่สามารถชดเชยส่วนต่างได้

“พนักงานของโรงแรมต้องสลับกันมาทำงาน และรับเงินเดือนไม่เต็มเดือน อีกทั้งยังไม่มี service charge เเละต้องปรับกลยุทธ์การบริการ เป็นร้านอาหารแบบเดลิเวอรี หรือทำข้าวกล่องขาย เพื่อให้โรงแรมอยู่ได้และพนักงานมีงานทำ”