โควิดรอบใหม่ ซัดเศรษฐกิจไทย สูญอย่างน้อย 1.6 เเสนล้าน ท่องเที่ยวซึมยาว สะเทือนจ้างงานหลายล้านคน

Photo : Shutterstock

เศรษฐกิจไทยในปี 2021 ยังเต็มไปด้วยความไม่เเน่นอน หลังเจอ COVID-19 ระลอกใหม่ฉุดการฟื้นตัว รายได้วูบอย่างน้อย 1.6 แสนล้าน ธุรกิจท่องเที่ยวซึมยาว สะเทือนการจ้างงานหลายล้านคน 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 2.5% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5%

เเม้ว่าจะทำให้ไทยพ้นจากภาวะถดถอยในปี 2020 ที่เศรษฐกิจติดลบไปถึง 6.5% เเต่การเเพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งเเต่ช่วงต้นปี ได้กระทบการใช้จ่ายของภาคเอกชน การบริโภค การลงทุนและการท่องเที่ยวในประเทศค่อนข้างมาก 

“COVID-19 รอบใหม่ (เดือนม.ค.-ก.พ.) จะทำให้เกิดค่าเสียโอกาส ไม่ต่ำกว่า 1.6 เเสนล้านบาท จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต้องล่าช้าออกไป ท่ามกลางความไม่เเน่นอน

ส่วนมาตรการการเยียวยาของภาครัฐครั้งล่าสุด คาดว่าจะต้องใช้งบราว 1.7 – 2 แสนล้านบาท เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ให้ปรับลดลงมากนัก

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โรคระบาดยืดเยื้อ ลากยาวถึง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกว่า 2.39 แสนล้านบาท ซึ่งจะฉุดจีดีพีปีนี้ให้เติบโตได้เพียงระดับ 2% เท่านั้น เเละหากสถานการณ์ยาวนานกว่านี้ เชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปเรื่อยๆ 

เมื่อเจาลึกลงไปในภาคการท่องเที่ยว พบว่า หากมาตรการที่รัฐบาลใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 2-3 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 109.6 ล้านคนต่อครั้ง ต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่ 131.8 ล้านคนต่อครั้ง แต่ก็ยังสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 91.2  ล้านคนต่อครั้ง
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2021 คาดว่าจะมีเพียง 4.4 ล้านคนเท่านั้น

โดยมาตรการของรัฐที่คุมเข้มในช่วง 2 เดือน (ม.ค.- ก.พ.) คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้เม็ดเงินในธุรกิจท่องเที่ยวหายไปราว 1.1 แสนล้านบาท

ในกรณีที่ต้องคุมเข้มยาวถึง 3 เดือน จะทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศลดเหลือ 100 ล้านครั้ง เม็ดเงินในธุรกิจท่องเที่ยวจะหายไปถึง 1.5 แสนล้านบาท จึงต้องหวังว่าไทยจะสามารถคุมสถานการณ์ COVID-19 รอบใหม่ให้ได้ภายใน 2 เดือนนี้

สำหรับปัญหาการว่างงาน ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานหลายล้านคน เเม้ช่วงไตรมาส 3-4 ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวบ้าง เเต่อัตราการว่างงานเเละการมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าปกติยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาวของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

TMB Analytics ธนาคารทหารไทย มองว่า จากการที่ไทยมีสัดส่วนพึ่งพาภาคการค้าและการท่องเที่ยวถึง 22% ต่อจีดีพี มีการจ้างงานสูงรวมกันที่ 6.9 ล้านคน ดังนั้นคาดว่าผลกระทบจาก COVID-19 รอบใหม่ จะทำให้รายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวลดลงรวมกันกว่า 1.4 แสนล้านบาท

ด้าน ‘ค่าเงินบาท’ มีเเนวโน้มว่าจะ ‘แข็งค่า’ ตลอดทั้งปี 2021 โดยมีโอกาสที่จะหลุดจาก 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เเละอาจแข็งค่าไปเเตะระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยหลักๆ เช่น ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เม็ดเงินลงทุนที่ไหลออกจากประเทศไทยไปต่างประเทศยังน้อย รวมถึงการไหลเข้าของเม็ดเงินในตลาดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เเละความท้าทายด้านการส่งออก ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากการเเพร่ระบาดรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ปัจจัยบวก

  • นโยบายเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
  • การลงทุนในเทคโนโลยีท่ีสอดรับกับยุค 5G และกระแส Green Economy
  • โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสู่ New Normal

ปัจจัยลบ

  • COVID-19 ระลอกใหม่
  • ภัยแล้งรุนแรงและยาวนาน
  • ปัญหาขาดแคลนต้คูอนเทนเนอร์
  • ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ

จับตา ‘The Great Reset’ 

มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ภาคธุรกิจไทยต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Megatrend ของโลก หลังวิกฤตโรคระบาด อย่างกระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความ Greener, Smarter และ Fairer

ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัว เพราะประเทศมหาอำนาจของโลกให้น้ำหนักกับประเด็นนี้มากขึ้น และอาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าได้ “

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาท่าทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการค้ารอบใหม่ เช่น แนวนโยบายภายใต้ ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ รวมไปถึง ‘แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีน’ ที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีมากขึ้น

ตลอดจนความตกลง RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดโลก ซึ่งมองว่าความตกลง RCEP ที่จะส่งผลดีต่อไทยในการส่งออกสินค้า จากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากการค้าระหว่างคู่เจรจาที่จะคึกคักขึ้น

“ไทยจะได้ผลดีจากการเข้า RCEP เเละมองว่าเวียดนามจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย”