สภาองค์กรนายจ้างฯ คาดปี 2564 ตลาดแรงงานไทยยังคงเปราะบาง แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่ค่อย ๆ ฟื้นตัว นายจ้างยังมุ่งเน้นรัดเข็มขัดเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด การจ้างงานแรงงานใหม่ยังต่ำ จับตาแรงงานอายุ 45-50 เสี่ยงถูกเออร์ลีรีไทร์สูงขึ้น แรงงานที่ตกงานปัจจุบันอาจตกถาวร และแรงงานเด็กจบใหม่ ก.พ. 64 อีก 5 แสนคนส่อเคว้ง
ปีหน้า แรงงานยังเปราะบาง
ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า
แนวโน้มปี 2564 ตลาดแรงงานของไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวและยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูงจาก COVID-19 ส่งผลให้แรงงานไทยที่มี 3 รูปแบบหลัก ได้แก่
- แรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบัน
- แรงงานที่ตกงาน
- แรงงานใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างต้องเร่งปรับลดรายจ่ายลงเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด
ปัจจุบันอัตรากำลังแรงงานไทยขณะนี้มีราว 37 ล้านคน 50% เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานที่จะถูกปรับเปลี่ยน ได้แก่
- แรงงานอายุ 45-50 ปีมีทิศทางที่จะถูกให้เข้าโครงการสมัครใจลาออก (เออร์ลีรีไทร์) มากขึ้น
และแรงงานเหล่านี้เมื่อเข้าโครงการแล้วจะไม่ปรากฏเป็นผู้ว่างงานในการจัดเก็บสถิติว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ยึดคำนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน
- แรงงานที่มีอายุการทำงานเพียง 1 ปีก็เป็นเป้าหมายในการลดจำนวนคนของนายจ้างเช่นกัน
เนื่องจากมองว่ามีประสบการณ์น้อยและจ่ายชดเชยต่ำ
- แรงงานที่ตกงานอยู่แล้วกำลังจะกลายเป็นปัญหาหนัก
อาจกลายเป็นแรงงานที่ตกงานถาวรหากรัฐบาลไม่มีมาตรการใด ๆ ที่จะเข้ามาดูแลเพิ่มเติม
- ส่วนแรงงานใหม่เสี่ยงตกงานสะสม
ซึ่งเป็นเด็กจบใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาอีกในช่วง ก.พ. 64 ราว 5 แสนคน จะส่งผลให้เมื่อรวมกับเด็กที่จบไปแล้วปี 2563 แต่ยังไม่มีงานทำประมาณเกือบ 4 แสนคนจะสะสมราว 9 แสนคน
แม้ว่าแรงงานบางส่วนที่อาจจะมีจ้างเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลแต่คาดว่ายังคงมีไม่มากนัก โดยอาจเป็นไปได้ในการเพิ่มขึ้นมากในปี 2565-66 แต่กระนั้น เด็กที่กำลังเรียนอยู่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นสาขาที่ไม่ตรงต่อความต้องการตลาดอยู่ดี
แรงงานต้องเพิ่มทักษะ
แรงงานภาพรวมต้องเร่งแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไปต้องเร่งเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ ๆ หรือไม่ก็ต้องมองหาอาชีพเสริมไว้สำรองในอนาคต ขณะที่การศึกษาต้องเร่งปรับให้สอดรับกับโลกที่จะเปลี่ยนไปเพื่อให้แรงงานตรงต่อความต้องการตลาดในอนาคต
โดยปี 2564 คาดว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยยังคงสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวมากขึ้น แต่จะเป็นลักษณะของการค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่อาศัยการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลักยังคงอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวเช่นเดิม
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการค้าโลกในสัดส่วนที่สูง ทั้งท่องเที่ยว ส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2564 แม้หลายฝ่ายต่างคาดว่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ความไม่แน่นอนก็ยังคงมีสูงเมื่อการระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับมาอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนแต่ก็ยังต้องรอผลพิสูจน์ที่จะสร้างความเชื่อมั่นอีกระยะหนึ่ง
ประกอบกับหากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังผลิต (CUP) ของภาคอุตสาหกรรมไทยเฉลี่ย 63-65% จากที่ต่ำสุดราว 52% แต่ก็ยังคงเป็นอัตราการผลิตที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างไม่คิดที่จะเพิ่มอัตรากำลังคนแต่อย่างใด และยังคงดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดเป็นหลัก