รายงานวิจัยจากสหรัฐฯ คาดว่า “AI” จะกระทบพนักงานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ “คนที่ทำงานได้ดีขึ้น” กับ “คนที่ตกงาน” โดยจะมี 20% ของพนักงานที่เสี่ยงตกงานในอนาคต และกลุ่มพนักงานรายได้ต่ำจะเสี่ยงมากที่สุด
ยังไม่มีอะไรที่แน่นอนนักเกี่ยวกับอนาคตของเทคโนโลยี AI แต่มี 3 อย่างที่ชัดเจนขึ้นแล้วในขณะนี้คือ 1) AI จะมากระทบหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานนับล้านตำแหน่งในไม่กี่ปีข้างหน้า 2) AI น่าจะทำให้พนักงานบางส่วนทำงานได้ดีขึ้น และ 3) AI น่าจะมาทดแทนตำแหน่งงานบางตำแหน่งได้
แต่สุดยอดคำถามของเรื่องนี้คือ ‘จะมีพนักงานมากเท่าไหร่ และอาชีพไหน ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบมากที่สุดจาก AI ?’
สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งทำเนียบขาว มีการออกรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า 20% ของพนักงานอเมริกันขณะนี้ อยู่ในตำแหน่งงานที่มี “ความเสี่ยงสูง” ที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากเทคโนโลยี AI
คนกลุ่ม 20% นี้ไม่ได้จะถูกทดแทนด้วย AI โดยสิ้นเชิง แต่อาจจะถูกทดแทนได้เป็นบางส่วนในเนื้องานที่ทำ ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้ ‘เสี่ยง’ มากกว่าอาชีพอื่นๆ
รายงานชิ้นนี้สรุปไฮไลต์ไว้ว่า การมาของ AI จะเป็นข่าวดีของพนักงานบางกลุ่มและข่าวร้ายของอีกกลุ่ม เพราะการใช้ AI จะทำให้พนักงานกลุ่มหนึ่งมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ต้องใช้เวลามากกับงานที่น่าเบื่อ ได้รายได้สูงกว่าเดิม และอาจจะได้ทำงานน้อยลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่พนักงานอีกกลุ่มอาจจะต้องแข่งขันสูงขึ้น ถูกกดค่าแรงลง หรือเลวร้ายที่สุดคือใช้ AI ทำแทนพวกเขาได้เลย
งานที่ได้เงินเดือนต่ำมีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะถูก AI ทดแทน
รายงานนี้ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าอาชีพไหนหรืออุตสาหกรรมไหนที่จะถูก AI มากระทบในทางลบมากที่สุด
แต่ทางสภาฯ ระบุเลยว่า พนักงานที่เสี่ยงที่สุดที่จะถูก AI ทดแทน ประกอบด้วย 2 ดัชนีชี้วัด คือ 1) เป็นอาชีพที่ AI สามารถทำแทนได้มาก 2) เนื้องานไม่ต้องการศักยภาพการทำงานที่สูงมากนักเนื่องจากเนื้องานไม่ยากหรือซับซ้อนเท่าไหร่ ทำให้ถูกทำเป็นระบบอัตโนมัติได้
สภาฯ พบว่ามี 10% ของพนักงานอเมริกันที่ตรงกับดัชนีชี้วัดทั้งสองข้อ และคนกลุ่มนี้มักจะเป็นพนักงานรายได้ต่ำและมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าชั้นปริญญาตรี
นั่นหมายความว่า AI จะเข้ามาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก เพราะจะมาทดแทนแรงงานในกลุ่มรายได้ต่ำ แต่กลับทำให้งานที่ได้รายได้สูงยิ่งได้เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ยังชี้ด้วยว่า บางครั้ง AI อาจจะมาแทนที่อาชีพหนึ่งได้ แต่อาจจะเกิดเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมาด้วย เช่น หากวันหนึ่ง “รถโรงเรียน” สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติได้เอง จนไม่ต้องมีอาชีพ “คนขับรถโรงเรียน” แต่ในเหตุการณ์จริงโรงเรียนและสังคมย่อมต้องการบุคลากรที่เป็นผู้ใหญ่ทำหน้าที่ “คนดูแลบนรถ” คอยกำกับดูแลนักเรียนอยู่ดี ซึ่งก็เป็นไปได้ที่โรงเรียนจะยังจ้างคนขับรถต่อไปเพียงแต่ต้องเปลี่ยนไปทำหน้าที่แบบอื่น
- ผลสำรวจเผย ซีอีโอกว่าครึ่งเลือกจะลงทุนใน ‘Gen AI’ มากกว่าลงทุนให้พนักงานใช้งาน AI
- ‘ทีทีบี’ ตั้งเป้าผู้ใช้งาน ttb touch เพิ่มอีก 1 ล้านราย ชูการใช้ AI ช่วยเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมักจะ ‘ช่วย’ คนหนึ่งแต่ ‘ทำร้าย’ อีกคน
AI ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งแรกในเชิงเศรษฐกิจ หากย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษ 1980s ในช่วงที่ประเทศจีนเริ่มขึ้นมาเป็นตัวแปรสำคัญในการค้าโลก นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่า การล้นทะลักเข้ามาของสินค้าจีนต้นทุนต่ำจะเป็นคุณแก่สหรัฐฯ แม้ว่าภาคการผลิตท้องถิ่นของสหรัฐฯ เองต้องพ่ายแพ้ไป
“คนที่เสียอาชีพการงานไปเพราะสินค้าจีนเข้ามาทุบตลาดย่อมเกิดอาการช็อก แต่คนอื่นๆ จะได้สินค้าราคาถูกจาก Walmart หรือ Target หรือห้างอื่นๆ” Angus Deaton นักเศรษฐศาสตร์ผู้ชนะรางวัล Nobel Memorial Prize กล่าวกับ Business Insider “และทฤษฎียังบอกด้วยว่า คุณค่าที่เราได้รับมากกว่าสิ่งที่เราสูญเสียไป”
อย่างไรก็ตาม Deaton เองก็เริ่มไม่ค่อยแน่ใจมากขึ้นๆ ว่าการแลกในครั้งนั้นยังถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ ดังนั้น การมาของ AI นั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นคุณและคุ้มค่ากับชาวอเมริกันหรือเปล่า