ทีเอ็มบีธนชาต ตั้งเป้าผู้ใช้งาน ttb touch ปี 2024 นี้เพิ่มอีก 1 ล้านราย ชูการใช้ AI ช่วยเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีทางธนาคารมีความกังวลในเรื่องของหนี้ครัวเรือน และพบว่ามีการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งธนาคารได้หาวิธีในการแก้ปัญหา เช่น การรวบหนี้ เพื่อลดดอกเบี้ยของลูกค้า
ฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) ได้กล่าวว่า ทีทีบี มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อส่งมอบชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงชีวิต โดยเฉพาะ 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารเชี่ยวชาญ ภายใต้แนวคิด Ecosystem Play ได้แก่ กลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน พนักงานเงินเดือน และลูกค้า Wealth
สำหรับในปี 2023 ที่ผ่านมา ttb นั้นมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน ttb touch เพิ่มขึ้น 800,000 ราย ขณะเดียวกันนั้นเงินฝากของทางธนาคารก็ได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ทางธนาคารนั้นต้องมีการบริหารต้นทุนทางการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมา
ในปี 2024 นี้ความท้าทายของ ttb นั้น ฐากร มองว่าไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตที่มีช่องทางขายผ่านธนาคาร หรือแม้แต่เรื่องของเงินฝาก ขณะเดียวกันเศรษฐกิจที่เติบโตช้า รวมถึงตลาดทุนที่ผันผวนก็ได้ส่งผลต่อการลงทุนไม่น้อย
ส่วนของกลุ่มเงินฝาก ttb ได้นำเสนอลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกความต้องการด้านการออม ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นมีความเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม และยังรวมถึงเงินฝากในสกุลต่างประเทศที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องใช้ หรือฝากเงินในสกุลต่างประเทศไว้ใช้ หรือให้ลูกหลานเวลาเรียนต่อในต่างแดน
การให้บริการด้านสินเชื่อ ทางธนาคารได้เน้นในเรื่องการรีไฟแนนซ์บ้าน การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้านั้นธนาคารตั้งเป้าหมายเติบโตถึง 20% ในปีนี้ และยังรวมถึงมีแผนเปิดธุรกิจ Nano Finance ซึ่งใช้อัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เน้นช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ฐากร ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย จากปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรัง ทำให้ปี 2023 ที่ผ่านมามีผู้ที่เป็นหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือนสูงขึ้น รวมถึงมีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ทำให้ธนาคารได้หาวิธีในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการรวบหนี้ เพื่อที่จะลดภาระดอกเบี้ยของลูกค้าลง
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ttb ยังได้กล่าวถึงเรื่องของ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีสัดส่วนสูง ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเรียกร้องให้หลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าว
ในส่วนของประกัน ทาง ttb จะเน้นที่ประกันสุขภาพ ขณะเดียวกันก็จะเร่งการเติบโตประกันรถยนต์ ซึ่งจะทำให้ธนาคารได้รายได้จากค่าธรรมเนียมจากประกันเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ลูกค้ากลุ่มความมั่งคั่งสูง หรือลูกค้ากลุ่ม Wealth ทาง ttb ได้ตั้งเป้าที่จะเน้นรุกลูกค้ากลุ่มที่มีความั่งคั่งสูง โดยมี AUM มากกว่า 30 ล้านบาท ธนาคารยังได้มีการจัดทีม Private Banking ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเพื่อยกระดับการให้บริการ
และจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุนของลูกค้ากลุ่ม Wealth ไม่น้อย ttb จึงเน้นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งรักษาเงินต้นและปิดความเสี่ยง เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดัชนี (Index Linked Note) เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น พร้อมคุ้มครองเงินต้นในเวลาเดียวกัน และในปีนี้ทางธนาคารจะมีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น
นอกจากนี้สำหรับลูกค้าที่ใช้แอปฯ ttb touch ฐากร ได้ชูถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ได้ช่วยลดภาระต้นทุนของธนาคาร เขาได้ชูถึงจุดเด่นของแอปฯ ดังกล่าวสามารถทำธุรกรรมของสาขาได้ถึง 94% และหลังจากนี้ถ้าหากลูกค้าไปสาขาจะให้ทำธุรกรรมผ่าน Tablet แทน โดยมีพนักงานช่วยดู ไม่มีทำผ่านกระดาษอีกแล้ว
ฐากรชี้ว่าถ้าหากการทำธุรกรรมผ่านสาขาลดลงไป 10% จะส่งผลต่อต้นทุนธุรกรรมที่สาขาลดลงไป 40% เลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านี้เขาชี้ว่าในส่วนของแอปฯ ttb touch ยังมีการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และจะมีสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าแต่ละคนต้องการ และยังมีการนำเทคโนโลยีวิเคราะห์ให้กับ Call Center ของธนาคารเพื่อลดการโทรหาลูกค้าซ้ำซ้อนลง
เป้าหมายทางการเงินของกลุ่มลูกค้าบุคคลของ ttb ในปี 2024 นี้การเติบโตของสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ เติบโต 1-2% ขณะที่การเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การดูแล AUM ของลูกค้าเติบโต 15-20% และเบี้ยประกันภัยเติบโต 30-35% เบี้ยประกันชีวิตเติบโต 15-20% รวมถึงผู้ใช้งาน ttb touch เพิ่มอีก 1 ล้านราย