“เมอร์เซอร์” คาดตลาดงานปี’67 “เงินเดือน” ปรับขึ้นเฉลี่ย 5% นายจ้างเตรียมรับสภาวะ “เทิร์นโอเวอร์” กลับมาสูง

เงินเดือน
  • “เมอร์เซอร์” สำรวจตลาดงานปี 2566-67 คาดปีหน้า “เงินเดือน” พนักงานปรับขึ้นเฉลี่ย 5.0%
  • ธุรกิจที่มีอัตราการขึ้นเงินเดือนมากกว่าค่าเฉลี่ยตลาด ได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ, อุตสาหกรรมไฮเทค, สินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมเคมี
  • “งานขาย” “วิศวกร” และ “ไอที” สายอาชีพที่นายจ้างต้องการตัวมากที่สุดในตลาดงาน
  • นายจ้างเตรียมตัวรับสภาวะ “เทิร์นโอเวอร์” กลับมาสูงเหมือนก่อนโควิด-19 พนักงานอยากย้ายงานมากขึ้น

“จักรชัย บุญยะวัตร” ประธาน บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล เปิดผลสำรวจเรื่อง “ค่าตอบแทนประจำปี” ของปี 2566 และคาดการณ์ปี 2567 โดยมีการเก็บข้อมูลจากองค์กรในไทย 617 บริษัท รวมกว่า 359,000 ตำแหน่งงาน รวบรวมจาก 7 อุตสาหกรรม ทั้งนี้ 87% ของบริษัทที่สำรวจเป็นบริษัทลูกของบริษัทข้ามชาติ และมีรายได้เฉลี่ยของบริษัทที่สำรวจอยู่ที่กว่า 2,800 ล้านบาท

ผลสำรวจพบว่า การขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรม ปี 2566 เพิ่มขึ้น 4.8% ส่วนปี 2567 บริษัทคาดจะขึ้นเงินเดือน 5.0%

การขึ้นเงินเดือนพนักงานมีแนวโน้มเติบโตขึ้น เนื่องจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจไทยที่น่าจะปรับดีขึ้นในปีหน้า คาดจีดีพีไทยปี 2567 จะเติบโต 3.8% ด้วยปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

เงินเดือน

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นเงินเดือน 5.0% ของตลาดงานไทยก็ยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย “ภูมิภาคเอเชีย” ที่คาดจะขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 5.2% ในปีหน้า โดยภูมิภาคนี้มีตลาดงานที่คาดว่าจะมีการขึ้นเงินเดือนสูงสุดคือ “อินเดีย” ขึ้นเฉลี่ย 9.3%

 

“วิทยาศาสตร์สุขภาพ” จ่ายแรง ขึ้นเงินเดือนสูงสุด

หากวัดการขึ้นเงินเดือนเป็นรายอุตสาหกรรม เมอร์เซอร์พบว่า ธุรกิจที่ขึ้นเงินเดือนให้มากกว่าค่าเฉลี่ยมัธยฐาน ได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ, อุตสาหกรรมไฮเทค, สินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมเคมี

โดยธุรกิจ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” ถือเป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์มาต่อเนื่องหลายปี เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ เป็นธุรกิจขาขึ้นมาโดยตลอด และทำให้มีการขึ้นเงินเดือนพนักงานสูงกว่าค่าเฉลี่ย

รวมถึง “อุตสาหกรรมไฮเทค” ก็เป็นเทรนด์ขาขึ้นเช่นกัน เนื่องจากบริษัทหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีไฮเทคในการผลิตและการทำงาน จึงมีดีมานด์สูงขึ้น และทำให้กลุ่มไฮเทคจ่ายค่าแรงพนักงานได้มากขึ้น

 

“งานขาย” “วิศวกร” และ “ไอที” ที่สุดแห่งมนุษย์ทองคำยุคนี้

เมอร์เซอร์ยังพบด้วยว่ากลุ่มอาชีพ “Hot Jobs” หรือพนักงานกลุ่มที่หาตัวทาเลนต์ความสามารถสูงได้ยาก และรักษาให้อยู่กับองค์กรไว้ยากนั้นยังเหมือนเดิม นั่นคือ

  • อันดับ 1 งานขายและการตลาด
  • อันดับ 2 วิศวกรและวิทยาศาสตร์
  • อันดับ 3 ไอทีและโทรคมนาคม

โดยที่โดดเด่นต่อเนื่องมานานคือกลุ่ม “มนุษย์ไอที” เป็นกลุ่มที่องค์กรตามล่าตัวและให้เงินเดือนมากกว่าค่ามัธยฐาน

หากเจาะลึกลงไปในกลุ่มไอที สายงานไอทีที่ต้องการตัวกันมากที่สุดคือ “IT Security” หรือกลุ่มผู้ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องการไลเซนส์รับรอง ซึ่งในไทยมีพนักงานที่ได้ไลเซนส์นี้ประมาณ 200 คนเท่านั้น และมีอุตสาหกรรมที่ตามล่าตัวมากที่สุดคือกลุ่มธนาคาร/สถาบันการเงิน

 

นายจ้างเตรียมตัว “เทิร์นโอเวอร์” จะกลับมาสูง

อีกด้านหนึ่งของการจ้างงานคืออัตราการลาออกหรือ “เทิร์นโอเวอร์” ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลาออกโดยไม่สมัครใจ (เลย์ออฟ) และ กลุ่มลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการย้ายงาน

เมอร์เซอร์พบว่า การเลย์ออฟพนักงานที่เคยพุ่งสูง อัตราอยู่ที่ 4.7% เมื่อปี 2563 ปีแรกที่เกิดโควิด-19 ในปี 2566 นี้คาดว่าอัตราเลย์ออฟไต่ระดับลงมาเหลือเพียง 0.8% เท่านั้น เห็นได้ว่าตลาดงานเริ่มมีความเสถียร ลดการปลดพนักงาน

ส่วนการลาออกโดยสมัครใจนั้นเคยต่ำลงเหลือ 9.7% ในปี 2563 แต่เริ่มมาไต่ระดับเพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย เมอร์เซอร์คาดว่าปี 2566 นี้อัตราการลาออกโดยสมัครใจจะกลับมา “ดับเบิลดิจิต” ที่ 10.0%  และน่าจะไต่สูงขึ้นต่อไปในปี 2567 (*อัตราเทิร์นโอเวอร์ที่เมอร์เซอร์สำรวจ เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 16.0% เมื่อปี 2556)

เหตุที่พนักงานจะกลับมาลาออกเพื่อ “ย้ายงาน” เนื่องจากมั่นใจในเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น จึงกล้าที่จะย้ายงานในช่วงนี้ ซึ่งทำให้องค์กรที่ต้องการดึงดูดทาเลนต์หรือรักษาทาเลนต์ไว้กับบริษัท จะต้องมีแผนกลยุทธ์ด้านการจัดจ้างบุคลากร มีแพ็กเกจที่ตอบโจทย์ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องรายได้เท่านั้น แต่ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เข้ากับความต้องการของทาเลนต์เป็นรายบุคคล เช่น work-life balance, การเติบโตในอาชีพการงาน, โปรแกรมเทรนนิ่งเพื่อพัฒนาบุคลากร เป็นต้น