อนันดาฯ : ลูกค้ายังต้องการสังคมเมือง เดินหน้าเปิดคอนโดฯ ใกล้รถไฟฟ้า 2.4 หมื่นล้าน

จากปี 2563 หลายค่ายอสังหาฯ เบนเข็มเจาะตลาดแนวราบทำเลชานเมือง แต่ “อนันดาฯ” มองต่างมุม เชื่อว่าผู้บริโภคยังต้องการสังคมเมือง แหล่งงาน-การศึกษาใจกลางเมืองยังสำคัญ วางแผนปี 2564 เปิดคอนโดฯ ใกล้รถไฟฟ้า 5 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท เป้ายอดขายเติบโต 6% จี้รัฐออกนโยบาย “วัคซีน พาสปอร์ต” ให้ต่างชาติปลอดเชื้อเข้าประเทศ

คำถามที่ท้าทายของ “อนันดาฯ” คือคำถามที่ว่า คนจะยังต้องการอยู่คอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้าอยู่หรือไม่ เมื่อเกิดโรคระบาด ล็อกดาวน์ และการทำกิจกรรมส่วนใหญ่อยู่กับบ้านในโลกออนไลน์ เพราะอนันดาฯ ชูโมเดลพัฒนาคอนโดฯ ไม่เกิน 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้าเป็นพอร์ตหลัก หากผู้บริโภคเปลี่ยนวิถีชีวิตในระยะยาว ออกไปอยู่ชานเมืองกันมากขึ้น โมเดลธุรกิจของบริษัทจะต้องปรับขนานใหญ่

จากคำถามนี้ “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดมุมมองของบริษัท ยังคงเชื่อมั่นในโมเดลธุรกิจเดิม เพราะแม้ว่าโรคระบาดจะบีบให้คนต้องปรับตัวไปทำงาน เรียนหนังสือ ทำกิจกรรมออนไลน์ แต่มองว่า ที่จริงแล้วมนุษย์ยังต้องการสังคมเมื่อโลกกลับมาเป็นปกติ

“ประสบการณ์ส่วนตัวผมสมัครขี่จักรยานแบบ virtual ที่บ้าน มีคนจากทั่วโลกเข้ามาขี่พร้อมกัน แต่ถามว่าผมอยากกลับไปขี่ที่สกายเลนไหม (ลู่จักรยานใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ) ผมก็อยากจะกลับไป” ชานนท์กล่าว โดยเขาชี้ให้เห็นว่า ‘ความรู้สึก’ ของมนุษย์ยังต้องการเข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริงมากกว่าโลกออนไลน์

“ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

ดังนั้น เชื่อว่าเมื่อโลกเริ่มควบคุมการระบาดได้ แหล่งงานของบริษัทชั้นนำซึ่งยังอยู่กลางเมือง หรือแหล่งการศึกษาชื่อดังในเมือง จะยังมีคนกลับไปทำงานและกลับไปเรียนในพื้นที่เช่นเดิม ทำให้คอนโดฯ ใกล้รถไฟฟ้ายังคงความสำคัญ

นอกจากนี้ ภาครัฐยังคงมีการลงทุนขยายเส้นทางรถไฟฟ้า มูลค่ารวมในแผนงานกว่า 3 แสนล้านบาท จึงเชื่อว่าการขยายที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้ายังคงเป็นทิศทางที่เหมาะสม

ชานนท์สรุปผลการดำเนินงาน ปี 2563 บริษัททำยอดขายได้ 17,495 ล้านบาท และรับรู้รายได้ 18,340 ล้านบาท โดยไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่เลย ทำให้ปีที่แล้วเป็นการขายและโอนโครงการที่มีอยู่แล้วทั้งหมด

 

ปี 2564 เตรียมแผนคอนโดฯ 5 โครงการ

ด้าน “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของอนันดาฯ เปิดแผนธุรกิจปี 2564 ของบริษัท เตรียมเปิดตัว 5 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 24,422 ล้านบาท โดยเป็นคอนโดฯ ทั้งหมด กระจายใน 5 ทำเล ได้แก่ สะพานควาย, สามย่าน, ทองหล่อ, สุขุมวิท 38 และ ลำสาลี ทั้งนี้ จังหวะการเปิดจะดูตามสภาวะตลาด เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องการดีมานด์สูงจึงจะเปิดตัวได้

โครงการเปิดใหม่ปีนี้ บางแห่งมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ให้เหมาะกับวิถีชีวิตแบบ New Normal และทำราคาให้เหมาะกับตลาด เช่น โครงการที่สะพานควาย มีการปรับแบบใหม่และเปิดประมูลใหม่ ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างลดลง 10% จะทำให้บริษัทกดราคาขายลงมาได้

“ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) อธิบายแผนธุรกิจของบริษัท ปี 2564

สำหรับ เป้ายอดขายอยู่ที่ 18,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% เป้ารับรู้รายได้ 16,008 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีการโอนกรรมสิทธิ์โครงการใหม่ไปถึง 7 โครงการ โดยเป้ารับรู้รายได้นี้มีแบ็กล็อกโอนปีนี้รออยู่แล้ว 7,690 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการขายโครงการพร้อมอยู่

 

กุญแจสำคัญ “แรงซื้อต่างชาติ”

การฟื้นตัวของตลาดคอนโดฯ นั้น มีปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ “แรงซื้อต่างชาติ” โดยประเสริฐเปิดสถิติจาก REIC และธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าเมื่อปี 2561 ผู้ซื้อต่างชาติที่โอนกรรมสิทธิ์สินทรัพย์ในไทยมีมูลค่ารวมถึง 92,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ซื้อชาวจีน

แต่ในปี 2563 พบว่าผู้ซื้อต่างชาติหายจากตลาดไทยไปถึง 89% คือเกือบจะทั้งหมด เพราะลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมเซลส์แกลลอรีหรือดูโครงการที่ไทยได้

ไอดีโอ รัชดา-สุทธิสาร หนึ่งในเจ็ดโครงการเริ่มโอนกรรมสิทธิ์เมื่อปี 2563 และจะเป็นพอร์ตโครงการพร้อมอยู่ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ยอดโอนของอนันดาฯ ปีก่อนมีสัดส่วน 21% ที่เป็นการโอนของผู้ซื้อต่างชาติ แม้ลูกค้าจะบินเข้ามาตรวจห้องไม่ได้ก็ตาม สะท้อนให้เห็นความมั่นใจของลูกค้าต่างชาติต่ออสังหาฯ ไทยและต่อบริษัท

ทำให้ประเสริฐมองว่า กุญแจสำคัญของตลาดคอนโดฯ จะฟื้นตัวเร็วขึ้นเมื่อรัฐบาลเปิดประเทศ อย่างน้อยหากมีลูกค้ากลับเข้ามาครึ่งหนึ่ง คือมีแรงซื้อประมาณ 45,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นตลาดคอนโดฯ ไทยได้มาก

ชานนท์กล่าวเสริมต่อประเด็นนี้ว่า รัฐบาลควรมีนโยบายเกี่ยวกับ “วัคซีน พาสปอร์ต” คือเปิดให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วสามารถบินเข้าประเทศไทยได้ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากและ “รัฐต้องกล้าพอ” เพราะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่เกี่ยวพันโดยตรงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งรอนักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศอยู่ และจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มาก