ม. มหิดล จับมือ ไทยพาณิชย์ ยกระดับห้องเรียนออนไลน์รองรับวิถีใหม่ เปิดโลกการเรียนการสอนแบบ Study Anywhere ในรูปแบบ Virtual Platform

ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้าสนับสนุนโครงการ Smart University สร้างระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อยกระดับการศึกษาต่อเนื่อง จับมือ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อยอดโครงการ “Mahidol Digital Convergence University” ของมหาวิทยาลัยมหิดล สร้างจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ให้กับภาคการศึกษา ร่วมกันพัฒนาศักยภาพ ห้องเรียนเสมือนจริงในรูปแบบ Virtual Platform ที่ล้ำสมัย ภายใต้แนวคิด Study Anywhere รองรับการเรียนการสอนและการประชุมระยะไกลจากทั่วโลก ประกาศเปิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ตอบโจทย์โลกการศึกษารองรับวิถีใหม่ หรือ New Normal อย่างไร้รอยต่อ อีกขั้นแห่งความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างสององค์กรเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับโลก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจากรูปแบบเดิมมาเพื่อรองรับวิถีใหม่ให้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในระยะที่ผ่านมาก็ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของระบบการเรียนการสอนและการทำงานให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้โดยปลอดภัยและมีระยะห่างทางสังคม ซึ่งเทคโนโลยีหลายตัวเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบ และทดลองใช้ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานจริง ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2563 ที่กำลังจะเปิดในเดือนสิงหาคม มหาวิทยาลัยได้วางมาตรการระยะสั้นรองรับการศึกษาวิถีใหม่สำหรับภาคการศึกษาแรกปี 2563 โดยจะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนผ่านห้องเรียนเสมือนจริง ในรูปแบบ Virtual Platform ที่มีการพัฒนาร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับนักเรียนชั้นปีอื่นก็จะมีการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ตามความเหมาะสม สำหรับมาตรการระยะยาวนั้นทางมหิดลได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มมากขึ้น พร้อมอบรมพัฒนาศักยภาพอาจารย์ผู้สอน พัฒนาเทคนิคการสอนออนไลน์ให้อาจารย์ รวมถึงประเมินอาจารย์เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ใกล้เคียงการเรียนการสอนแบบในห้องเรียนจริง (In-person learning environments) ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งมหาวิทยาลัย นักศึกษา และบุคลากร จะมีความสามารถทางดิจิทัลเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกสถานการณ์

นายภานุ โชติประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Corporate Banking 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผนึกกำลังนำศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งของทั้งสององค์กรร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลให้กับมหาวิทยาลัยสู่การเป็น Smart University นับตั้งแต่ปี 2561 ได้ริเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในทุกมิติและขยายโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ทุกพื้นที่ ทุกวิทยาเขตและเข้าถึงนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งหมด กว่า 67,000 คน วันนี้วิสัยทัศน์ที่เดินหน้าร่วมกันตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่สถาบันการศึกษาจะต้องปิดดำเนินการชั่วคราว สามารถเดินหน้าได้ต่อเนื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วย Virtual Platform ห้องเรียนเสมือนจริงที่สามารถทดแทนประสบการณ์การเรียนการสอนในชั้นเรียนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เชื่อมโยงการเรียนการสอนและการประชุมระยะไกลระหว่างวิทยาเขตและเขตพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการประชุมกับสถาบันในต่างประเทศ สร้างมิติใหม่ทางการศึกษาให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ การใช้ Virtual Platform เพื่อสนับสนุนห้องเรียนเสมือนจริงเป็นหนึ่งในหลากหลายโครงการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลก้าวสู่มหาวิทยาลัยแถวหน้าของโลก และเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดท้าทายให้ภาคการศึกษาต้องเร่งปรับตัวรับกับบริบทใหม่ที่แตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง มหาวิทยาลัยมหิดลจึงกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น Digital Convergence University โดยการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกันออกแบบและสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลให้พร้อมเข้าสู่ระบบการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งนำมาสู่การริเริ่มโครงการมากมายตามมา หนึ่งในโครงการสำคัญคือการพัฒนา Virtual Platform ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสององค์กร ได้รับการพัฒนาร่วมกันมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 โดยเริ่มจากการวางระบบเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่และวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ศาลายา กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ พร้อมระบบ Interactive สำหรับอาจารย์และนักศึกษา และเนื่องด้วยความจำเป็นในการเว้นระยะห่างทางสังคมช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับระบบนิเวศดิจิทัลที่ได้ร่วมกันวางรากฐานและสร้างความคุ้นเคยสำหรับการใช้งานก่อนหน้านี้ ทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Wifi ครอบคลุมทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และแอปพลิเคชัน We Mahidol ที่ช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ ผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างสะดวกนั้น มีผลสนับสนุนให้การพัฒนารูปแบบ Virtual Platform ที่จัดทำไว้เพื่อรองรับการเรียนการสอนในต่างพื้นที่ ต่างวิทยาเขตสามารถนำมาใช้ทดแทนการเรียนของทุกชั้นเรียนภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ในทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปลดล็อคข้อจำกัดสำหรับการเรียนการสอนข้ามประเทศ ผู้เรียนและผู้สอนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันได้แบบเรียลไทม์ ทำให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนยังคงได้รับความรู้อย่างเต็มศักยภาพแบบเสมือนอยู่ในห้องเรียน

ทั้งนี้ Virtual Platform ที่พัฒนาขึ้นสามารถตอบโจทย์ทั้งเพื่อประโยชน์ด้านการเรียนการสอน การอบรม การประชุม สามารถรองรับการใช้งานของอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ได้อย่างเสถียรและคล่องตัว ช่วยให้การเรียนทางไกลเป็นเรื่องง่าย  ดีต่อคุณภาพชีวิต และลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างประสบการณ์ห้องเรียนเสมือนจริง ผ่านโปรแกรม Webex ไปแล้วกว่า 65,000 ชั้นเรียน/ห้องประชุม มีจำนวนการ Join เข้าเรียน/เข้าประชุมกว่า 750,000 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเข้ากับวิถีการศึกษาแห่งอนาคตในบริบทใหม่ผ่านห้องเรียนเสมือนจริงได้อย่างกลมกลืน และขณะนี้กำลังขยายขอบเขตไปยัง Co Working  และ Co Learning Space ที่เปิดให้บุคลากร และนักศึกษา สามารถเชื่อมโยงกันผ่าน Virtual Platform ด้วย Webex รวมถึงการต่อยอดแอปพลิเคชัน We Mahidol เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาเรียนรู้และประชุมโดย log in ผ่านระบบออนไลน์อย่างสะดวกและคล่องตัว ตอกย้ำถึงศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาไทย