โครงการ Huawei ICT Academy เริ่มขึ้นในไทยเมื่อปี 2561 ปัจจุบันมีผู้ผ่านหลักสูตรและได้ใบรับรองไปแล้ว 350 คน และตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 1,200 คนภายในสิ้นปีนี้ จุดประสงค์เพื่อแก้โจทย์บุคลากรด้านไอซีทียังขาดแคลนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
ไมเคิล แมคโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล และที่ปรึกษาผู้บริหาร Huawei Asia Pacific เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการ Huawei ICT Academy และการให้ ประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของ Huawei ซึ่งทั่วโลกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ส่วนในไทยเริ่มปี 2561
ปัจจุบันทั่วโลกมีเยาวชนและคนทำงานที่ได้รับใบประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพ Huawei ไปแล้วกว่า 260,000 คน โดยบริษัทมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนเป็น 700,000 คนภายในปี 2566 ส่วนในประเทศไทยนั้น มีผู้ได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพแล้ว 350 คน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,200 คนภายในสิ้นปีนี้
โครงการ Huawei ICT Academy นั้นเป็นโครงการฝึกทักษะให้คนที่สนใจและต้องการทำงานด้านไอซีที แยกหลักสูตรออกเป็น 22 สาขา ครอบคลุมทั้งด้าน โครงสร้างพื้นฐานไอซีที เช่น 5G, WLAN, SDN และด้าน แพลตฟอร์ม-บริการ เช่น บิ๊กดาต้า, AI, IoT ผู้ผ่านการอบรมสามารถไปสอบรับใบประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของ Huawei ได้ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ Associate, Professional และระดับ Expert
การเข้าร่วมอบรมจะมีทั้งคอร์สอบรมในรั้วมหาวิทยาลัยให้กับกลุ่มนักศึกษา โดยทาง Huawei เข้าไปอบรมอาจารย์ให้เป็นผู้อบรมนักศึกษาต่ออีกทอดหนึ่ง ส่วนคนทำงานหรือผู้ที่สนใจสามารถเรียนกับศูนย์เทรนนิ่งของ Huawei หรือเรียนออนไลน์ในระบบ Learn On ได้ฟรี เมื่อเรียนจบหลักสูตรออนไลน์สามารถรับวอชเชอร์เพื่อไว้ใช้สอบประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพได้
โดยไมเคิลมองว่า กลุ่มที่ Huawei โฟกัสเป็นพิเศษคือกลุ่มนักศึกษา ซึ่งจะมาเป็นกำลังสำคัญในภาคแรงงานไอซีทีของไทย ทำให้บริษัทขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากเดิมมี 13 แห่งที่เข้าร่วม เช่น KMITL, ม.เทคโนโลยีมหานคร, ม.สงขลานครินทร์ ปีนี้จะเพิ่มความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรวมเป็น 20 แห่ง
ทาเลนต์ด้านไอซีทีทั่วโลกยังขาดแคลน 5 ล้านคน
จุดประสงค์ของ Huawei ในการสร้างโปรแกรมฝึกทักษะแบบนี้ ไมเคิลกล่าวว่า เพราะบริษัทเล็งเห็นถึงความขาดแคลนทาเลนต์ด้านไอซีทีทั่วโลก โดยเฉพาะใน 5 ปีข้างหน้า ภูมิทัศน์ของการใช้เทคโนโลยีไอซีทีจะยิ่งก้าวหน้ารวดเร็วไปกว่านี้มากและอยู่ในทุกอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีอย่างบิ๊กดาต้า AI IoT คลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้บริษัทคาดว่าทั่วโลกจะยังขาดแคลนทาเลนต์ขั้นสูงอีกถึง 5 ล้านคน
ส่วนในประเทศไทยแม้จะไม่มีตัวเลขแน่ชัด แต่ไมเคิลเชื่อว่าจำนวนบุคลากรที่มี “ยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่าเพียงพอ” และที่ขาดแคลนมากที่สุดคือทาเลนต์ที่มีความรู้ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G
ทั้งนี้ หลักสูตรที่ฝึกทักษะและประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพที่ให้จะทำให้ผู้ผ่านการอบรมคุ้นเคยกับระบบของ Huawei แต่หลักสูตรจะเน้นสอนทักษะความรู้พื้นฐานที่นำไปใช้ได้กับทุกระบบ และไม่มีข้อผูกมัดว่าจะต้องทำงานให้กับบริษัท
“ประโยชน์ที่ผู้รับการอบรมจะได้คือ นักเรียนนักศึกษาจะมีความพร้อมเข้าสู่ตลาดงานทันที เพราะมีความรู้แบบพร้อมใช้ มีโอกาสได้งานเร็วขึ้น มั่นคงในอาชีพมากขึ้น น่าจะเรียกค่าตอบแทนได้มากขึ้นด้วย ส่วนคนทำงานที่เข้าอบรมและได้ประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพก็สามารถนำไปเพิ่มความสามารถตนเองเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ” ไมเคิลกล่าว
ขณะที่ประเทศไทยก็จะมีโอกาสวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีตอบรับโลกยุคใหม่ได้เร็วกว่าเดิม เมื่อเรามีทาเลนต์ขั้นสูงที่พร้อม