DITP ปรับตัวรับ New Normal ดันเจรจาการค้าออนไลน์ BIDC 2020 สร้างมูลค่าการค้ารวม 711 ล้านบาท

ผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนท์สร้างความสำเร็จในการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น ยกระดับเจรจาการค้า สู่แพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยพันธมิตร 7 หน่วยงานด้านดิจิทัลคอนเทนท์ จัดการเจรจาการค้าออนไลน์ในงาน BIDC 2020 ระหว่างวันที่ 19 – 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ดึงดูด คู่ค้าไทย-ต่างชาติสร้างการเจรจาการค้ากว่า 310 คู่ มูลค่ากว่า 711.26 ล้านบาท

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “จากความร่วมมือ ของทุกภาคส่วน ในการจัดงาน BIDC 2020 ภายใต้แนวคิด VR BIDC 2020 เมื่อวันที่ 19 –21 ส.ค. ที่ผ่านมา ความสำเร็จ หนึ่งที่เป็นรูปธรรมคือการสร้างการมีส่วนร่วมและการปรับตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ให้สอดรับกับ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่นที่เกิดขึ้น ภายใต้วิถีใหม่ วัดได้จากความจำเป็นในปีนี้ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมเจรจาการค้าแบบเดิม เป็นการเจรจาการค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ ซึ่งได้รับการตอบรับ จากผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติจำนวน เกินคาด โดยในปีนี้เกิดการเจรจาการค้าออนไลน์ในงาน 310 คู่ สร้างมูลค่าการค้าประมาณ711.26 ล้านบาท ซึ่งสะท้อน ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแม้ภายใต้วิกฤตแต่ผู้ประกอบการ ดิจิทัลคอนเทนท์ทั้งไทยและต่างชาติต่างมีการปรับตัวให้สอดรับ การทำงานท่ามกลางวิธีการสื่อสารที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปผู้ประกอบการต่างยืนหยัดสร้างโอกาสใหม่ๆในการทำธุรกิจ โดยการปรับตัวเข้าสู่ตลาดด้วยระบบออนไลน์”

​“ในการเจรจาการค้าออนไลน์ครั้งนี้ มีบริษัทระดับโลกตอบรับเข้าร่วมเจรจาการค้ารวมจำนวน 45 รายจาก 15 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ โปแลนด์ อาร์เจนตินา ลิทัวเนีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนาม และ มาเลเซีย อาทิ WarnermediaEntertainment Asia Pacific, Cartoon Network Studios, Millimages, Rubika, Toonz Animation India, Game Loft และ Digital Development Management เป็นต้น ร่วมด้วยบริษัทผู้ประกอบการไทยจำนวน 51 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการแอนิเมชั่น 20 ราย คาแร็คเตอร์ 12 ราย E–Learning 7 ราย และเกม 12 ราย ถือได้ว่า BIDC เป็นงานที่มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ ทั้งทางด้านเกม แอนิเมชั่น คาแร็คเตอร์ CG VFX และอีเลิร์นนิ่งมาร่วมโครงการจำนวนมากที่สุด สำหรับประเภทของสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ บริการด้าน Animation Outsourcing Service, ด้าน Animation Co-productionและ Character Licensing, ด้าน Game Development และ Game Outsourcing Service ตามลำดับ”