แปลงร่าง “รถคลาสสิก” เป็นรถไฟฟ้า ธุรกิจใหม่รับการมาของยุค EV

อย่างที่ทราบกันดีว่า หลังปี 2020 เป็นต้นไปจะถือเป็นยุคที่รถยนต์ไฟฟ้าเบ่งบาน และปริมาณรถยนต์ประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มีเรื่องของกฎข้อบังคับและมาตรการของทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานไอเสีย หรือการห้ามรถเก่าที่มีมลพิษเข้าในเขตเมืองบางส่วน เข้ามาเป็นตัวเร่งในการเติบโตของตลาด และทำให้เครื่องยนต์สันดาปภายในเริ่มโดนลดบทบาทลง

ในส่วนของรถยนต์ทั่วไปคงไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่อะไร เพราะส่วนใหญ่แล้วรถยนต์พวกนี้ถูกหมุนเวียน และเปลี่ยนไปมาตามวงรอบของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางที่ถูกเลือกให้บรรดาผู้ซื้อต้องเดินไป พวกเขาก็จะต้องไปทางนั้น และเมื่อต้องเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่

แต่สำหรับพวกรถยนต์สะสม และบรรดารถยนต์คลาสสิกนี่แหละ ตรงนี้คือปัญหาใหญ่เอาเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไม่ได้ เพราะว่าที่ผ่านมา เราได้เห็นบรรดาบริษัทเกิดใหม่ที่ผุดไอเดียในการแปลงรถยนต์คลาสสิกเหล่านี้ให้หันมาขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้จนกลายเป็นธุรกิจใหม่ขึ้นมา

เคสล่าสุดคือ เรื่องของ Rolls-Royce Silver Cloud ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ขายในช่วงทศวรรษที่ 1950 ที่ถูกดัดแปลงโดยบริษัทที่ชื่อว่า Lunaz ในอังกฤษ ซึ่งบริษัทแห่งนี้ถือเป็นทางออกสำหรับคนที่รักความคลาสสิก แต่ก็ต้องการใช้งานพวกมันด้วย ไม่ใช่จอดโชว์อยู่แต่ในบ้าน

สำหรับ Lunaz เองนั้นก่อตั้งโดย Jon Hilton-Lunaz ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของทีมแข่ง F1 จากค่าย Renault โดยมีเป้าหมายในการมอบหัวใจดวงใหม่ให้กับบรรดารถยนต์คลาสสิกราคาแพง ด้วยการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่มาเป็นการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และมีการติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องกฎข้อบังคับทางด้านมลพิษของภาครัฐ

แน่นอนว่างานนี้ไม่ใช่แค่ยกเครื่องออก และใส่มอเตอร์ไฟฟ้าลงไปใหม่ เพราะต้องถือว่าเป็นงานบูรณะรถยนต์คลาสสิกครั้งใหญ่เลย ตัวรถจะต้องถูกรื้อออกและเหมือนกับสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะต้องมีการติดตั้งชุดขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งมอเตอร์ และแบตเตอรี่สำหรับเก็บกระแสไฟฟ้า รวมถึงการปรับปรุงระบบเบรก คันเร่ง และพวงมาลัยให้สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นตัวรถยังมีทั้งระบบป้องกันการลื่นไถล ระบบครูซ คอนโทรล (Cruise Control) และระบบชาร์จเร็ว รวมถึงระบบนำทางด้วยดาวเทียมและ Wi-Fi ติดตั้งอยู่ในรถ

ผลงานที่เคยทำมาก็เช่น Jaguar XK120 รุ่นปี 1953 ที่มีการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 375 แรงม้า และแบตเตอรี่ขนาด 80kWh หรือกับ Rolls-Royce Phantom V รุ่นปี 1961 ก็ใช้แบตเตอรี่ขนาด 120 kWh และรุ่นล่าสุดที่เพิ่งดัดแปลงไปคือ Silver Cloud รุ่นปี 1956

สำหรับค่าตัวของรถยนต์คลาสสิกแบบพลัง EV นั้นถือว่าไม่ธรรมดา อย่าง Silver Cloud จะมีราคาเริ่มต้นที่ 350,000 ปอนด์ และ Phantom เริ่มต้นที่ 500,000 ปอนด์ ซึ่งในเรื่องของการใช้ก็ไม่ต้องห่วง เพราะว่าอยู่ในพิสัยที่สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน อย่าง Silver Cloud ที่ใช้แบตเตอรี่ขนาด 120 kWh สามารถแล่นทำระยะทางต่อการชาร์จ 1 ครั้งได้ที่ 483 กิโลเมตร

ในตลาดยุโรป ธุรกิจนี้เกิดขึ้นมาสักพัก และเราก็ได้เห็นผลงานการดัดแปลงบรรดารถยนต์คลาสสิกให้สามารถใช้ไฟฟ้ากันหลายต่อหลายรุ่น แต่ส่วนใหญ่ก็จำกัดแค่รถยนต์ที่มีราคาไม่แพง และเป็นรถยนต์ทั่วไป เพื่อเป็นการลองทดสอบการใช้งานก่อนที่จะเปิดเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง สำหรับรองรับกับความต้องการของลูกค้าที่รักความคลาสสิก และต้องการใช้งานต่อไป

ทางด้านแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์เองนั้น ก็มองเห็นช่องทางนี้เช่นกัน และที่มีขยับตัวออกมาแล้วคือ Volkswagen ที่พวกเขาดัดแปลง Beetle รุ่นแรกในปี 2019 เพื่อให้สามารถใช้โมดุลชุดใหม่ที่เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าและแพ็กแบตเตอรี่แบบติดตั้งอยู่ที่ด้านท้ายตัวรถ และถ้าทำได้ ลองคิดดูว่าจะสร้างรายได้มหาศาลขนาดไหนกับปริมาณ Volk Beetle ที่ผลิตขายทั่วโลกรวมแล้วมากกว่า 23 ล้านคัน ซึ่งขอแค่ครึ่งเดียวก็เป็นปริมาณที่เยอะจนน่าสนใจจะเปิดธุรกิจใหม่แล้ว

ส่วนฝั่งอังกฤษ คือ Aston Martin กับโปรแกรมที่เรียกว่า Heritage EV ที่เปิดตัวต้นแบบมาเมื่อปี 2018 ซึ่งตอนนั้นพวกเขาดัดแปลงรถสปอร์ตเปิดประทุนรุ่น DB6 Mk II Volante รุ่นปี 1970 ให้สามารถใช้ชุดขับเคลื่อนและแพ็กแบตเตอรี่ของระบบที่จะใช้กับรถยนต์รุ่น Repide E เช่นเดียวกับ Jaguar ที่เคยเปิดตัว e-Type EV ออกมาและถูกใช้ในการเดินทางออกจากงานเลี้ยงหลังพระราชพิธีเสกสมรสของเจ้าฟ้าชายเฮนรี่และเมแกน มาร์เคิลเมื่อปี 2018

โดยทั้ง 2 โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากการหาทางออกเพื่อรับมือกับประกาศของรัฐบาลอังกฤษ ที่จะแบนการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในในปี 2040 ซึ่งแน่นอนว่ารถยนต์คลาสสิกทั้งหลายจะได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ ถ้ายังคิดที่จะออกมาโลดแล่นบนท้องถนน

Source