สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ “คนรวยในเอเชีย” ถือเงินสดเพิ่มขึ้นเป็น 40% เพื่อรอโอกาสลงทุนในตลาดเงินและหุ้นนอกตลาด หลังวิกฤตโรคระบาดจบสิ้น
Joseph Poon หัวหน้าฝ่ายไพรเวท แบงกิ้งของ DBS Group สถาบันการเงินที่ดูเเลลูกค้ามั่งคั่งรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังการเเพร่ระบาดของ COVID-19 กลุ่มลูกค้านักลงทุนรายใหญ่ของธนาคาร ได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินสดเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ราว 40% ของพอร์ต จากเดิมเคยอยู่ที่ราว 30% ก่อนช่วงวิกฤต
“การที่ลูกค้าถือเงินสดมากกว่าปกติ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก โดยลูกค้าที่มีพอร์ตลงทุนอย่างน้อย 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นไป เชื่อว่าตลาดจะมีโอกาสที่ดีในอนาคต หลังจาก COVID-19 หายไป”
ผู้บริหารของ DBS เผยอีกว่า ตอนนี้กลุ่มลูกค้าเศรษฐีในเอเชีย กำลังพิจารณาที่จะลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจโลจิสติกส์ เเละบางคนเริ่มวางแผนที่จะลงทุนต่อในธุรกิจส่วนตัว หรือขยายธุรกิจร่วมกับพันธมิตร
จากข้อมูลที่รวบรวมโดย Bloomberg ระบุว่า หุ้นนอกตลาด (Private Equity Firm) ถือเงินสดอยู่ถึง 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากเกิด COVID-19 ทำให้ต้องหยุดการตกลงซื้อขายหุ้น
อย่างไรก็ตาม การถือเงินสดจำนวนมาก อาจทำให้ลูกค้า “พลาดโอกาส” ที่จะลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยดัชนี MSCI AC Asia Pacific เพิ่มขึ้นประมาณ 43% นับตั้งแต่ระดับต่ำสุดในเดือนมีนาคม
สำหรับธุรกิจของ DBS Private Bank ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีเงินไหลเข้าสุทธิเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยเงินทุนเหล่านี้ มาจากหลายเเห่ง ทั้งจากธุรกิจครอบครัวในอเมริกา ยุโรปและที่อื่นๆ ที่มองว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายที่แข็งเเกร่ง
เเม้ในช่วงวิกฤต COVID-19 จะเจอมรสุมเศรษฐกิจหนักหนาสาหัส เเต่ตลาดกลุ่ม “ลูกค้ามั่งคั่ง” ยังเนื้อหอมเสมอ เป็นโอกาสของธุรกิจ Wealth Management หรือ Private Banking จะเข้ามาเจาะใจลูกค้ากระเป๋าหนัก
ปัจจุบัน DBS Private Bank ให้บริการลูกค้าที่มีสินทรัพย์อย่างน้อย 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 114 ล้านบาท) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีอัตราการเติบโตจากปีที่แล้ว 7% ขณะเดียวหัน DBS กำลังจะขยายตลาดนอกสิงคโปร์ เเละตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มทรัพย์สิน 2 เท่าตัว โดยในไทยตั้งเป้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ให้ได้ภายในปี 2023 นอกจากนี้ ธนาคารยังต้องการขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์ด้วย
ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของไทย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป มีการเติบโตในอัตราสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากรายงานปี 2019 มูลค่าความมั่งคั่งของกลุ่มนี้มีถึง 10 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 9.9%