คอนเทนต์ดี ๆ ที่ให้สาระความรู้ที่แฝงไว้ด้วยความสนุก ถูกอัพโหลดขึ้นบน YouTube มากขึ้นทุกวัน หลายช่องมีผู้ติดตามมากกว่าแสนคน ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของเจ้าช่องผสมกับความสดใหม่ของเนื้อหาสามารถตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของคนดูแต่การเป็น Content Creator ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากนั้น..คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คงไม่ยากเกินความตั้งใจ วันนี้ 3 ครีเอเตอร์บนช่อง YouTube อย่าง นิติการณ์ ประกอบธรรม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท WHO IS YOUR SISTER เจ้าของช่อง “ormschool” (ออมสกูล) สรธร วัฒนามาลาชัย (ที) เจ้าของช่อง “คุยการเงินกับที” และ ณัฏฐ์ เต็งชาตะพันธุ์ (นัท) เจ้าของช่อง “Peanut Butter” (พีนัทบัตเตอร์) ที่จะมาบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจ จุดเด่นและเทคนิคการทำช่องความรู้ให้น่าติดตามถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ช่องสายบันเทิงก็ตาม
“ormschool” (ออมสกูล) ความรู้ดีดีที่ฟรี ไปถึงทุกคน
นิติการณ์ ประกอบธรรม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท WHO IS YOUR SISTER เจ้าของช่อง “ormschool” (ออมสกูล)เล่าจุดเริ่มต้นการเกิดช่องว่า“ormschool” มาจากความต้องการที่อยากให้ความรู้ดีๆ ไปถึงทุกคนได้ฟรีจึงเลือกทำคอนเทนต์ความรู้ด้านวิชาการ เพราะมองว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตนักเรียน นอกเหนือจากความ+บันเทิง
“ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจยอดวิวคนดูเท่าไรเลย ไม่ได้มองด้วยซ้ำว่าหนึ่งคลิปจะมีคนดูเท่าไรเพราะว่าเพียงหนึ่งวิวที่เราช่วยน้องสักคนได้ โดยการส่งความรู้ผ่านทางYouTube ก็มีค่าพอในตัวเองอยู่แล้ว จุดเด่นของคอนเทนต์ในช่องที่แตกต่างจากช่องอื่น ๆ เพราะเราเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีอะไรยากแต่เราขาดคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจง่าย และก็ใส่สิ่งที่เรียกว่าคำอธิบายที่เข้าใจง่ายลงไป และการสอนจะใช้ภาษาพี่สอนน้องมากกว่าเป็นทางการในห้องเรียน และเราคิดว่าสิ่งที่เป็นจุดเด่นของช่องเราคือคำอธิบายที่เข้าใจง่ายๆ”
อย่างไรก็ตามช่วงโควิด-19 คนไทยต้องอยู่บ้าน อัตราผู้ชมช่อง YouTube มากขึ้นก็มีผลกับ “ormschool” บ้างแต่ไม่มาก โดยจำนวนผู้ติดตามของช่อง ormschool ตอนนี้อยู่ที่ 216,000 คน ถือว่ามากพอสำหรับช่องที่ไม่เคยทำประชาสัมพันธ์ ไม่โฆษณาหรือทำการตลาดอะไรเลยเป็นช่องสำหรับคนที่แสวงหาความรู้เท่านั้น
สำหรับทิศทางในอนาคตนั้น จะยังคงต่อยอดคอนเทนต์ที่เป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักเรียน นักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงต่อไป เพราะความรู้เป็นสิ่งที่เรียนได้ไม่มีวันหมด โดยยังให้น้ำหนัก 99% เป็นความรู้ในการเรียนตั้งแต่ป.6 มัธยมปลายจนถึงมหาวิทยาลัย สอนทำการบ้านเป็นวิชาพื้นฐาน ฟิสิกส์เคมี ชีวะ คณิตอังกฤษ และสังคม ขณะเดียวกันก็จะเพิ่ม Live1% เพื่อแนะนำการเรียนให้น้องๆ เนื่องจากพบปัญหาว่าพวกเขาต้องการคำแนะนำ
“คุยการเงินกับที” แค่เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ๆ
สรธร วัฒนามาลาชัย (ที) เจ้าของช่องคุยการเงินกับที ที่มีผู้ชมเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการเงินเพิ่มมากขึ้น บอกว่าหลังเกษียณตัวเองก็มาเป็นนักลงทุนอิสระ ได้เจอเพื่อนรุ่นน้องชวนทำ YouTube โดยบอกว่ามีหลายคนอยากเรียนรู้เรื่องการเงินแต่ไม่รู้จะไปปรึกษาใครนั่นคือความคิดแรกที่ทำให้เขาเข้ามา และเลือกทำคอนเทนต์ด้านการเงินและเศรษฐกิจ สำหรับคนที่สนใจทางด้านการเงิน การลงทุน โดยมีจุดเด่นที่นำเนื้อหาทางการเงิน การลงทุน มาทำคอนเทนต์ให้เป็นเรื่องสนุกเข้าใจง่ายแทนการทำคลิปบันเทิงแบบที่หลายคนนิยม
“การเสพคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะคำว่าคลิปและความบันเทิงมันไม่ใช่แค่เราต้องไปดูคลิปตลกหรือละครที่มันสนุก สำหรับผมจะรู้สึกสนุกเวลาไปเจอคนเก่งๆผมได้พูดคุยในรายละเอียดลึกๆ คนที่สนใจเรื่องเดียวกันคือความสนุก สำหรับ “ช่องคุยการเงินกับที” ผมใช้คำว่าการเงินเพื่อที่จะไม่ได้ปิดกั้นตัวเอง การเงินของผมประกอบด้วย Corporate finance Business การวิเคราะห์หุ้น การวิเคราะห์ธุรกิจ เราไม่ได้มองเห็นว่าต้องสร้าง Content ในออนไลน์อย่างเดียว ผมเองก็จะมีการสร้าง community สร้างกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกันมีการให้ความช่วยเหลือ เหมือนกับไปเปิดสัมมนาฟรีกับเพื่อนๆบ้าง ช่วยเหลือคนอื่น เช่น ผมเก่งการเงินเพื่อนผมเก่งธุรกิจ เพื่อนอีกคนหนึ่งเก่ง Business เขาก็จะมาสร้างเป็น community ให้หลากหลายทางออนไลน์ออฟไลน์ด้วย”
ที ยังกำหนดทิศทางช่องของเขาในอนาคตว่า จะเน้นในเรื่องของการบริหารจัดการเงินมากขึ้นโดยทำเป็น Content เชิงลึกมากขึ้นด้วยการสัมภาษณ์ผู้บริหาร บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในเชิงวิเคราะห์เจาะลึก นอกจากนี้ยังมีแผนไปร่วมกับช่องอื่นและหาคนที่อยู่ในบริบทเดิม เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าการเงินมันอยู่ในทุกเรื่องของชีวิตเรา”
DIY and Creative Lifestyle ชีวิตธรรมดาจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป กับ Peanut Butter
ณัฏฐ์ เต็งชาตะพันธุ์ (นัท) สาวหวานที่มีความครีเอทีฟสูง ผู้หลงใหลงาน DIY and Creative Life Styleเล่าจุดเริ่มต้นทำช่องของเธอว่า มาจากการได้ดูคลิปของคนอื่นแล้วอยากทำบ้าง จึงเริ่มเก็บเงินซื้อกล้องเอามาลองถ่ายเองดูค่ะ จนกลายเป็นช่อง Peanut Butter ผลงานแรกๆจะเป็นเรื่องความสวยความงาม แต่ทำให้ทำได้สักพักก็ลองเปลี่ยนเนื้อหาเป็นการใช้เครื่องเขียนต่าง ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ชอบ ผลคือเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น
คอนเทนต์ของนัทมีจุดเด่นที่เน้นให้ความรู้ สอนเทคนิคการอ่านหนังสือ เทคนิคการสอบ การจด ในแบบของนัท โดยสื่อสารให้คนเข้าใจง่าย ดูสบาย ตามคอนเซ็ปต์ 3 สบาย คือสบายหู สบายตา สบายใจ สบายหูคือพวกเพลงซาวน์ฟังได้เรื่อยๆเพลินๆ สบายตา คือ สีคลิปพาสเทลละมุนๆสามารถเอาไปปรับใช้ได้ เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายหลักๆคือ 18-24 ปี วัยเรียนจนถึงวัยทำงานตอนต้น
นอกจากการนำความรู้ การเรียนหรือใช้ชีวิตธรรมดา หรือ DIY and Creative Lifestyle มาสร้างคอนเทนต์บน YouTube แล้ว เธอยังพยายามจะนำเสนออะไรใหม่ๆมากขึ้น เริ่มหาความรู้จากข้างนอกโดยให้ผู้เชี่ยวชาญสอนแล้วเราก็เอาออกมาทำเป็นคอนเทนต์เพื่อถ่ายทอดไปให้ผู้ชม ถือเป็นการต่อยอดจากตอนแรกเช่น พีนัทเอกซ์พลอร์ (Peanut Explore) ด้วยการทำ workshop สนุกๆ รวมถึง “พีนัทพาช้อป” เริ่มพาไปข้างนอกไปดูร้านเครื่องเขียนต่างๆ ไปหากิจกรรมอย่างอื่นที่เจ้าของช่องเองก็ไม่เคยทำ ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วก็เอามาถ่ายทอดให้คนดูอีกที โดยเริ่มต่อออกไปข้างนอกมากขึ้น อย่างพวก workshop ทำเทียน การเขียน Calligraphy กิจกรรมอะไรที่ยังเป็น mood and tone ของช่องต่อไป
จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่มียอดคนติดตามมากว่าแสนคน ทั้ง 3 ครีเอเตอร์บอกถึงความภาคภูมิใจตรงกัน ว่า พวกเขารู้สึกดีใจที่คนดูบอกว่าสามารถเอาเทคนิคที่พวกเข้าได้ถ่ายทอดไปใช้ได้จริงๆ ทำให้มีแรงบันดาลใจและกำลังใจในการทำงานมากขึ้น