สิ้นไตรมาส 2 ของปี ‘ดีแทค’ (Dtac) มีฐานลูกค้าจำนวนทั้งสิ้น 18.8 ล้านราย โดยแบ่งเป็นลูกค้าเติมเงิน 12.71 ล้านราย รายเดือนจำนวนกว่า 6 ล้านราย อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกค้าของดีแทคนั้นลดลงถึง 8.35 แสนราย โดยจำนวนลูกค้าที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าเติมเงินถึง 7.57 แสนราย ส่วนลูกค้ารายเดือนลดลง 7.8 หมื่นราย
จะเห็นว่าจำนวนลูกค้า ‘เติมเงิน’ ที่ลดลงมากขนาดนี้ ส่งผลให้ดีแทคไม่สามารถอยู่เฉยได้อีกต่อไป
ทุ่ม 80 ล้านบาท ปรับแบรนดิ้ง ‘ดีแทคเติมเงิน’
ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า เนื่องจากประชากรไทยกว่า 80% ใช้งานแบบ เติมเงิน หรือ พรีเพด ส่งผลให้การเเข่งขันในตลาดดุเดือดตลอดมา ดังนั้น ดีแทคจึงได้ทุ่มเงินปรับแบรนดิ้ง ‘ดีแทคเติมเงิน’ แค่ในเฟสแรกถึง 80 ล้านบาท เพื่อสื่อสารใน 3 เรื่องคือ สัญญาณดี ราคาดี และบริการใจดี พร้อมย้ำว่านี่ไม่ใช่ แคมเปญระยะสั้น ดังนั้น สิ่งที่ทำตอนนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นในการเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด
“เราพบว่าในช่วง COVID-19 ส่งผลให้การใช้งานดาต้าในต่างจังหวัดพุ่งขึ้น 5 เท่า และลูกค้าเติมเงินใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น 70% แต่เพราะลูกค้าเติมเงินส่วนใหญ่นั้นทำงานหาเช้ากินค่ำได้เงินรายวัน ดังนั้นด้วยสภาวะเศรษฐกิจทำให้เขาไม่มีเงินเหมือนเดิม เขาจึงเติมเงินน้อยลงแต่ถี่ขึ้น”
ให้มากกว่าถึง 3ดี
จากพฤติกรรมที่ระมัดระวังการใช้เงิน และเติมเงินเป็นรายวัน ดังนั้น ดีแทคจึงได้ปรับแพ็กเกจให้ ‘ราคาดี’ เน้นที่ ‘แพ็กรายวัน’ เช่น 1 วัน 3 วัน และ 7 วัน เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย โดยพบว่าปัจจุบัน 50% ของลูกค้าซื้อแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตรายวัน และในจำนวนนี้ประมาณ 60-70% ซื้อทุกวัน นอกจากนี้ยังออกแพ็กเกจตามความต้องการใช้งาน อาทิ แพ็กเกจสำหรับไรเดอร์ส่งอาหาร แพ็กเกจสำหรับนักเรียนนักศึกษา เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของ ‘สัญญาณ’ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่หลายคน ‘กังวล’ ที่สุด ดีแทคก็ได้ระบุว่าได้เตรียมนำคลื่น 700 MHz มาใช้ งาน 4G ซึ่งปัจจุบันรอเพียง กสทช. ได้มอบใบอนุญาตใช้งาน โดยไม่เกินต้นปีแน่นอน และระหว่างนี้ ดีแทคมีสถานีฐานเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 1 สถานี พร้อมตั้งเป้าจะขยายบริการ 4G-TDD บนคลื่น 2300 MHz ที่ให้บริการบนคลื่นทีโอทีเป็นจำนวนมากกว่า 20,000 สถานีฐานภายในปี 2563 และเร่งขยาย Massive MIMO ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า เพื่อให้ ‘สัญญาณดี’ อย่างที่ลูกค้าต้องการ
สุดท้าย ‘บริการใจดี’ ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของดีแทคที่มีมานานถึง 17 ปีด้วยกัน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 11 บริการด้วยกัน โดยภายใน 8 เดือนที่ผ่านมามีลูกค้าใช้บริการกว่า 97 ล้านครั้ง โดยบริการ ‘ใจดีให้ยืม’ เป็นบริการที่ถูกใช้งานมากที่สุด และล่าสุด ดีแทคได้ออกบริการใหม่ ‘ใจดีช่วยค่ายา’ โดยลูกค้าสามารถซื้อคูปองราคา 89 บาท เพื่อใช้ซื้อยาได้ในมูลค่า 200 บาท ปัจจุบันมีร้านที่ร่วมรายการกว่า 400 แห่งใน 77 จังหวัด โดยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 700 ร้านภายในสิ้นปีนี้ และขยายให้ครบทุกตำบลหรือกว่า 7,000 ร้านภายในปีหน้า
จับมือ 3 พันธมิตรใหม่ปูพรหม ‘ขายซิม’
อย่าง ‘ทรู’ เอง ไม่ได้มีแค่ ‘ทรู ช้อป’ ในการขายซิม แต่ยังมีทั้ง ‘ทรู คอฟฟี่’ และ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ขณะที่เบอร์ 1 อย่าง ‘AIS’ ก็ได้จับมือกับ ‘เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล’ เปิดบริการ AIS Corner ในร้าน ‘ท็อปส์ เดลี่’ และ ‘แฟมิลี่มาร์ท’ ดังนั้น ต่อให้ ใจดี แค่ไหน แต่ถ้าผู้บริโภคไม่ได้ซิมไปใช้ ก็ไม่มีทางได้ใจ ดีแทคจึงต้องเร่งเดินหน้าหาพันธมิตรในการ ‘จำหน่ายซิม’ เพราะในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ร้านตู้ขายมือถือต่าง ๆ ก็พากันปิดตัวลงไปในช่วง COVID-19 ส่งผลให้ร้านจำหน่ายซิมก็ยิ่งลดลงไปอีก
ซึ่งดีแทคก็ได้ 3 พันธมิตรใหม่เป็นบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือปั้มน้ำมันพีที, บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้โค้ก และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะช่วยกระจายซิม ‘ซิมเติมสุข’ รวมกันจำนวน ‘5 แสนซิม’ ในช่วง 2 เดือนแรก นอกจากนี้ดีแทคพยายามหาพันธมิตรเป็น ‘ร้านค้าท้องถิ่น’ ไม่ว่าจะร้านขายของชำ, ร้านกาแฟ และร้านขายยา รวมถึงมี ‘รถดีแทค’ เพื่อกระจายขายซิม อาทิ ‘ซิมแฮปปี้เน็ต’ สำหรับผู้ที่เน้นใช้อินเทอร์เน็ต และ ‘ซิมแฮปปี้คอล’ สำหรับเน้นโทร
“เป้าหมายของเราคือ ต้องการให้ลูกค้าได้ลองใช้ซิม ซึ่งสิ่งสำคัญจะต้องนำซิมไปอยู่ในมือของลูกค้าก่อน ดังนั้นเราจึงจับมือพาร์ตเนอร์เพื่อแจกซิมเติมสุข โดยซิมนี้จะให้อินเทอร์เน็ตใช้งานสัปดาห์ละ 1 GB นาน 52 สัปดาห์ หรือ 1 ปี”
แม้จะไม่ระบุว่าตั้งเป้าอย่างไรกับเฟสแรกของการปรับแบรนดิ้ง ‘ดีแทคเติมเงิน’ ดังนั้น จากนี้คงต้องจับตาว่าที่ทำไปทั้งหมดจะ ‘ได้ใจ’ ลูกค้าแค่ไหน เพราะอีก 2 ค่ายคงไม่ยอมอยู่เฉยให้มาโกยลูกค้าออกจากค่ายได้ง่าย ๆ เช่นกัน