จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชากรในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลายเป็นประชากรออนไลน์ที่ต้องเสพข่าวสาร รับข้อมูลผ่านทางสื่อจากช่องทางอินเทอร์เน็ตในทุกๆ วัน
จากตัวเลข 16 ล้านคน หรือ 0.4% ของประชากรโลกจากการเก็บข้อมูลของ IDCเมื่อเดือนธันวาคมปี 1995 แต่จากการเก็บข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2009 หรือ15 ปีผ่านไป จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงถึง 1,734 ล้านคน หรือประมาณ 25.6% ของประชากรโลก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Social Media มีส่วนอย่างมากในการเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วทั้งโลก และอาจกลายเป็นส่วนสำคัญในการขยายตัวของประชากรอินเทอร์เน็ตในอนาคตอีกด้วย
แต่ท่ามกลางจำนวนผู้ใช้ Social Media นับล้าน นักการตลาดได้แบ่งพวกเขาออกมา 4 กลุ่ม ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรม ความถี่ในการใช้ และความสนิทชิดเชื้อระหว่าง Users และ Social Media
Watcher ขอดูอยู่ห่างๆ
Social Media User กลุ่มนี้อาจไม่ใช่ Opinion Leader ที่สร้างแรงกระเพื่อมในทุกความเคลื่อนไหวทางผ่านการโพสต์ข้อความ หรือคอมเมนต์ เพราะพฤติกรรมการใช้ของกลุ่ม Watcher ไม่ได้ใหเวลามากมายนักกับ Social Media เพียงแค่สร้าง Profile ไว้ตามเว็บโซเชี่ยลต่างๆ ทั้ง Twitter Facebook หรือ Linkedln แต่ไม่ได้โพสต์ อัพเดตสถานะใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งอ่านอีเมล เมื่อมีคน Follow ใน Twitter เขียนบนกระดานของคุณใน Facebook หรือส่งคำเชิญจาก Linkedln
Fringe Follower ตามแต่ไม่กระชั้นชิด
พฤติกรรมการใช้ของ Fringe Follower แทบไม่ต่างจากกลุ่ม Watcher เท่าไร พวกเขาสร้าง Profile ไว้กับ Social Mediaหลายแห่ง เพียงแต่ว่ากลุ่มนี้มีความพยายามในการติดตาม และอัพเดตสถานะใหม่ๆถึงแม้ว่าจะแค่อาทิตย์ละครั้งก็ตาม
นอกจากนี้ Fringe Follower ยังใช้เครื่องมือในการค้นหา หรือจัดการ อย่างเช่น TweetDeck หรือแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ในการติดตามบทสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
Social Butterfly หนุ่มสาวสังคมจัด
ความหมายโดยทั่วไป Social Butterfly หมายถึง กลุ่มคนที่ชอบเข้าสังคม มีเพื่อนเยอะหลากหลายกลุ่ม ไม่ติดอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะผลัดหมุนเวียนต่างกลุ่มเรื่อยๆ คล้ายกับพฤติกรรมของผีเสื้อ ที่มักบินจากดอกไม้ดอกหนึ่งไปยังดอกอื่นพฤติกรรมของกลุ่ม Social Butterfly ใน Social Media ก็ไม่ต่างกันมากนัก
กลุ่มสังคมจัดใน Social Media สร้าง Profile ของตัวเองไว้ในทุกเว็บโซเชี่ยลที่ได้รับความนิยม อัพเดตชีวิตประจำวันจนเป็นเรื่องปกติ เชิญเพื่อนให้เข้ากลุ่ม Linkedln รวมทั้ง Retweet และ #followfriday คนอื่นๆ ใน Twitter เป็นประจำ ทิ้งคอมเมนต์ไว้ในบล็อกต่างๆ และตามติดบทสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากที่สุดเท่าที่เป็นได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยใช้แอพพลิเคชั่นเป็นตัวช่วย
บรรดาเซเลบฯ มักจัดอยู่ในกลุ่มนี้ อย่างเช่น พาที สารสิน ซีอีโอของนกแอร์ หรือกาละแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง รวมทั้งดีเจ เจ๊แหม่ม แห่งคลื่นกรีนเวฟ 106.5 ซึ่งความเคลื่อนไหวของพวกเขาใน Social Media ส่วนใหญ่มักส่งผลต่อการสร้างแบรนด์ตัวเอง หรือต่อธุรกิจที่พวกเขาดูแล และกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดส่วนบุคคลของซีอีโอยุค 3.0 ทั้งหลาย
Addict ติดงอมแงม
Addict กลุ่มสุดขั้วของ Social Media User ที่เสพติดเข้าขั้นงอมแงม เพราะไม่ว่าจะกินจะนอน ขับรถ เดินเล่น หรือออกกำลังกาย ทุกลมหายใจเข้าออกเป็น Social Media ล้วนๆ
Addict เริ่มต้นชีวิตในแต่ละวันด้วยการเช็กเว็บโซเชี่ยลด้วยโทรศัพท์มือถือก่อนที่จะลุกจากเตียง และเพื่อไม่ให้พลาดข้อความหรือบทสนทนาใดๆ พวกเขาก็มักวางโทรศัพท์มือถือไว้ตรงหัวเตียงเพื่อเช็กครั้งสุดท้ายก่อนนอนในตอนกลางคืน
ข้อความที่ Text คุยกับเพื่อนส่วนใหญ่ไม่เว้นแม้กระทั่งระหว่างมื้ออาหารกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว พวกเขามักกังวลว่าจะพลาดอะไรไประหว่างกำลังขับรถอยู่ จึงเช็กและตอบกลับทุกครั้งที่มีโอกาสโดยเฉพาะตอนติดไฟแดง
อาการติดเข้าขั้นรุนแรงแบบนี้ส่วนใหญ่มักเกิดกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Geek อย่างเช่น ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เจ้าของตลาดดอทคอม ที่เคยแม้กระทั่งทวีตในขณะที่เจ้าตัวกำลังขับรถด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือแม้กระทั่งในงามสัมมนาก็ยังใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายวิดีโออัพโหลดให้ดูกันสดๆ
ต่างกลุ่ม ต่างพฤติกรรม หากต้องการสื่อสารให้เข้าถึง Social Media User คงต้องใช้กลยุทธ์และรูปแบบการสื่อสารที่ต่างกันออกไป
แต่ก่อนอื่นนักการตลาดคงต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า กลุ่มเป้าหมายของคุณจัดอยู่ใน Social Media User กลุ่มไหน