สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีนี้ถือเป็นหนึ่งตัวเร่งสำคัญที่ย้ำเตือนให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะการเงิน การแพทย์ ค้าปลีก ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัลที่อะไรก็ไม่แน่นอน โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเดำเนินไปได้อย่างราบรื่นในยุคสมัยนี้คือ “ระบบคลาวด์” ที่ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่องค์กรเทคโนโลยีพูดถึงมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ยังมีองค์กรจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้น หรือบริหารจัดการระบบคลาวด์นี้อย่างไร
Kief Morris ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคลาวด์และ Principal Consultant ของบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก ThoughtWorks วิเคราะห์ไว้ในพอดแคสต์ Pragmatism in Practice ในหัวข้อ “Building Business Resilience in the Digital Era” ว่า แต่เดิมนั้น องค์กรหลายแห่งได้เก็บข้อมูลไว้ในศูนย์ข้อมูลทั้งหมด และพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการออกแบบระบบใหม่เพื่อเปลี่ยนไปสร้างเซิร์ฟเวอร์บนศูนย์ข้อมูลอื่นให้ได้ผลดี และถึงแม้จะย้ายไปใช้ระบบคลาวด์ได้แล้ว ก็มักคิดว่าระบบจะสามารถสเกลตัวเองได้โดยอัตโนมัติ จึงไม่ได้มีแผนรองรับอะไรไว้เผื่อเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ทั้งที่จริงแล้ว องค์กรต้องมีคนที่มีองค์ความรู้ดูแลส่วนนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่ดี
“แค่ปรับเปลี่ยนเรื่องเทคโนโลยีนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องดูด้วยว่าทีมงานในองค์กรจะทำงานร่วมกันอย่างไร เหล่าวิศวกรจะทำงานกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร บางทีเราจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างองค์กรด้วย เพราะวิธีการทำงานแบบแยกกันทำ ตามแบบเดิมๆ จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร” Morris กล่าว พร้อมเสริมว่าวิธีการทำงานต้องเปลี่ยนเป็นแบบ “สร้างไป ใช้งานไป” เช่นการรวมทีมนักพัฒนาและทีมปฏิบัติการเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า DevOps ซึ่งเป็นการทำงานแบบ “Continuous Delivery” ที่มีการตรวจสอบและแก้ไขงานไปเรื่อย ๆ ระหว่างดำเนินงาน โดยไม่รอการตรวจสอบช่วงโค้งสุดท้ายแบบดั้งเดิม
Morris เล่าต่อว่าการจะทำงานให้ได้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามมากมาย เช่น ธุรกิจการเงิน ควรจะมีการพัฒนาระบบอัตโนมัติ (automation) ที่ทำให้สามารถตรวจสอบกระบวนการระหว่างทางได้ว่าใครทำอะไร เกิดอะไรขึ้น และมีการบันทึกการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนเก็บไว้เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีทีมงานที่มีทักษะและความรู้ที่เหมาะสม องค์กรควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานของตัวเองจนเข้าใจและรู้วิธีการทำงานของคลาวด์อย่างแท้จริง ถ้าว่าจ้างบริษัทภายนอกมาทำ เพราะบอกว่าไม่ใช่ความถนัดของตัวเองหรือไม่มีความรู้ องค์กรจะสูญเสียศักยภาพในการใช้งานคลาวด์ได้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ขาดความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจเมื่อมีเหตุการณ์ในอนาคตที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนระบบ
“สิ่งที่ผมบอกลูกค้าของเราเสมอคือ อย่าเพียงว่าจ้างพวกเราเข้าไปให้สร้างอะไรบางอย่างและจากไปเฉยๆ แต่ควรให้ทีมงานคุณมาทำงานร่วมกับเรา เพื่อเรียนรู้ และทำความเข้าใจไปด้วยกันว่าเรากำลังสร้างอะไร และจะดูแลบริหารจัดการต่ออย่างไร นี่จะเป็นการป้องกันการติดพันกับแพลตฟอร์มคลาวด์ใดแพลตฟอร์มหนึ่งจนเกินไปและไม่สามารถย้ายไปใช้งานที่อื่นได้ง่าย” Morris พูดอย่างตรงไปตรงมาในฐานะบริษัทที่ถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านซอฟ์ตแวร์ เขายังอธิบายเพิ่มว่าแพลตฟอร์มคลาวด์ในตลาดมีหลากหลายที่มีข้อดีแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้ แต่การจะรู้ว่าองค์กรเราจำเป็นต้องใช้หรือเหมาะกับแพลตฟอร์มใดบ้าง และจะบริหารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีการทดสอบและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีใครสามารถตอบได้ตั้งแต่วันแรกว่าใช้ระบบไหนร่วมกันแบบไหนแล้วดีที่สุด แม้จะมีเครื่องมือช่วยอย่าง Kubernetes ก็ตาม และนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมองค์กรควรมีทีมงานที่มีทักษะและความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
หนึ่งในองค์กรที่ลงทุนในเรื่องคลาวด์และรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่อย่างชัดเจน ตามความคิดของ Morris คือ Zoom ที่มีทั้งศูนย์ข้อมูลและคลาวด์ผสมผสานกัน โดยมีกลยุทธ์เตรียมไว้ชัดเจนว่าจะสเกลต่อไปอย่างไรเมื่อจำเป็น ส่วนลักษณะองค์กรที่ Morris มองว่าอาจท้าทายเป็นพิเศษในการปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤต คือธุรกิจค้าปลีกที่ต้องผสมผสานการใช้งานข้อมูลทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน
ในส่วนของการเลือกแพลตฟอร์มคลาวด์ ต้นทุนที่ต้องใช้จ่ายก็เป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงในระยะยาว แม้ระบบคลาวด์จะทำให้ไม่ต้องเสียค่าฮาร์ดแวร์และค่าซ่อมบำรุง แต่เมื่อดำเนินการไปเรื่อยๆ จะมีค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้นจากการที่ต้องมีทีมงานที่มีทักษะเพียงพอและการสร้างระบบใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม Morris ชี้ว่าควรพิจารณาถึงความพิเศษของคลาวด์ในแง่ที่ว่าเราสามารถเปลี่ยนและแก้ไขอะไรต่างๆ ได้ง่ายมากโดยแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยด้วย และการลงทุนในคลาวด์จะคุ้มค่าอย่างยิ่ง หากองค์กรมีศักยภาพในการพร้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและปลอดภัย และเรียนรู้ได้อย่างว่องไว
สำหรับทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้งานระบบคลาวด์ภายในองค์กรในอนาคต ช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้านี้ Morris มองว่ายังมีเรื่องที่เราต่างต้องเรียนรู้อีกมาก เขากล่าวว่า “สิ่งที่เรากำลังทำอยู่กับ Infrastructure as Code ในตอนนี้ เปรียบได้กับสิ่งที่เราเรียนรู้เมื่อสิบหรือยี่สิบปีก่อนในโลกการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน ยังมีเรื่องต่างๆ อีกมากให้เราค้นหาเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการกับตัวโครงสร้างพื้นฐาน เช่น วิธีการจัดองค์ประกอบและโครงสร้างภายในของซอฟต์แวร์ การทดสอบการใช้งาน แต่ต่อไปเราจะค่อย ๆ เห็นการพัฒนาเรื่องเหล่านี้จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการซื้อขายที่ทำให้เราไม่ต้องกังวลกับปัญหาเหล่านี้อีกต่อไป ซึ่งจะทำให้เรามีเวลาไปมุ่งเน้นกับสิ่งที่สำคัญต่อลูกค้าและธุรกิจของเราอย่างแท้จริง”
รับฟังพอดแคสต์ Pragmatism in Practice ตอนนี้ได้ที่: https://www.thoughtworks.com/podcasts/building-business-resilience-in-the-cloud-era