จับกระเเส “ตลาดเกม” บูมใน “เมืองเล็ก” ของจีน รายได้กว่า 70% มาจากเกมเมอร์ต่างจังหวัด

ตลาดเกมกำลังเฟื่องฟูตามเมืองเล็กๆ ในจีน จากรายงานของ Niko Partners ระบุว่า ยอดขายวิดีโอเกมในจีนนั้นมาจากเมืองชั้น 3-5 เป็นสัดส่วนถึง 70% สอดคล้องกับจำนวนเกมเมอร์ในจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองรองถึง 76% เมื่อเทียบกับทั้งประเทศ

การเติบโตของธุรกิจเกมในจีนนั้นน่าจับตามอง เพราะจีนนับเป็นตลาดเกมที่ใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ทำรายได้มากถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ตามข้อมูลของ Newzoo

การเเบ่งอันดับเมืองในจีน ขึ้นอยู่กับตามจำนวนประชากรและขนาดของเศรษฐกิจ โดยเมืองใหญ่ๆ อย่างปักกิ่งและเซินเจิ้น จะเรียกว่าเป็นเมืองชั้น 1 ส่วนเมืองชั้นรองลงมาเป็นเมืองที่มีขนาดเล็กกว่า

เเม้จะเรียกว่าเป็นเมืองเล็กเเต่สำหรับประเทศที่มีประเทศที่มีประชากร 1.4 พันล้านคนอย่างจีน ในเมืองเล็กๆ ก็มีประชากรเกิน 1 ล้านคนแล้ว ดังนั้นเมืองชั้น 3-5 ของจีน จึงเป็นตลาดเกมที่น่าสนใจเเละหลายบริษัทต้องการจะเจาะตลาด

Lisa Cosmas Hanson ผู้ก่อตั้งเเละประธานของ Niko Partners บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยตลาด กล่าวถึง พฤติกรรมเกมเมอร์ในจีนว่า ปัจจัยที่ทำให้ตลาดเกมในเมืองรองของจีนบูมขึ้น เป็นเพราะผู้คนปรับตัวเเละเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น หลังมีการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในเมืองเล็กให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งโทรศัพท์มือถือที่ใช้เล่นเกมได้ก็ยังมีราคาถูกลงด้วย

การที่ยอดขายเกมส่วนใหญ่กว่า 70% มาจากเมืองชั้น 3-5 นั้น เป็นเพราะเมืองเล็กๆ มีเเหล่งความบันเทิงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ เช่น กรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ ผู้คนจึงเลือกใช้เวลาในบ้านหรือบนหน้าจอมากกว่า ซึ่งก็ทำให้บริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix โตในต่างจังหวัดเช่นกัน เกิดการเเข่งขันเเย่งเวลาผู้บริโภคมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ Netflix มีความกังวลต่อเกมดังอย่าง Fortnite มากกว่าคู่แข่งโดยตรง Disney + เสียอีก

Niko Partners เผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของเกมเมอร์จีนไว้ใน China Gamers Report อย่างน่าสนใจว่า นิสัยการใช้จ่ายของเกมเมอร์ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองรองของจีน แตกต่างจากคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่

ยกตัวอย่าง เช่น เกมเมอร์ในเมืองเล็กจำนวนมากมักจะ “keep the ads on” คือปล่อยให้มีการเเสดงโฆษณาในเกมที่เล่น เพราะพวกเขาไม่สนใจมันมากนัก อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงิน “น้อยกว่า” ในแอปพลิเคชันที่ต้องซื้อเเบบ “In-App Purchases” เเต่ยอดการใช้จ่ายโดยรวมยังค่อนข้างสูงกว่าในเมืองใหญ่ เพราะมีจำนวนเกมเมอร์ที่มากกว่านั่นเอง

เกมเมอร์ในในเมืองเล็กนั้น มีความเชื่อว่าเกมที่พวกเขา “เล่นฟรี” มักจะหารายได้ผ่านโฆษณา ซึ่งถ้าไม่น่ารำคาญมาก ก็ถือว่าถูกกว่าการซื้อเเอปพลิเคชัน หรือการจ่ายพรีเมียมที่มีการเรียกเก็บล่วงหน้าที่เเพงกว่า

“พวกเขารู้สึกว่าได้ดีลที่ดีเเล้ว เพราะรู้สึกว่าพวกเขาควบคุมการใช้จ่ายได้ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาก็ใช้จ่ายมากพอๆ กันนั่นเเหละ” Hanson กล่าวกับ CNBC

ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้คนไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ ได้ตามปกติ ส่งผลให้ยอดโหลดเกมในจีนพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดเกมมือถือในจีนที่ทำรายได้ทะลุ 5 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.25 เเสนล้านบาท) ในช่วงไตรมาสเเรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นมากถึง 40% เมื่อเทียบกับปีที่เเล้ว

นอกจากยอดดาวน์โหลดที่เพิ่มขึ้นเเล้ว ค่าใช้จ่ายในเกมก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้บรรดาบริษัทเกมต่างๆ ปรับกลยุทธ์การตลาด จากเดิมที่เน้นขายตัวเกมก็เปลี่ยนเป็นดาวน์โหลดฟรี แต่ไปเน้นการขายสินค้าในเกมแทน

 

ที่มา : CNBC , China Gamers Report