ลูกค้าผลัดเปลี่ยนเจนเนอเรชัน “ฟู้ดแลนด์” ต้องปรับตามให้ทัน ยุคใหม่ขอโฟกัสดึงลูกค้าวัยเริ่มทำงาน เปลี่ยนโฉมสาขาใหม่บนถนนนวมินทร์ให้เป็นสไตล์โมเดิร์น เปิดโซนสินค้า Grab & Go ให้ตรงวิถีชีวิตคนยุคใหม่ไม่ทำอาหาร เตรียมพร้อมโซนสินค้ากิฟต์ช็อปน่ารักๆ ดึงใจวัยหนุ่มสาว พร้อมอัปเดตสถานการณ์ปี 2563-64 ประคองตัวในทุกมิติ ลดต้นทุนและการลงทุนใหม่รับมือเศรษฐกิจฝืดเคือง
“อธิพล ตีระสงกรานต์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด เปิดเผยความเคลื่อนไหวของบริษัท ปีนี้มีการปรับตัวให้ตรงกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น จากปัจจุบันฟู้ดแลนด์มีลูกค้าหลักที่เป็นขาประจำคือกลุ่มวัย 40 ปีขึ้นไป แต่การเติบโตและความยั่งยืนในอนาคตทำให้บริษัทต้องดึงลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาเพิ่ม โดยหันเข็มทิศไปจับกลุ่มวัยเริ่มทำงานอายุประมาณ 25 ปีจนถึงไม่เกิน 40 ปี
อธิพลอธิบายว่า ฟู้ดแลนด์นั้นมีจุดแข็งในตลาดคือ “แผนกของสด” เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ จำหน่ายสินค้ากลุ่มพรีเมียมและมีหลากหลายให้เลือก ทำให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เหมาะกับครอบครัวที่มีคนทำอาหาร แต่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มักไม่ทำอาหารหรือทำอาหารน้อยลง ดังนั้น สินค้าที่จำหน่ายก็จะต้องปรับเปลี่ยนบ้างเพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิต
โดยล่าสุดมีการเปิดโซนอาหารแบบ Grab & Go ขึ้นที่สาขานวมินทร์ สาขาใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 63
โซนนี้ร่วมมือกับพันธมิตรแบรนด์ Gourmet Primo เป็นผู้ผลิตสินค้าให้ ปัจจุบันจำหน่ายอาหารประเภทแซนด์วิช สลัด เบเกอรี่ และคาดว่าจะขยายไปสู่อาหารพร้อมทานอื่นๆ เพิ่ม เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ
“เราเลือก Gourmet Primo เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเคเทอริ่งอยู่แล้ว บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตอาหารให้หลายสายการบิน เป็นเจ้าของร้านอาหารดัง เช่น เดอะ บราสเซอรี่, เรือนนพเก้า, อัล ซาราย ทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถผลิตอาหารที่สะอาด มีคุณภาพ” อธิพลกล่าว
ปัจจุบัน Gourmet Primo ใช้พื้นที่ 50-60 ตร.ม. คิดเป็นประมาณ 3% ของพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตสาขานวมินทร์ และจะเป็นสาขานำร่องเพื่อศึกษาการขายสินค้ากลุ่มนี้ ก่อนขยายไปสู่สาขาอื่นต่อไป โดยมองว่าจะเลือกสาขาที่อยู่กลางเมืองก่อน เพราะวิถีชีวิตผู้บริโภคสอดคล้องกับการทานอาหาร Grab & Go มากกว่า
ดึงสินค้ากิฟต์ช็อปสร้างความว้าว
ส่วนต่อไปที่น่าจะช่วยดึงลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้ อธิพลกล่าวว่า ขณะนี้ฟู้ดแลนด์ดีลพันธมิตรผู้นำเข้าสินค้า เตรียมเปิดโซนสินค้าประเภทกิฟต์ช็อป สินค้าเบ็ดเตล็ดที่มีสไตล์ น่ารัก เหมาะกับคนวัยหนุ่มสาว เป็นสินค้าจากจีนแต่เลือกเกรดที่พรีเมียมกว่าสินค้ากิฟต์ช็อปจีนที่เห็นในตลาดขณะนี้
ล่าสุดมีการนำสินค้ากิฟต์ช็อปดังกล่าวลงจำหน่ายแล้วบางส่วนที่สาขาลาดพร้าว แต่จะมีการเปิดโซนแบบเต็มรูปแบบที่สาขานวมินทร์ ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
นอกจากโซน Grab & Go และสินค้ากิฟต์ช็อปแล้ว สาขานวมินทร์ที่เป็นสาขาใหม่ยังปรับรูปแบบการตกแต่งภายในเป็นสไตล์โมเดิร์นลอฟต์ด้วย เพื่อให้ตรงกับความชอบของคนรุ่นใหม่ ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตดูสดชื่นทันสมัยมากขึ้น
ยอดขายเสมอตัว ขอแค่ไม่ขาดทุน
ด้านสถานการณ์ฟู้ดแลนด์ปี 2563-64 อธิพลกล่าวว่า ปีนี้จนถึงปีหน้าเป็นช่วงที่ “ต้องระวังมาก” จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจซบเซา แม้ว่าจะดีขึ้นแล้วหลังคลายล็อกดาวน์ และเชื่อว่าปี 2564 ไม่น่าจะแย่ลงไปกว่านี้ แต่ถ้าหากยังเปิดการท่องเที่ยวไม่ได้ สถานการณ์เศรษฐกิจก็ไม่น่าจะกลับไปดีเท่าก่อนเกิด COVID-19 เช่นกัน
ดังนั้นบริษัทจึงต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง เป้ายอดขายส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตของปี 2563 ตั้งไว้เพียง 6,000 ล้านบาทเท่ากับปี 2562 และกำไรจะลดลงแต่มองว่าน่าจะไม่ถึงขาดทุน เหตุที่กำไรลดลงแม้จะมียอดขายเท่าเดิม เป็นเพราะซูเปอร์มาร์เก็ตมีต้นทุนมากขึ้นจากค่าใช้จ่ายจัดหาเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ น้ำยาทำความสะอาด ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการรักษาสุขอนามัย
ปีนี้ยังเป็นปีที่ฟู้ดแลนด์จำต้องลดพนักงานไปบางส่วนประมาณ 20 คน โดยเป็นพนักงานที่อายุเกิน 60 ปีซึ่งปกติบริษัทจะมีการจ้างงานต่อเนื่อง และขอลดจำนวนชั่วโมงโอทีของพนักงานที่ยังทำงานอยู่
“ปีนี้เป็นปีแรกที่เราจำเป็นต้องลดพนักงาน เป็นปีแรกที่เราต้องเลือกทางที่ลำบากใจที่สุด” อธิพลกล่าว
นวมินทร์ลงทุนพันล้าน-ปีหน้าติดเบรก
ด้านการลงทุนปี 2563 ฟู้ดแลนด์มีการลงทุนใหม่คือ สาขานวมินทร์ บนที่ดินกว่า 6 ไร่ ปลูกสร้างเป็นตึก 5 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 10,000 ตร.ม. เนื่องจากสาขานี้จะเป็นทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต และคลังสินค้าแผนกของสดที่ย้ายมาจากพื้นที่สาขาลาดพร้าว ใช้เงินลงทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท เป็นสาขาที่ลงทุนใหญ่ที่สุดในรอบ 48 ปี
อธิพลกล่าวว่า จำเป็นต้องลงทุนสาขานี้แม้เศรษฐกิจจะไม่เป็นใจ เพราะพื้นที่คลังแผนกของสดเดิมในสาขาลาดพร้าวไม่สามารถรองรับได้แล้ว การย้ายมาสาขานวมินทร์จะทำให้แผนกของสดสามารถตอบสนองได้สูงสุด 50 สาขา จากปัจจุบันฟู้ดแลนด์มีทั้งหมด 23 สาขา
ส่วนปี 2564 เบื้องต้นจะไม่มีการลงทุนสาขาเพิ่ม เพื่อรัดเข็มขัดตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากมีทำเลที่ “ปังๆ” ก็อาจจะตัดสินใจลงทุน
ทำเล “ปังๆ” ดังกล่าวคือพื้นที่ในเขตขอบเมือง เป็นย่านชุมชนระดับกลางบนขึ้นไป ลักษณะเป็นชุมชนหมู่บ้านที่น่าจะยังมีการทำอาหารในบ้าน พื้นที่ลงทุนไม่น่าจะเป็นการลงทุนสแตนด์อะโลน แต่สนใจเช่าหากเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์พื้นที่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป ค่าเช่าพื้นที่เหมาะสม มีทราฟฟิกผู้บริโภคเข้าฟู้ดแลนด์เพียงพอที่จะทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อวัน
“เศรษฐกิจแบบนี้ แค่ไม่ขาดทุนก็พอแล้วครับ” อธิพลกล่าวปิดท้าย