พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) เป็นชาวรัสเซียผู้อยู่เบื้องหลังแอปพิเคชันแชตที่คนไทยให้ความสนใจมากขึ้นอย่างเทเลแกรม (Telegram) ตัว Pavel ไม่ได้มีชื่อเสียงเฉพาะในโลกเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังโดดเด่นในหลายเรื่อง ผ่านรูปลักษณ์ที่มักแต่งกายด้วยชุดสีดำ จนเสริมความลึกลับน่าค้นหาแบบหาตัวจับยาก
ชีวิตเหลือเชื่อของ Pavel เริ่มที่บ้านเกิดในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เด็กชาย Pavel ใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ในเมืองตูริน ประเทศอิตาลีเนื่องจากบิดาทำงานอยู่ที่นั่น ก่อนจะย้ายกลับไปรัสเซียเมื่ออายุ 17 ปี
ในหนังสือภาษารัสเซียชื่อ “The Duroy Code: The True Story of VK and the Creator” เล่าถึงชีวิตวัยเด็กและเส้นทางอาชีพของ Pavel ว่าในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หนุ่มน้อย Pavel สนใจเรื่องการเขียนโปรแกรมและโครงงานคอมพิวเตอร์เสมือนจริง แต่เมื่อจบการศึกษาจากสถาบันอะคาเดมียิมเนเซียม (Academy Gymnasium) หนุ่ม Pavel ก็เข้าเรียนในภาควิชาสรีรวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก Pavel สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ และได้รับรางวัลทรงเกียรติ Potaninov Award เมื่อเป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย
Pavel ก่อตั้ง Vkontakte เมื่ออายุเพียง 22 ปี แนวคิดหลักคือการสร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารที่ใช้งานได้จริง Pavel ได้พบกับเพื่อนจากประเทศอื่นและได้รับรู้เรื่องราวของเฟซบุ๊ก (Facebook) ทำให้เกิดการพัฒนาเป็น Vkontake (VK) เครือข่ายโซเชียลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในรัสเซีย มีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคน
นิโคไล (Nikolai) พี่ชายของ Pavel ช่วยพัฒนา VK ในช่วงแรก ซึ่งให้บริการในรูปเครือข่ายที่เปิดให้เข้าร่วมเฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้นจึงสามารถใช้ VK ได้ ในเดือนธันวาคม 2006 ตัว VK จึงเริ่มเปิดกว้างให้ลงทะเบียนได้ทุกคน
ถึงตรงนี้ Pavel ได้รับฉายาว่าเป็น “Zuckerberg แห่งรัสเซีย” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Vkontake เป็นบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียซึ่งคล้ายกับ Facebook แต่ในที่สุด Pavel ก็ตัดสินใจลาจากบอร์ดบริหาร Vkontake ในวันที่ 1 เมษายน 2014
เวลานั้นสื่อมองว่า Pavel กำลังเล่นตลก “เมษาฯหน้าโง่” หรือ April fool แต่แถลงการณ์อย่างเป็นทางการจาก Vkontake ก็ชี้แจงชัดเจนในวันที่ 3 เมษายน 2014 หนึ่งในเหตุผลที่เชื่อว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายของ Pavel คือการแสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน เรื่องการปฏิเสธหน่วยงานความมั่นคงของรัสเซีย ที่ต้องการให้บริษัทส่งมอบข้อมูลของผู้ประท้วงชาวยูเครน และปิดกั้นเพจของ Alexei Navalny ทนายความชาวรัสเซียในวันที่ 16 เมษายน 2014
จากจุดแตกหักที่ Pavel โพสต์คำสั่งที่ได้รับมาในหน้า VK ของตัวเอง โดยระบุว่าคำขอดังกล่าวผิดกฎหมาย Pavel จึงลงจากตำแหน่งซีอีโอของ VK เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2014 ข่าวลือที่เกิดขึ้นคือบริษัทถูกยึดครองโดยพันธมิตรของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladmir Putin) และการถอดถอน Pavel เป็นผลมาจากการปฏิเสธ ไม่ส่งมอบรายละเอียดส่วนบุคคลของผู้ใช้และบุคคลที่เป็นสมาชิกบน VKontakte ซึ่งเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลรัสเซีย
Pavel จึงลี้ภัยออกจากรัสเซียในปี 2014 หลังจากที่ถูกหน่วยข่าวกรองรัสเซียคุมขังและรีดข้อมูลการเข้ารหัสบน Vkontake เมื่อเดินทางออกจากรัสเซีย Pavel ระบุเลยว่าตัวเขาไม่มีแผนจะกลับมาอีก และตอกหน้ารัสเซียว่า “ประเทศนี้ไม่เหมาะกับการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ต“
Pavel มีชีวิตอยู่ในสภาพเนรเทศตัวเองออกจากประเทศบ้านเกิดนับตั้งแต่นั้นมา หลังจากออกจากรัสเซีย Pavel กลายเป็นพลเมืองของสหพันธรัฐเซนต์คิตส์และเนวิส (Saint Kitts and Nevis) ประเทศในหมู่เกาะลีเวิร์ด ทะเลแคริบเบียน ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในซีกโลกตะวันตก การเป็นพลเมืองเกิดขึ้นเมื่อ Pavel บริจาคเงิน 250,000 ดอลลาร์ให้กับมูลนิธิการกระจายความเสี่ยงของอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศ ทรัพย์สินที่ถูกระบุว่านำเข้าประเทศในเวลานั้นคือเงินสด 300 ล้านเหรียญสหรัฐผ่านธนาคารสวิสหลายแห่ง
ส่วนของแอปส่งข้อความ Telegram Messenger นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ที่ตั้งสำนักงานของ Telegram อยู่ในเบอร์ลิน บนโฟกัสที่เน้นจุดยืนการเป็นบริการส่งข้อความแบบเข้ารหัส
Telegram เป็นแอปรับส่งข้อความ ภาพ ไฟล์ โทรด้วยเสียง และวิดีโอคอลที่สมบูรณ์สไตล์เดียวกับว็อตสแอป (WhatsApp) ไลน์ (LINE) เฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ (Facebook Messenger) หรือแม้แต่สแลค (Slack) จุดเด่นของ Telegram ไม่ได้อยู่ที่ความฟรีและดี แต่อยู่ที่เทคโนโลยีการเข้ารหัสพิเศษที่คิดค้นโดย Nicolai Durov พี่ชายของ Pavel
คุณสมบัติที่แตกต่าง และความเป็นช่องทางการสื่อสารที่ปลอดภัยของ Telegram เกิดขึ้นเมื่อหน่วยรบพิเศษมาที่บ้านของ Pavel เวลานั้น Pavel ไม่สามารถบอกใครเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกคุกคามได้เนื่องจากไม่แน่ใจว่าข้อความนั้นปลอดภัย ในที่สุด Telegram พัฒนาตัวเองจนมีผู้ใช้มากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกในปี 2018 และรัสเซียพยายามปิดกั้น Telegram เมื่อบริษัทปฏิเสธ ไม่มอบกุญแจเข้ารหัสให้เจ้าหน้าที่รัฐบาล
Pavel ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในผู้นำมวลชนของยุโรปเหนือที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีในปี 2014 จนปี 2017 หนุ่ม Pavel ได้รับเลือกให้เข้าร่วม WER Young Global Leaders เพื่อเป็นตัวแทนของฟินแลนด์ ด้านสหภาพนักข่าวแห่งคาซัคสถานมอบรางวัลให้ Pavel ในฐานะผู้มีจุดยืนต่อต้านการเซ็นเซอร์และการแทรกแซงการติดต่อทางออนไลน์ของพลเมือง โดย Pavel มีรายชื่อเป็นมหาเศรษฐีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ติดอันดับ 838 ในรายชื่อมหาเศรษฐีของฟอร์จูนประจำปี 2019
มุมดีก็มี มุมอื้อฉาวก็มาก Pavel ขึ้นชื่อเรื่องอารมณ์ร้อนและก่อวีรกรรมหลายครั้ง Pavel ถูกวิจารณ์หลังจากมีภาพ Pavel ชูนิ้วกลางเป็นการตอบข้อเสนอซื้อโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเป็นทางการ นอกจากความไม่สุภาพที่เกิดขึ้น ยังมีกรณีที่ Pavel โยนเงินออกไปนอกหน้าต่างจากสำนักงานใหญ่ VKontakte โดยพับธนบัตรเป็นรูปเครื่องบินกระดาษจนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมและการเมืองของรัสเซีย
Pavel ให้สัมภาษณ์ว่าการโปรยเงินที่เกิดขึ้นทำไปเพื่อต้องการสร้างบรรยากาศรื่นเริงและไม่มีเจตนาที่ชั่วร้าย Pavel ระบุว่าตัวเขาเห็นความประหลาดใจและความสุขบนใบหน้าของผู้คน ซึ่งเขามีความสุขที่ได้เห็น และเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะท้าพิสูจน์ความสำคัญหรือความมั่งคั่งของตัวเอง
แม้จะมีเงินสดล้นมือ แต่ Pavel ไม่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ใดๆ หลังจากออกจากรัสเซีย Pavel เดินทางต่อเนื่องและอาศัยในโรงแรมตามสถานที่ที่ไปเยือน บางสื่อระบุว่า Pavel ใช้เวลาส่วนใหญ่ในดูไบ โดย Pavel เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งพำนักในรัสเซีย ว่าตัวเขาเคยเห็นคฤหาสน์หลังใหญ่และเรือยอชต์มากมาย แต่ตัวเขาไม่เคยต้องการสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น Pavel จึงไม่เคยลงทุนในทรัพย์สินใด ๆ โดยคิดเพียงว่าตัวเองเป็นพลเมืองโลก
สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างในตัว Pavel คือชื่อเสียงในเรื่องการควบคุมอาหาร เมื่อ 17 ปีก่อน Pavel เลิกดื่มกาแฟ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ไม่แตะแอลกอฮอล์และอาหารจานด่วน ช่วงต้นปี 2019 หนุ่ม Pavel เปิดเผยว่าจำกัดอาหารตัวเองไว้ที่ปลาและอาหารทะเล แต่แล้วในเดือนมิถุนายน 19 ก็ประกาศเลิกรับประทานอาหารและอดน้ำเป็นบางวัน Pavel ระบุุว่ารู้สึกดีมาก เพราะการอดอาหารมีส่วนช่วยเพิ่มความชัดเจนให้ความคิดเขาฉับไวขึ้น
รายได้จาก Pavel อาจมีหลายทาง แต่ทางที่โดดเด่นคือสกุลเงินดิจิทัล โดย Pavel ซื้อเหรียญบิตคอยน์ 2,000 bitcoin เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2017 เวลานั้น 1 bitcoin มีราคา 750 เหรียญเท่านั้น เมื่อใช้เงิน 1.5 ล้านเหรียญซื้อเงินบิตคอยน์ขึ้นมา Pavel จึงมีรายรับไม่ต่ำกว่า 35 ล้านเหรียญในช่วงที่บิตคอยน์ราคากระฉูด
Pavel สนับสนุนหลักการเงินคริปโตหรือ cryptocurrency อย่างเต็มตัว โดยวิจารณ์ท่าทีของกระทรวงการคลังรัสเซียที่ห้ามคนธรรมดาซื้อสกุลเงินดิจิทัล Pavel เคยโพสต์ในเพจของตัวเองว่าการมีสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาในระบบการเงินโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ถือเป็นโอกาสที่สหรัฐอเมริกาจะหลุดจากเก้าอี้ความเป็นเจ้าโลกได้
ในขณะที่ Pavel เรียกบิตคอยน์ว่า “ทองคำดิจิทัล” อีกลู่ทางที่ Pavel เห็นโอกาสในการลงทุนคือการออกเหรียญเงินคริปโตของตัวเองบนระบบบล็อกเชน สิ่งหนึ่งที่ Pavel ทำคือการร่วมมือกับ Nikolai พี่ชายคนสนิทในปี 2018 ระดมทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์จากนักลงทุนใน ICO เพื่อสร้าง TON (Telegram Open Network) ซึ่งเป็นระบบบล็อกเชนที่ใช้ Telegram เป็นแกน
หลักการของ TON คือการเป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนที่พัฒนาโดย Telehgram บริการส่งข้อความที่เข้ารหัสลับถูกยกระดับเข้าสู่ชุมชนบล็อกเชนและเงินคริปโต วันนี้ TON ให้บริการหลากหลายเช่น พื้นที่เก็บข้อมูล TON Storage, ระบบซีเคียวริตี้ TON Proxy และระบบชำระเงิน TON Payments
ธุรกิจของ Pavel มั่งคั่งขึ้นตามอายุ วันนี้มีรายงานว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ Pavel ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2019 มีไม่ต่ำกว่า 2,700 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากปี 2015 ที่ Pavel ขายหุ้น 12% ใน VK คว้าเงินสดมูลค่าประมาณ 300 ล้านเหรียญไปครอง
ชีวิตเหลือเชื่อของ Pavel Durov ยังมีอีกหลายบท Positioning สัญญาว่าจะหยิบมารายงานต่อเนื่องในวันที่ Telegram มีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทย.
ที่มา :
- https://www.insider.com/the-incredible-life-of-pavel-durov-the-entrepreneur-known-as-the-mark-zuckerberg-of-russia-2016-3#theresa-may-isnt-durovs-only-critic-hes-also-faced-criticism-from-edward-snowden-28
- https://milestonemagazine.com/pavel-durov-founder-ceo-telegram/
- https://bull.io/pavel-durov/