Image Maker หรือ การสร้างภาพลักษณ์ เพื่อให้แบรนด์ของบุคคลมีความโดดเด่น Personal Branding จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่เป็นเรื่องที่สังคมไทยจำเป็นต้องเรียนรู้มากขึ้น
ยิ่งในยุคที่การตลาดได้ผนวกรวมเอา “ความมีชื่อเสียง” ของบุคคลมาเป็นจุดขายที่หลายคนมองว่าสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์สินค้า และสร้างความแตกต่างไปจากคู่แข่งขัน อันป็นที่มาของคำว่า ซีอีโอแบรนดิ้ง แต่ก็ใช่ว่าซีอีโอแบรนดิ้งจะเป็นได้ทุกคน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ เห็นตรงกันว่า การสร้างแบรนด์บุคคลก็ไม่ต่างจากสินค้า แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ บุคคลที่สร้างได้จะต้องมีความโดดเด่น มีประสบการณ์ที่น่าสนใจ สามารถนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว สร้างเป็นคาแร็กเตอร์ได้ แต่ที่สำคัญ “ห้ามเฟก” ต้องเป็นตัวจริงเท่านั้น
กรณีของ วิกรม กรมดิษฐ์ และ ตัน ภาสกรนที หรือ ตันโออิชิ ถือเป็นสองซีอีโอที่มี Personal Branding ที่เด่นชัด
คนทั่วไปจำนวนมากรู้จัก วิกรม กรมดิษฐ์ ผ่านผลงานพ็อกเกตบุ๊ก “ผมจะเป็นคนดี” ในฐานะซีอีโอ ที่เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตอันโลดโผนกว่าจะประสบความสำเร็จ จนเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ สะท้อนแง่มุมของชีวิตที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่างที่เกือบจะต้องฆ่าพ่อตัวเอง เป็นด้านลึกของชีวิตที่ไม่เคยมีคนระดับซีอีโอเปิดเผยมาก่อน
พ็อกเกตบุ๊กของเขาติดอันดับขายดีต่อเนื่อง มีคนอ่านหนังสือของเขาไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน เขาได้รับเชิญออกรายการทีวีนับไม่ถ้วน กลายเป็น “Opinion Leader” ขึ้นเวทีสัมมนา จัดรายการวิทยุคลื่น 96.5 พูดคุยกับแฟนรายการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2
ในด้านชีวิตส่วนตัว วิกรมเลือกยุติบทบาทของซีอีโอไปใช้ชีวิตปลีกวิเวก กินอยู่อย่างพอเพียงท่ามกลางขุนเขา แต่ยังคงขับรถหรูราคาสิบล้าน ที่แม้ว่าหลายคนจะมองว่ามีขัดแย้ง แต่ก็ตอกย้ำPersonal Brand ของวิกรมให้ชัดเจน เรื่องราวชีวิตของเขาได้รับความสนใจถึงขั้นนำเสนอเป็นละคร “ไฟอมตะ” ถ่ายทอดโมเดิร์นไนน์ทีวี
ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ต้องยอมรับว่าละครเรื่องนี้สร้าง “ปรากฏการณ์” ใหม่ที่ทำให้ชื่อเสียงของวิกรมก้าวไปสู่ความเป็น Mass เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในระดับที่กว้างขึ้นกว่าเดิมมากนัก
หากโชคดี ละครไฟอมตะ อาจไปไกลถึงขั้นเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมเหมือนกับที่สงครามชีวิตโอชิน ละครชีวประวัติถ่ายทอดเรื่องราวของสตรีผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าเยาฮันของญี่ปุ่น เรียกน้ำตาคนทั่วโลกมาแล้ว
สำหรับ ตัน ภาสกรนที คนทั่วไปรู้จักเขาในฐานะของซีอีโอที่ปลุกปั้นขาเชียวโออิชิจนติดตลาด เคยล้มแล้วลุกในธุรกิจมาแล้วหลายครั้งกว่าจะตั้งตัวจนประสบความสำเร็จมาได้ เขากลายเป็น Idol ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ในฐานะ “ซีอีโอแบรนดิ้ง”
แม้วันนี้เขาจะไม่มีนามสกุล “โออิชิ” ต่อท้าย เรื่องราวของตันก็ยังคงได้รับความสนใจ ยิ่งเขาได้ โน้ส อุดม แต้พานิช เดี่ยวไมโครโฟนระดับตัวพ่อมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ แบรนด์โน้สจะช่วยสร้างแบรนด์ของตันในเวทีใหม่เดี่ยวไมโครโฟนให้ป็นที่รู้จักกว้างขึ้นกว่าเดิม และสร้างคาแร็กเตอร์ใหม่ให้กับแบรนด์ตัน ได้หรือไม่ ต้องติดตาม
นับเป็น 2 กรณีศึกษาของการสร้าง Image Maker ของบุคคลระดับซีอีโอ ที่พลาดไม่ได้