ธุรกิจ SMEs นับเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่รายได้และการจ้างงาน โดย SMEs ไทยมีจำนวนกว่า 3 ล้านราย จ้างงานกว่า 12 ล้านคน
การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยอย่างมาก ทั้งรายได้ที่หดหายไป การขาดสภาพคล่องทางการเงิน เเม้สถานการณ์จะดีขึ้นบ้างเเล้ว เเต่ธุรกิจจำนวนมากก็ยังมีความเสี่ยงจะปิดกิจการ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินธุรกิจ SMEs หลังสถานการณ์ COVID-19 บรรเทาลง โดยเเบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่ม Slow คือ ธุรกิจที่ปรับตัวได้ช้า มีความจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเพื่อความอยู่รอด ได้แก่ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีกเสื้อผ้า สถานบันเทิง ประดับยนต์ และโรงแรม
กลุ่ม Viable คือ ธุรกิจที่พอปรับตัวได้ แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังเพื่อประคองกิจการ ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ขายเครื่องจักร บริการทางธุรกิจ และธุรกิจที่ปรึกษา
กลุ่ม Swift คือ ธุรกิจที่มีความพร้อมในการปรับตัวค่อนข้างรวดเร็ว ได้แก่ ธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริการคอมพิวเตอร์ ร้านขายยา/เวชภัณฑ์ ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาล
โดยวิเคราะห์แนวโน้มการฟื้นตัวตามลักษณะของธุรกิจ (V, U, L Shape Recovery) ว่าจะส่งผลกระทบไปยังผลการดำเนินงานของธุรกิจส่งผ่านไปยังกำไรก่อนหักภาษีของกิจการ (Earning Before Tax: EBT) โดยใช้ข้อมูลงบการเงินของธุรกิจ SMEs จำนวนกว่า 3 แสนราย ที่ดำเนินธุรกิจอยู่และส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ผลศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ 65.7% อยู่ใน “กลุ่ม Viable” ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลง แต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 92.9% และขาดทุน 7.1%
ลำดับต่อมา 21.7% เป็น “กลุ่ม Slow” ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 73.7% และขาดทุน 26.3%
ส่วนอีก 12.6% เป็น“กลุ่ม Swift” ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 96.1% และมีขาดทุนเพียง 3.9%
เมื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว พบว่า “กลุ่ม Swift” เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลการดำเนินงานของกิจการลดลงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังพอมีกำไรอยู่ จึงเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความพร้อมในการปรับตัวได้ค่อนข้างดี
ส่วน “กลุ่ม Viable” เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่รายได้ลดลงเป็นบางส่วน ตลาดยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทำให้กำไรของกิจการลดลงค่อนข้างมาก ธุรกิจในกลุ่มนี้จึงยังมีความเสี่ยงอยู่ ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อประคองกิจการให้ข้ามผ่านไป
ในขณะที่ “กลุ่ม Slow” หนักสุดเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและรายจ่ายไม่สามารถลดลงได้ และกำลังซื้อที่ชะลอตัว ผลกำไรที่ลดลงมากจึงทำให้ผลการดำเนินงานขาดทุนมาก เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับโครงสร้าง เพื่อความอยู่รอดในระยะต่อไป
สุขภาพการเงิน SMEs ใครยังไหวอยู่?
TMB Analytics ได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงสุขภาพทางการเงินของ SMEs เพื่อให้ทราบว่า ผู้ประกอบการ SMEs กิจการมีความสามารถทำกำไรอยู่ในระดับใด และภาวะสภาพคล่องทางการเงินยังไหวหรือไม่ ด้วยการประเมินสุขภาพการเงินว่า สามารถรองรับวิกฤตและอยู่รอดข้ามผ่าน COVID-19 ได้ดีเพียงใด ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจมีศักยภาพดีขึ้นสำหรับดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยนำข้อมูลทางการเงิน 2 ด้านมาประเมินร่วมกันคือ 1. ความสามารถในการทำกำไร 2. สภาพคล่องธุรกิจ
ด้วยวิธีการประเมินสุขภาพการเงินที่กล่าวมาข้างต้น จากจำนวน 3 แสนรายที่ดำเนินธุรกิจอยู่ และส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดย TMB Analytics จัดลักษณะธุรกิจออกมาเป็น 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ‘พร้อมโต’ เป็นกลุ่มที่สุขภาพทางการเงินดีที่สุด จากความสามารถในการทำกำไรสูง และมีสภาพคล่องธุรกิจที่แข็งแรง จากการวิเคราะห์พบว่า มี SMEs ที่อยู่ในกลุ่มนี้ 27% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ต่ำ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค
“กลุ่มนี้มีศักยภาพการเติบโตสูง หากสามารถวางแผนการลงทุนและการตลาดล่วงหน้าได้ เพื่อทำการขยายธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต”
กลุ่มที่ 2 ‘พร้อมฟื้น’ เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินรองลงมา โดยมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง แต่ยังมีสภาพคล่องธุรกิจที่เปราะบาง จากการวิเคราะห์พบว่า มีสัดส่วนธุรกิจอยู่ในกลุ่มนี้ 27% จากธุรกิจ SMEs ทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ค่อนข้างต่ำ เช่น ค้าปลีกสินค้ายา เครื่องจักร เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 ‘รอฟื้น’ เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินพอไปได้ ด้วยธุรกิจยังมีสภาพคล่องธุรกิจที่แข็งแรง สามารถประคองธุรกิจให้ไปต่อ แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำลง พบว่ามีสัดส่วนจำนวนธุรกิจที่ 19% โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร งานบริการทางธุรกิจ เช่น รับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษา เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 ‘รอรักษา’ เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินอ่อนแอกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 อย่างหนักจากรายได้ที่หดหายไปมาก กระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องธุรกิจไม่ดี ในกลุ่มนี้มีจำนวนกระจุกตัว 34% ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงแรมที่พัก บริการท่องเที่ยว ค้าปลีกเสื้อผ้า เป็นต้น