สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วันจันทร์ที่ 26 ต.ค. ศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ปฏิเสธคำร้องของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องการห้ามการใช้งาน WeChat แอปพลิเคชันส่งข้อความ ชำระเงินผ่านมือถือ และโซเชียลมีเดียของบริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) ของจีน ในสหรัฐฯ โดยทันที
คณะผู้พิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 แห่งสหรัฐฯ ระบุว่ารัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นว่าตนจะ “ได้รับความเสียหายชนิดที่ไม่อาจแก้ไขได้ในระยะเวลาอันใกล้ ระหว่างการรออุทธรณ์ซึ่งถูกเร่งให้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้”
เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ต.ค. ลอเรล บีเลอร์ ผู้พิพากษาจากศาลแขวงเขตเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังปฏิเสธการคงคำสั่งห้ามใช้งานวีแชทของรัฐบาลเช่นกัน โดยเธอตัดสินว่า หลักฐานเพิ่มเติมของรัฐบาลนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนคำตัดสินของศาลในก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าผู้ใช้งานวีแชทในสหรัฐฯ มีสิทธิ์ได้รับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา (Preliminary injunction)
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. บีเลอร์ได้ระงับคำสั่งฝ่ายบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สั่งห้ามการใช้งานวีแชทในสหรัฐฯ โดยออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งระบุว่าข้อจำกัดสำหรับแอปวีแชทอาจเป็นการละเมิดสิทธิตามบทบัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ ของผู้ใช้ในสหรัฐฯ หลังจากเมื่อวันที่ 18 ก.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามทำธุรกรรมกับวีแชท
“ผลลัพธ์คือ ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ไม่สามารถดาวน์โหลดหรืออัปเดตแอปวีแชทเพื่อใช้ส่งหรือรับเงินได้ และเนื่องจากจะมีการทำลายโฮสติ้งและหน่วยความจำ (Caching) สำหรับเก็บข้อมูลของวีแชทในสหรัฐฯ ซึ่งในทางเทคนิคแล้ว แม้จะยังใช้งานได้อยู่ แต่แอปนี้จะไม่มีประโยชน์ใดสำหรับผู้ใช้งานในสหรัฐฯ” บีเลอร์ระบุ
หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยื่นเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อขอให้แก้ไขคำตัดสินของบีเลอร์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ทรัมป์ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารห้ามมิให้ทำธุรกรรมในสหรัฐฯ ผ่านวีแชท ซึ่งเดิมมีกำหนดบังคับใช้ช่วงดึกของวันที่ 20 ก.ย.
จากนั้น กลุ่มพันธมิตรผู้ใช้งานวีแชทแห่งสหรัฐฯ (U.S. WeChat Users Alliance – USWUA) ได้ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิตามกฎหมายของผู้ใช้งานวีแชททุกคนในสหรัฐฯ ด้วยการยื่นฟ้องเรื่องนี้ ซึ่งศาลได้เปิดคดีในวันที่ 17 ก.ย.
นอกจากกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวแล้ว ยังมีโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้งานรายอื่นที่ออกมาโต้แย้งว่า ในสหรัฐฯ วีแชทเป็นแอปที่ไม่มีแอปพลิเคชันใดสามารถแทนที่ได้