หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศ ขึ้นภาษี ส่งผลให้หลายประเทศได้เตรียมหาทางรับมือ รวมถึงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กระทบหนักไม่แพ้ใคร ดังนั้น ไปดูกันว่านโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศ มีแผนรับมืออย่างไรกันบ้าง
กัมพูชาหนักสุด แต่นิ่งสุด
หากพูดถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ดูเหมือนประเทศ กัมพูชา จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากถูกเรียกเก็บภาษีใน อัตราสูงสุด ที่ 49% ตามมาด้วย
- ลาว (47%)
- เวียดนาม (46%)
- ไทย (36%)
- อินโดนีเซีย (32%)
- มาเลเซีย (24%)
- สิงคโปร์ (10%)
แม้ว่า กัมพูชา จะเป็นประเทศที่ถูกขึ้นภาษีสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่การตอบสนองนั้นค่อนข้างจะนิ่ง แม้ว่าภาษีดังกล่าวอาจมีผลต่อการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต ได้ข้อความเสนอที่จะ “เจรจากับฝ่ายบริหารโดยเร็วที่สุด” พร้อมกับยื่นขอเสนอ ลดภาษีสินค้า 19 รายการ ทันที จากสูงสุด 35% เหลือ 5%”

เวียดนาม ชาติแรกของภูมิภาคที่ตอบสนอง
หลังจากที่มีการประกาศขึ้นภาษี เวียดนาม นับเป็นประเทศแรกของภูมิภาคที่ตอบสนอง โดยได้ต่อสายตรงถึง ทรัมป์ ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน โดย โต เลิม หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้ขอให้ทรัมป์ เลื่อนการบังคับใช้ภาษีออกไป 45 วัน และเสนอที่จะ ยกเลิกภาษีของประเทศทั้งหมด
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี บุย ทาน เซิน ได้พบกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ มาร์ค แนปเปอร์ ในฮานอย และขอให้ทรัมป์เลื่อนการบังคับใช้ภาษีอีกครั้ง ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายเจรจากัน รองนายกรัฐมนตรี โฮ ดึก ฟอก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสหรัฐฯ บอกกับบริษัทต่าง ๆ เมื่อวันศุกร์ว่า เวียดนามกำลังขอให้ เลื่อนออกไป 1-3 เดือน มีรายงานด้วยว่า เวียดนามกำลังจะสรุปข้อตกลงเรื่องการซื้อเครื่องบินโบอิ้งโดยสายการบินของเวียดนาม

ไทยเดินทางสายกลาง
ยุทธศาสตร์ของไทยในการลดผลกระทบจากภาษี จะ เพิ่มการนำเข้าสินค้าและเพิ่มการลงทุนของสหรัฐฯ อาทิ พลังงาน เครื่องบิน และสินค้าเกษตรของอเมริกาเพิ่มขึ้น แม้ว่าประเทศยังไม่ได้ เสนอที่จะลดภาษี ก็ตาม โดย นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ย้ำว่า “ไทยไม่ได้เป็นเพียงผู้ส่งออก แต่ยังเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ สามารถพึ่งพาได้ในระยะยาว”
ขณะที่ ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ระบุว่า ไทยจะเน้น เดินสายกลาง โดยเขาจะไม่รีบร้อนไปหาสหรัฐฯ แต่ก็จะไม่นิ่งเฉย หรือตอบโต้เหมือนจีน โดยจะพยายามหาวิธีว่าจะ อยู่ร่วมกับรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่
นอกจากนี้ รัฐมนตรีการคลัง พิชัย ชุณหวชิร จะออกเดินทางไปสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้เพื่อเจรจากับ “ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะที่ กรมการค้าต่างประเทศของไทย เน้นย้ำว่า จะเพิ่มการเฝ้าระวังการส่งออกไปยังสหรัฐฯ หลังมี สินค้าจากต่างประเทศที่แอบอ้างว่าเป็นสินค้าที่มาจากไทย

อินโดฯ เริ่มส่งคนไปเจรจา
อินโดนีเซีย เป็นอีกประเทศที่กระทบ โดยหลังจากการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์เมื่อวันที่ 2 เมษายน ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียลดลง 9.6% และส่งให้ค่าเงินรูเปียะอ่อนค่าลงไปถึง 16,898 รูเปียะต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ อ่อนค่าที่สุดเป็นประวัติการณ์ ของสกุลเงินนี้
ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ได้ประกาศว่า รัฐบาลของเขาจะส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปเจรจา ขอลดหย่อนภาษี ที่วอชิงตัน พร้อมกับระบุว่า รัฐบาลกำลัง สำรวจทางเลือกในหลาย ๆ ทาง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

มาเลฯ ขออาเซียนร่วมสู้ทรัมป์
ด้านมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีการคลังด้วย ได้จวกทรัมป์ว่า “เป็นการปฏิเสธหลักการการค้าเสรีที่ไม่เลือกปฏิบัติ คาดเดาได้ และเปิดกว้าง” ขององค์การการค้าโลก อีกทั้งยัง กล่าวว่า รัฐบาลของเขา จะไม่เก็บภาษีตอบโต้
และในฐานะ ประธานอาเซียน ได้เรียกร้องขอให้ประเทศสมาชิกร่วมกันต่อสู้กับความท้าทายที่เกิด โดยขอให้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น และร่วมมือกันภายในมากขึ้น เพราะมั่นใจว่า ในแง่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ กลุ่มอาเซียนอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าสหรัฐฯ

สิงคโปร์ปลุกประชาชนพร้อมรับมือความไม่แน่นอน
แม้ว่าสิงคโปร์จะถูกขึ้นภาษีน้อยที่สุด แต่ ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็มองว่า น่าผิดหวังอย่างยิ่งและไม่ใช่สิ่งที่เพื่อนควรปฏิบัติต่อกัน พร้อมกับ ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแห่งชาติ รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนว่า มาตรการภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลต่อการส่งออกของสิงคโปร์
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคบริการ เช่น การเงินและการประกันภัย และจะทำให้โอกาสในการทำงานลดน้อยลง หากเกิดการย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ
จะเห็นว่าการตอบสนองส่วนใหญ่จะเป็นการ วางกลยุทธ์แบบสองด้าน ทั้งการยอมตามข้อเรียกร้องของทรัมป์ในระยะสั้น เช่น การลดภาษีของตนเอง และคำมั่นที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าบางอย่างจากสหรัฐฯ แต่ ไม่มีประเทศไหนที่จะตอบโต้โดยการ ขึ้นภาษี อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้ว่าล่าสุด จะมีการชะลอขึ้นภาษีไปอีก 90 วันก็ตาม แต่ที่แน่ ๆ ภาพของรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรทางเศรษฐกิจ กลายเป็นประเทศที่คาดเดาไม่ได้ไปแล้ว