ทำไมการเสียชีวิตของ “ลี คุน-ฮี” ประธานซัมซุงจึงสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกาหลีใต้?

ลี คุน-ฮี ประธานซัมซุง
(Photo by Chung Sung-Jun/Getty Images)
“ลี คุน-ฮี” (Lee Kun-Hee) หรือที่หลายๆ คนเรียกเกาหลีใต้ว่า “ประเทศซัมซุง” ก็อาจจะไม่ผิด เพราะว่าซัมซุงเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ที่ครอบคลุมธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ ผู้ที่ทำให้บริษัทกลายเป็นยักษ์ใหญ่ข้ามชาติของเกาหลีใต้ สามารถต่อกรกับแบรนด์ยักษ์ระดับโลกอย่าง Apple ได้

ลี คุน-ฮี ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ต.ค. สิริรวมอายุได้ 78 ปี ขณะที่อยู่ร่วมกับสมาชิกครอบครัว รวมถึงทายาทซัมซุง ลี แจ-ยอง (Lee Jae-yong)

เอพีรายงานว่า ลี คุน-ฮี ต้องเข้ารับการรักษาตัวมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2014 หลังจากเกิดโรคหัวใจกำเริบ ส่งผลทำให้ลี แจ-ยอง บุตรชายต้องเข้ามารับทำหน้าที่บริหารกิจการซัมซุงแทน

ลียังถูกนิตยสารฟอร์บส์จัดฐานะความร่ำรวยไว้ราว 16,000 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2017

ลีคุนฮี ประธานํซมซุง

ทั้งนี้ซัมซุงมีส่วนเป็นอย่างมากต่อการช่วยเหลือเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย ลีจากไประหว่างที่ซัมซุงอยู่ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย

ในเวลานี้จีนกลายเป็นคู่แข่งทางตรงของซัมซุง รวมไปถึงปัญหาทางคดีความของลี แจ-ยอง ทายาทของเขา

สั่นสะเทือนถึงเศรษฐกิจ

แม้ว่าเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ๆ อื่นๆ ในโลกแล้วอาจจะยังห่างชั้น ทว่า ด้วยระบบบริษัทแบบ “แชโบล” ของเกาหลีใต้ การเสียชีวิตของ ลี คุน-ฮี ประธานของบริษัท “แชโบล” ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ย่อมส่งผลสั่นสะเทือนเศรษฐกิจอย่างที่บริษัทใหญ่ๆ ในประเทศอื่นๆ ก็ไม่อาจส่งอิทธิพลต่อประเทศของตัวเองได้ขนาดนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อลี คุน-ฮีได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารแบบสั่งการจากคนคนเดียวในสไตล์เก่า มาให้ลูก 3 คนแยกกันบริหาร “แชโบล” คือ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการค้า และการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเพราะบรรดาบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นซัมซุง, ฮุนได, ลอตเต้, เอสเค กรุ๊ป และแอลจี

สำหรับบริษัท ซัมซุง กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นมาโดย ลี บยัง-ชุล (Lee Byung-chull) บิดาของลี คุน-ฮี ก่อนที่ท่านประธานผู้เพิ่งล่วงลับจะปลุกปั้นจนกลายเป็นบริษัทระดับโลก

ลี คุน-ฮีเข้ารับกิจการต่อจากบิดาในปี 1987 ซึ่งบิดาของเขาเป็นผู้ส่งออกผัก และปลา ก่อนที่จะเปลี่ยนให้กลายเป็นบริษัทซัมซุง กรุ๊ปที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 375,000 ล้านดอลลาร์ และมีธุรกิจทั้งผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือที่สร้างชื่อ เครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทประกันภัย บริษัทยา การวิจัย และอู่ต่อเรือ ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้

นอกจากซัมซุงอิเลคโทรนิคส์แล้ว ซัมซุงกรุ๊ปยังมี ซัมซุง ซี แอนด์ ที ธุรกิจด้านการวางรากฐานและการก่อสร้าง รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานดังๆ ในโลก อย่างตึกแฝดที่มาเลเซีย, อาคาร 101 ในไต้หวัน รวมทั้งอาคารคาลิฟาในดูไบ แล้วยังมีโรงแรม รีสอร์ต สินค้าแฟชั่น และร้านค้าปลอดภาษี

อีกธุรกิจที่สำคัญของซัมซุงกรุ๊ป ก็คือ ธุรกิจประกันภัย ซัมซุง ไลฟ์ อินชัวรันซ์ ที่สร้างรายได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

กระจายงานให้ลูกๆ

จากเดิม ลี คุน-ฮี บริหารงานแบบรวมศูนย์ผ่านคนคนเดียว จนเมื่อลูกเติบโตขึ้นเขาก็เชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ มอบหมายให้รองประธาน อย่าง ลี แจ ยอง ซึ่งเป็นลูกชายคนเดียว ดูแลซัมซุง อิเลคโทรนิคส์

ลี บู-จิน

ขณะที่ปกติ บริษัท “แชโบล” มักจะสืบทอดกันเฉพาะในหมู่ลูกชายเท่านั้น แต่ ลี คุน-ฮี ก็ให้ความสำคัญกับลูกสาวทั้ง​ 2 คน โดยเฉพาะ ลี บู-จิน ที่ว่ากันว่าฉลาดที่สุดในบรรดาลูกทั้ง 3 คน ที่พ่อยก ซัมซุง ซี แอนด์ ที ให้บริหาร ซึ่งรวมบริษัทก่อสร้าง การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ กลุ่มธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และการประกันภัย ส่วน ลี เซียว-ฮยุน ลูกสาวอีกคนที่เคยช่วยบริหารซี แอนด์ ที สายธุรกิจแฟชั่น ย้ายไปบริหารในองค์กรการกุศล

ลี เซียว-ฮยุน

จริงๆ แล้ว ช่วงรอยต่อระหว่างรุ่น ลี บยัง-ชุล มาสู่รุ่น ลี คุน-ฮี ซัมซุงก็เคยแยกเป็น 4 กลุ่มบริษัทมาแล้ว ทั้งกลุ่มบริษัทค้าปลีก กลุ่มสื่อสารและบันเทิง กลุ่มผลิตกระดาษ และกลุ่มขนส่งกับเคมีภัณฑ์ แต่ซัมซุงก็กลับมาเป็น “แชโบล” ที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้ง ด้วยการตัดสินใจลงทุนในซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ โดยเริ่มต้นจากไมโครเวฟ และโทรทัศน์ขาว-ดำ ก่อนจะรอดวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 1997 มาได้ด้วยการขายบริษัทผลิตรถยนต์ และบริษัทเคมีภัณฑ์ออกไปแบบยอมขาดทุน

แม้สถานการณ์จะคล้ายกันในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ปัญหาของทายาทรุ่นที่ 3 ก็มีอยู่เยอะมาก

ปัญหาของคดีความลูกชาย

ลี แจ-ยอง ลูกชายคนเดียวของ ลี คุน-ฮี ได้เคยถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในความผิดคดีสินบนฉาว ที่ส่งผลทำให้อดีตประธานาธิบดีหญิงเกาหลีใต้ พัค กึน-ฮเย ต้องถูกถอดออกจากตำแหน่ง รวมไปถึงความผิดคดีฉ้อโกงและควบคุมราคาหุ้น เกี่ยวข้องกับแผนควบรวมบริษัท ซัมซุง ซีแอนด์ที คอร์ป และ เชอิล อินดัสตรีส์ ในปี 2015 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้การถ่ายโอนอำนาจบริหารสู่มือ อี เป็นไปอย่างราบรื่น และยังมีข้อหาฉ้อโกงทางบัญชีในบริษัท ซัมซุง ไบโอโลจิกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจยาของกลุ่มซัมซุง

Lee Jae-Yong ลี แจ ยอง ซัมซุง
(Photo by Jeon Heon-Kyun-Pool/Getty Images)

โดยในเกาหลีใต้มีกระแสต่อต้านผู้บริหารที่ไร้จริยธรรมอย่างรุนแรง เรียกว่าหาก ลี แจ-ยอง ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไปของสื่อ และสังคม เขาอาจจะต้องส่งไม้ต่อให้รุ่นที่ 4 ไปเลยก็ได้

ที่สั่นสะเทือนเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสัดส่วนภาษี ที่สมัยเป็นบริษัท “แชโบล” ขนาดใหญ่ ต้องจ่ายปีละหลายแสนล้านวอน การมีมูลนิธิซัมซุง เวลแฟร์ ขึ้นมา สามารถช่วยเรียกคืนภาษีได้บ้าง แต่ไม่สู้การตัดแต่งแบ่งองค์กรให้ลดขนาดลงมา

ลี คุน-ฮี ประธานซัมซุง

นอกจากนี้ ความต้องการเป็นเอกเทศแบบสุดโต่งของสองพี่น้องฝ่ายหญิงที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดย ลี บู-จิน ต้องการให้โรงแรมชิลล่า กับธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีของเธอ หลุดออกมาจากร่มเงาของซัมซุงกรุ๊ปโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับ ลี เซียว-ฮยุน ที่ต้องการบริหารมูลนิธิฯ แบบอิสระ

การจัดการให้ซัมซุงกรุ๊ป “แชโบล” ขนาดใหญ่ที่สุดในเกาหลีแยกย่อยเป็นบริษัทที่มีเอกเทศต่อกัน จะยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นหลังการจากไปของ ลี คุน-ฮี

Source