ในเดือนพฤศจิกายน ถือว่าเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปอด ซึ่งปัจจุบันมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก แต่ในร่างกายของคนเรายังสามารถเกิดมะเร็งตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้มากกว่า 20 ชนิด แต่หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ผู้ป่วยยังมีโอกาสหายขาดได้
นายแพทย์ธเนศ เดชศักดิพล อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคมะเร็ง คือ โรคที่เกิดจากการมีเซลล์ผิดปกติในร่างกาย และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจน ร่างกายควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่นเดียวกับมะเร็งปอด ที่เกิดจากการที่เซลล์ในเนื้อปอด มีการแบ่งตัวมากผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ จนเติบโตและลุกลามรวมกันเป็นเนื้องอก ทำให้ไปขัดขวางการทำงานของปอด
นอกจากมะเร็งปอดแล้ว ในร่างกายของคนเรายังเกิดมะเร็งได้ในทุกส่วน โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ และปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งมะเร็งที่พบได้บ่อย จะแบ่งตามเพศได้ดังนี้
มะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย ได้แก่
• มะเร็งตับ มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีชนิดเรื้อรัง โรคตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์ และโรคไขมันสะสมในตับ
• มะเร็งปอด ปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากการสูบบุหรี่ พันธุกรรม สัมผัสสารก่อมะเร็งจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม
• มะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างร่วมกันได้แก่ สิ่งแวดล้อม อาหาร และพันธุกรรม
• มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อภายในต่อมลูกหมากที่ไม่สามารถควบคุมได้
• มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งที่เกิดจากเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ มีการเพิ่ม จำนวนและเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตเร็วมาก มักพบบริเวณ ต่อมน้ำเหลือง ที่คอ รักแร้ และขาหนีบ
• มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดจากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเติบโตมากผิดปกติและไม่สามารถกลายเป็นเม็ดเลือดที่สมบูรณ์ได้ จนไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติชนิดอื่น ส่งผลให้การทำงานของระบบเม็ดเลือดเสียไป
• มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ปัจจัยเสี่ยงมาจากการสูบบุหรี่จัด หรือทำงานใน โรงงานอุตสาหกรรมสีย้อมผ้า คนที่มีการอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
• มะเร็งช่องปาก สาเหตุจากการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การติดเชื้อไวรัส HPV และการระคายเคืองจากฟันที่แหลมคม
• มะเร็งกระเพาะอาหาร มีหลายปัจจัยที่พบว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ เช่น อายุที่มากขึ้น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
• มะเร็งหลอดอาหาร เกิดจากการรับประทานอาหารร้อน เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง และการสูบบุหรี่
มะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง ได้แก่
• มะเร็งเต้านม ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มีภาวะโรคอ้วน ดื่มแอลกอฮอล์มาก
• มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ชนิดที่ 16 และ 18 ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีคู่นอนหลายคน สูบบุหรี่ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
• มะเร็งตับ มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีชนิดเรื้อรัง โรคตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์ และโรคไขมันสะสมในตับ
• มะเร็งปอด ปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากการสูบบุหรี่ พันธุกรรม สัมผัสสารก่อมะเร็งจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม
• มะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างร่วมกันได้แก่ สิ่งแวดล้อม อาหาร และพันธุกรรม
• มะเร็งรังไข่ สาเหตุจากพันธุกรรม และปัจจัยที่ส่งเสริมได้แก่ สภาพแวดล้อม เช่น สารเคมี อาหาร
• มะเร็งมดลูก อาจเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ส่วนปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งมดลูก ได้แก่ สตรีที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรเมื่ออายุมาก พันธุกรรม รวมถึงมักพบร่วมกันโรคอ้วน เบาหวานและความดันโลหิตสูง
• มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดจากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเติบโตมากผิดปกติและไม่สามารถกลายเป็นเม็ดเลือดที่สมบูรณ์ได้ จนไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติชนิดอื่น ส่งผลให้การทำงานของระบบเม็ดเลือดเสียไป
• มะเร็งช่องปาก สาเหตุจากการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การติดเชื้อไวรัส HPV และการระคายเคืองจากฟันที่แหลมคม
• มะเร็งต่อมไทรอยด์ ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ ได้รับการฉายรังสีบริเวณคอ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์ อายุที่มากขึ้น โดนสารในโรงงานอุตสาหกรรมโลหะหนัก
• มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งที่เกิดจากเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ มีการเพิ่ม จำนวนและเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตเร็วมาก มักพบบริเวณ ต่อมน้ำเหลือง ที่คอ รักแร้ และขาหนีบ
นอกจากนี้ยังมีโรคมะเร็งอาจจะได้ยินกันไม่บ่อยนัก ได้แก่
• มะเร็งโพรงหลังจมูก มีเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสเอบสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus)
• มะเร็งกล่องเสียง ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา
• มะเร็งถุงน้ำดีและท่อน้ำดี มีความเกี่ยวข้องกับโรคนิ่วในถุงน้ำดี นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับและสารก่อมะเร็งพวกไนโตรซามีนส์ ซึ่งอยู่ในสารถนอมอาหาร
• มะเร็งตับอ่อน การเกิดมะเร็งตับอ่อนในประเทศไทย พบว่ามีประมาณ 1 % ของมะเร็งทางเดินอาหาร ปัจจัยบางอย่างที่เชื่อว่าอาจทำให้เกิดมะเร็งตับอ่อนคือ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน และพันธุกรรม
• มะเร็งกระดูก พบได้น้อย มักพบในช่วงอายุ 30 – 50 ปี อาการรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
• มะเร็งผิวหนังและมะเร็งเม็ดสี การระคายเคืองต่อผิวหนังเป็นระยะเวลานานๆ เป็นสาเหตุ ให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ เช่น แสงแดดและแสง UV หรือใช้ยาที่มีส่วนประกอบของสารหนู
• มะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่ามีการเจริญแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติของเซลล์อื่น ๆ ในระบบประสาท เช่น เนื้องอกจากเซลล์ประสาท เนื้องอกจากเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง เนื้องอกจาก ต่อมต่าง ๆ ในสมอง เนื้องอกจากเซลล์ปลอกประสาท
• มะเร็งไต สาเหตุจากพันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น
• มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน สาเหตุจากพันธุกรรมบางโรค ได้รับสารเคมีในอุตสาหกรรม มีประวัติรักษาด้วยการฉายแสงในบริเวณแขนและขา มีประวัติแขนขาบวมเรื้อรัง หรือมีการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่นไวรัส HHV-8
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน มีทั้งการผ่าตัด การฉายแสง การให้เคมีบำบัด การใช้ยามุ่งเป้า และภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการเลือกวิธีรักษาผู้ป่วยแต่ละราย จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา ซึ่งเป็นการรักษาแบบเฉพาะบุคคล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ตรงจุด ลดผลข้างเคียง และได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายแพทย์ธเนศ เดชศักดิพล อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา รพ.เวชธานี