สหรัฐฯ ประกาศว่ามาตรการแบน TikTok แอปฯ แชร์วิดีโอสั้นยอดนิยมสัญชาติจีนจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในตอนนี้ โดยเป็นไปตามคำตัดสินของศาลแขวงรัฐเพนซิลเวเนียซึ่งได้ยับยั้งคำสั่งแบนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
คณะบริหารของ ทรัมป์ พยายามบังคับให้ TikTok ขายกิจการในสหรัฐฯ โดยอ้างว่าแอปฯ สุดฮิตที่มีผู้ใช้งานในอเมริกากว่า 100 ล้านคนเป็นภัยต่อความมั่นคง ทว่าล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยืนยันว่าชะลอมาตรการแบนออกไปก่อนตามคำสั่งผู้พิพากษาศาลแขวงเมื่อวันที่ 30 ต.ค.
“กระทรวงพาณิชย์จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของคำสั่งศาล” ถ้อยแถลงจากกระทรวงฯ ระบุ และย้ำว่า คำสั่งแบน TikTok ได้ถูกห้าม และจะยังไม่มีผลบังคับจนกว่ากระบวนการทางกฎหมายจะสิ้นสุด
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของผู้พิพากษาเพนซิลเวเนียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พ.ย.
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการฟ้องร้องที่มีมาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ ทรัมป์ ออกคำสั่งบริหารเมื่อวันที่ 14 ส.ค. บังคับให้ TikTok ต้องขายกิจการแก่นักลงทุนอเมริกันภายใน 90 วัน หรือไม่ก็ถูกแบน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้พัฒนาแอปฯ นี้ได้ยื่นฟ้องคัดค้านคำสั่งของทรัมป์ และศาลแขวงรัฐเพนซิลเวเนียได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ห้ามมิให้รัฐบาล ทรัมป์ แบนกิจการของแอปฯ TikTok ในวันที่ 12 พ.ย.
เมื่อปลายเดือน ก.ย. ศาลกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยังได้ระงับคำสั่งของ ทรัมป์ ที่ห้ามการดาวน์โหลด TikTok จากแอปฯ สโตร์ของบริษัทแอปเปิล และกูเกิล
ก่อนหน้านี้ คณะบริหารของ ทรัมป์ ประกาศจะให้เวลาแก่ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TikTok จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 12 พ.ย. เพื่อปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นในสหรัฐฯ และตอบสนองความกังวลเรื่องภัยความมั่นคงของวอชิงตัน ทว่าไบต์แดนซ์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลในสัปดาห์นี้เพื่อขอให้ชะลอการบังคับเลิกกิจการออกไปก่อน
ไบต์แดนซ์แถลงเมื่อวันอังคารที่ 10 พ.ย. ว่าเคยร้องขอให้รัฐบาล ทรัมป์ ชะลอคำสั่งออกไปอีก 30 วัน “เนื่องจากเราเผชิญข้อเรียกร้องใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่กลับไม่มีความชัดเจนว่าทางออกที่เราเสนอไปนั้นจะถูกตอบรับหรือไม่” ทว่าคำร้องดังกล่าวก็ไม่ได้รับการอนุมัติ
ไบต์แดนซ์ และ TikTok ได้เสนอแผนจัดตั้งบริษัทใหม่ในนาม TikTok Global ขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งจะมีออราเคิล (Oracle) เป็นหุ้นส่วนทางเทคโนโลยีและถือหุ้น 12.5% ส่วนวอลมาร์ท (Walmart) เป็นหุ้นส่วนในด้านธุรกิจ ถือหุ้น 7.5%
แผนที่ว่านี้ดูเหมือนจะสร้างความพอใจให้กับคณะบริหาร ทรัมป์ ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้รับไฟเขียวอย่างเป็นทางการ
ทรัมป์ ยืนยันว่า TikTok จะต้องกลายเป็นบริษัทที่ควบคุมโดยนักลงทุนอเมริกันเท่านั้นจึงจะสามารถดำเนินกิจการในสหรัฐฯ ต่อได้ ทว่าแผนปรับโครงสร้างใดๆ ก็ตามจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งรัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่ง
รัฐบาล ทรัมป์ อ้างว่าข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันราว 100 ล้านคนที่ใช้แอปฯ นี้อาจจะถูกส่งต่อให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่ง TikTok ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง