สถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่า เผยผลงานวิจัยครบ 10 ปีโครงการสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กไทยครั้งที่ 1 (Southeast Asia Nutrition Survey: SEANUTS) ที่ได้ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2553-2554 ประเทศไทยได้ประโยชน์จากผลการสำรวจมาพัฒนาต่อยอดทั้งด้านผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ภาวะโภชนาการของเด็กไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนและบูรณาการงานด้านอาหารและโภชนาการของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการดื่ม.ขยับ.รับ.สุขภาพ (Drink.Move.Be.Strong) ที่มุ่งเน้นความสำคัญของการเลือกบริโภคน้ำนมโคคุณภาพสูงที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่ดี โครงการ Nutrifit program ที่ฟรีสแลนด์คัมพิน่าประเทศไทยร่วมมือกับสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าไปให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ในโรงเรียนทั่วประเทศ ในเรื่องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่สมดุลและออกกำลังกาย เป็นต้น ในขณะที่สถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่าพร้อมด้วยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมเผยสถานการณ์การสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กไทยครั้งที่ 2 (Southeast Asia Nutrition Survey: SEANUTS II) ล่าสุดคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% หรือคิดเป็นเด็กจำนวนกว่า 2,200 คน คาดการณ์สำรวจเป้าหมายจำนวน 3,545 คน เสร็จสิ้นปี 63 โดยการสำรวจดังกล่าวครอบคลุมการเก็บข้อมูลด้านการเจริญเติบโต การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และตัวชี้วัดทางชีวเคมีต่าง ๆ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพการเจริญเติบโตของเด็กไทยอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี
นายวิภาส ปวโรจน์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายนมพร้อมดื่มภายใต้แบรนด์ “โฟร์โมสต์” (Foremost) กล่าวว่า บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยสถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่า เผยผลงานหลังการวิจัยของโครงการ SEANUTS ครั้งที่ 1 ที่ได้ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2553-2554 อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจภาวะโภชนาการเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ทั้งนี้โครงการสำรวจภาวะโภชนาการครั้งที่1 ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยร้อยละ 20 มีภาวะทุพโภชนาการ (Double burden of malnutrition) นั้นคือเด็กอยู่ในภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และมีภาวะโภชนาการเกิน คือได้รับอาหารในสัดส่วนที่มากเกินไปเกิดการสะสมทำให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
นายวิภาส กล่าวต่อว่า อีกทั้งข้อมูลจากโครงการยังเผยให้เห็นว่าเด็กไทยร้อยละ 60 ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโต ทั้งแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ และ วิตามินซี ต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการรับประทานอาหารของเด็กที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตลอดจนสิ่งที่น่าเป็นห่วงพบว่าแม้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแสงแดดตลอดทั้งปี แต่ 1 ใน 3 ของเด็กไทยยังได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายเพื่อการสร้างมวลกระดูก สืบเนื่องมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตของเด็กในปัจจุบันเปลี่ยนไป เด็กอยู่กับอุปกรณ์เทคโนโลยีมากขึ้นและถูกแสงแดดซึ่งเป็นแหล่งสังเคราะห์วิตามินดีตามธรรมชาติน้อยลง
ทั้งนี้จากข้อมูลจากการสำรวจครั้ง 1 ฟรีสแลนด์คัมพิน่าประเทศไทย ได้ดำเนินงานสานต่อพันธกิจในการมอบโภชนาการที่ดีจากน้ำนมโคคุณภาพจากเกษตรกรโคนมไทยแก่เด็กเยาวชนไทย ผ่านผลิตภัณฑ์นมโคคุณภาพที่อุดมไปด้วยโภชนาการที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด Win with Nutrition ที่จะมาตอบโจทย์ความต้องการด้านสารอาหารและช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กไทยโดยเฉพาะได้อย่างตรงจุด เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเด็กไทยให้เป็นไปอย่างเหมาะสมตามวัย โดยโครงการที่สำเร็จลุล่วงไปแล้ว อาทิ โครงการดื่ม.ขยับ.รับ.สุขภาพ (Drink.Move.BeStrong) ที่เน้นความสำคัญของการเลือกบริโภคน้ำนมโคคุณภาพสูงที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่ดี โครงการจูเนียร์ เอ็นบีเอ ไทยแลนด์ โดยโฟร์โมสต์ (Jr. NBA Thailand presented by Foremost) เฟ้นหาสุดยอดเยาวชนไทยไปเปิดประสบการณ์บาสเก็ตบอลระดับโลก รวมถึง โครงการโฟร์โมสต์ ไอรอนคิดส์ ไทยแลนด์ (Foremost Ironkids Thailand) การแข่งขันไตรกีฬาสำหรับเด็กให้ได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งทางด้านร่างกายและจิตใจของตัวเด็กเอง ตลอดจนโครงการ Nutrifit program ที่ฟรีสแลนด์คัมพิน่าประเทศไทยร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าไปให้ความรู้แก่เด็กๆ ในโรงเรียนทั่วประเทศ ในเรื่องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่สมดุลและออกกำลังกาย ในขณะที่ข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวยังได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาด้านโภชนาการในผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กของฟรีสแลนด์คัมพิน่าประเทศไทยอีกมากมาย ในขณะที่ภาครัฐหน่วยงานตลอดจนองค์กรต่าง ๆ ได้นำข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าวมาศึกษาพัฒนาและต่อยอดนโยบายการพัฒนาและแผนการปฏิบัติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนและบูรณาการงานด้านอาหารและโภชนาการของประเทศให้ประเทศไทยมีประชากรเด็กที่มีคุณภาพด้านโภชนาการเช่นกัน
ล่าสุดสถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่าได้ร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มโครงการสำรวจสถานการณ์ของภาวะโภชนาการในเด็กไทยครั้งที่ 2 (Southeast Asia Nutrition Survey: SEANUTS II) โดยได้ดำเนินการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กกว่า 18,000 คนทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนามและมาเลเซีย เพื่อให้ได้ทราบถึงข้อมูลความต้องการเชิงลึกด้านสารอาหารและโภชนาการของเด็ก เพราะส่วนหนึ่งการที่จะทำให้คนเราเติบโตมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงนอกเหนือจากพันธุกรรมแล้วยังเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มก็มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ดังนั้นหากประชากรวัยเด็กเกิดภาวะทุพโภชนาการก็จะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเฉพาะเด็กวัยเจริญเติบโตที่อายุตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 12 ปี ถือเป็นช่วงวัยที่ควรส่งเสริมด้านโภชนาการที่ครบถ้วนทั้งการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเสริมด้วยการดื่มนมทุกวัน ฉะนั้นการมีโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของทุกเพศและช่วงวัยจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นายวิภาส กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล ที่ปรึกษา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ Southeast Asia Nutrition Survey (SEANUTS) กล่าวว่า โครงการจะดำเนินการสำรวจสถานการณ์ของภาวะโภชนาการในเด็กไทยครั้งที่ 2 (SEANUTS II) ได้เข้าสู่กระบวนการสำรวจภาวะโภชนาการเด็กไทยทั่วประเทศ โดยการเก็บข้อมูลครอบคลุมด้านการเจริญเติบโต การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และตัวชี้วัดทางชีวเคมีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี ปัจจุบันดำเนินการสำรวจไปแล้วกว่า 60% หรือคิดเป็นเด็กจำนวนกว่า 2,200 คน โดยคาดการณ์ว่าจะดำเนินการสำรวจครบถ้วนตามเป้าหมายจำนวน 3,545 คน ภายในสิ้นปี 63
สำหรับการสำรวจ SEANUTS ครั้งที่ 2 นี้ได้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาโภชนาการอย่างครอบคลุม และจากภาวะทุพโภชนาการที่มีมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งโปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเด็ก ดังนั้นการสำรวจ SEANUTS ครั้งที่ 2 จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการบริโภคโปรตีนและภาวะโภชนาการ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ SEANUTS ครั้งที่ 2 นี้จะเป็นข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายโภชนาการด้านต่าง ๆ เพื่อให้เด็กไทยมีภาวะโภชนาการและสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้จากข้อมูล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2562 รายงานสถานการณ์ปัญหาทุพโภชนาการในประเทศไทย พบเด็ก 0-5 ปี มีภาวะเตี้ยร้อยละ 10.6 ภาวะอ้วนร้อยละ 9.1 และภาวะผอมร้อยละ 5.6 หรือ 1 ใน 10 ของเด็กปฐมวัยไทยมีภาวะเตี้ยหรืออ้วน และเมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่วัยเรียนในช่วงอายุ 6-14 ปี มีแนวโน้มพบภาวะเตี้ยร้อยละ 8.3 และผอมร้อยละ 4.3 นอกจากนี้ยังพบว่ามีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.1 ตามลำดับ แต่ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มดีกว่าสถานการณ์เฉลี่ยระดับนานาชาติที่พบว่าอัตราเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ไม่แคระแกร็น อยู่ที่ระดับ 0.89 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานโลกที่กำหนดค่าไว้ในระดับ 0.77 รศ.ดร.นิภา กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่า www.frieslandcampinainstitute.com หรือข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ 02-620-1900 เว็บไซต์ www.foremostthailand.com และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/ForemostThailand