“กล้าที่จะดิสรัปตัวเองและพร้อมที่จะปรับตัวสู่อนาคต” วิธีคิดที่ทำให้เกิด Big Move ที่ขยายการเติบโตรูปแบบใหม่ๆ ของ KBank ล่าสุดยกเคแบงก์ไปไว้ในแชทของ LINE – Super App ที่มีคนไทยใช้งานกว่า 47 ล้านคน


ธุรกิจ “ธนาคารพาณิชย์” ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อเราทุกคนอยู่ในยุคเเห่งเทคโนโลยี ทุกวันนี้เเอปพลิเคชัน “โมบายเเบงกิ้ง” กลายเป็นสิ่งที่ต้องมีติดไว้ในมือถือไปเเล้ว ทำให้ธนาคารต่างๆ กำลังเปิดศึกเเย่งฐาน “ลูกค้าออนไลน์” กันอย่างดุเดือด

แบงก์สีเขียวอย่าง ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เป็นค่ายแรกที่ประกาศบุกทางดิจิทัลอย่างเต็มตัว ปัจจุบันเป็นผู้นำด้านดิจิทัล แบงกิ้ง ด้วยยอดผู้ใช้ K PLUS  ถึง 14 ล้านบัญชี จากฐานลูกค้าบุคคลที่มีบัญชีเงินฝากของกสิกรไทยทั้งหมดราว 16.7 ล้านบัญชี

แต่ KBank ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ นอกจากการปรับช่องทางการให้บริการให้เป็น multi-channels ที่พร้อมรองรับความต้องการของลูกค้าหลากหลายรูปแบบแล้ว KBank ยังวางยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Open Banking ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ที่ความสำเร็จของ K PLUS เท่านั้น และ KBank จะอยู่แค่ในที่ที่เคยอยู่ไม่ได้อีกต่อไปเพราะทุกวันนี้การแข่งขันไม่ได้มีแค่ธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่ม non-bank ฟินเทคต่างๆ อีก

“ดิสรัปตัวเองดีกว่าถูกคนอื่นดิสรัป” ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เคยพูดไว้และทำให้เห็นชัดเจนถึงยุทธศาสตร์สำคัญของ KBank

ด้วยวิธีคิดและวางแผนล่วงหน้าแบบนี้ เราจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวที่เป็น “บริการทางการเงิน” (Banking Service) รูปแบบใหม่ๆ ที่ KBank พัฒนาเพื่อไปรวมอยู่กับธุรกิจหรือบริการไหนๆ ก็ได้   มากกว่าติดยึดรูปแบบการให้บริการของธนาคารแบบเดิมๆ

ยกตัวอย่างเช่น บนแอป K PLUS ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มของแบรนด์ดังๆ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการรูปแบบใหม่ๆ บน K PLUS ที่มากกว่าการโอน เติม จ่าย เช่น ฟีเจอร์เพิ่มบัตรสมาชิก The 1 ทำให้ลูกค้าสามารถแลกพ้อยท์ระหว่างแบรนด์ได้, เปิด K+ Market ที่เป็นแหล่งรวมดีลดีๆ ให้ลูกค้าได้ใช้คะแนนสะสมบัตรเครดิตกสิกรไทยแลกซื้อสินค้า เป็นต้น

และที่น่าสนใจคือ เราจะเห็นข่าวคราวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า KBank ได้ประกาศความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายเจ้าที่มีสินค้าและบริการที่ลูกค้าใช้เป็นประจำทุกวันรวมกว่า 50 แบรนด์ เช่น Grab, Facebook, LINE, Lazada, Shopee, Central JD FinTech, JD Central, เครือ OR, YouTrip เป็นต้น เป็นการพาตัวเองไปหาโอกาสใหม่ๆ กับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางที่ตนเองใช้เป็นประจำทุกวัน อีกทั้งยังเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ทำให้ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ และสร้างรายได้ใหม่ต่อไปในอนาคต

พัฒนา LINE BK ตอบโจทย์วันนี้ที่คนไทยกว่า 47 ล้านคนใช้ LINE ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 63 นาที

LINE เป็น Super App ระดับโลก ในประเทศไทยมีคนใช้งานกว่า 47 ล้านคนหรือคิดเป็นประมาณ 67% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทย LINE เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันประจำวันที่ขาดไม่ได้ของคนไทย โดยเฉลี่ยแล้ววันละ 63 นาที

วันนี้ LINE BK เปิดให้บริการแล้ว โดยให้คำจำกัดความตัวเองว่า เป็นบริการทางการเงินแบบSocial Banking เต็มรูปแบบรายแรกของไทย เหมือนยกบริการของ KBank ให้ลูกค้าได้ใช้งานง่ายๆ ในแชท LINE

งานนี้เรียกว่า KBank สยบทุกคำทำนายที่เคยบอกว่า แบงก์ไทยจะไม่รอดถ้า Social Banking เกิดขึ้น เพราะวันนี้ KBank จัดตั้ง Social Banking ขึ้นมาเองเลย เป็นดีลระดับโลกร่วมกับ LINE Financial ตั้งบริษัท กสิกรไลน์ จำกัด เพื่อให้บริการสินเชื่อ เริ่มต้นทำงานกันมาตั้งแต่ 3 ปีก่อนและใช้เวลาพัฒนาร่วมกันจนออกมาเป็นบริการ LINE BK วางคอนเซปต์เน้นสไตล์ใกล้ชิดลูกค้าว่า “เรื่องเงินง่ายใน LINE คุณ” “ยืมเงิน LINE ง่ายกว่า”

มีข้อมูลน่าสนใจว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ซึ่งประชากร 69 ล้านคน เเบ่งเป็น

  • กลุ่มที่ 1 : Banked – คนไทย 37% เข้าถึงบริการธนาคาร และใช้บริการธุรกรรมการเงินอย่างเต็มรูปแบบ เช่น มีบัญชีเงินฝาก, มีบัตรเครดิต, ซื้อประกันเเละซื้อกองทุน
  • กลุ่มที่ 2 : Underbanked – คนไทย 45% มีโอกาสเข้าถึงบริการธนาคาร และบริการทางการเงินแบบ “ผิวเผิน” คือมีบัญชี แต่ยังไม่เข้าถึงผลิตภัณฑ์ บริการอื่นๆ
  • กลุ่มที่ 3 : Unbanked คนไทย 18% ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน คือไม่มีบัญชีเลย

ดังนั้น วิธีการใช้งาน LINE BK จึงง่ายมาก แค่เปิดบัญชี LINE BK บน LINE แล้ว เจ้าของบัญชีสามารถ แชท โอน ยืม จ่าย อยู่ใน LINE ได้เลย รวมถึงบริการสินเชื่อที่จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดให้กับลูกค้ากลุ่มฟรีแลนซ์ หรือคนไม่มีรายได้ประจำสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

ผลจากการคิดก่อน มองไกล และเริ่มก่อน ย่อมได้เปรียบ เพราะมาวันนี้ การพัฒนาร่วมกันกับบิ๊กแบรนด์ทั้งหลาย ทำให้ KBank เริ่มทยอยปล่อยบริการใหม่ๆ ที่เรียกว่าพลิกโฉมวงการการเงินออกมาเรื่อยๆ และตอกย้ำความแข็งแกร่งของ KBank