JR West ร่วมกับ Alibaba จัดอีเวนต์ Virtual Tour ไลฟ์สดพาคนจีนชมเมืองเกียวโตแบบเสมือนจริง ระหว่างที่สองประเทศยังเดินทางหากันไม่ได้ แม้คนจีนจะตอบรับเป็นอย่างดี แต่คนญี่ปุ่นเจ้าบ้านกลับไม่พอใจอย่างมาก เพราะเกียวโตเคยมีปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (overtourism) มาแล้ว และเกรงว่าการโปรโมตเกียวโตเพิ่มอีกจะทำให้คนจีนแห่กลับมาทันทีที่เปิดประเทศ
JR West และ Alibaba จับมือกันจัดอีเวนต์พิเศษ Virtual Tour ชมเมืองเกียวโต โดยนำอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง Archie ซึ่งเป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น มาเป็นพิธีกรนำชมสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองเกียวโตแบบสดๆ ผ่านทาง Taobao Live แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในเครือ Alibaba เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ทัวร์เสมือนจริงความยาว 2 ชั่วโมงนี้ เริ่มต้นที่ภาพจากบนรถไฟชมวิวซากาโน่ จากนั้นเดินทางชมสถานที่หลายแห่งรอบๆ อาราชิยาม่า พร้อมพาลงเรือแจวของที่นั่นด้วย ทัวร์ครั้งนี้มีคนเข้ามาดูพร้อมกันสูงสุดทะลุ 1 แสนวิว ทำให้เป็นทัวร์เสมือนจริงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง
ไอเดียการจัดไลฟ์สดพาชมเกียวโต ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางกันอีกครั้งเมื่อปลดล็อกประเทศ โดยตัวแทนจาก Alibaba บอกว่าเลือกเกียวโตเพราะญี่ปุ่นคือประเทศอันดับ 1 ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยม
อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับของฝั่งชาวญี่ปุ่นกลับเป็นในทางตรงกันข้ามกับที่คนคิดแคมเปญตั้งใจ ชาวญี่ปุ่นส่วนมากรู้สึกตกใจที่บริษัท JR เป็นเจ้าภาพอีเวนต์แบบนี้ เพราะก่อนหน้าเกิดโรคระบาด เกียวโตต้องประสบปัญหา นักท่องเที่ยวล้นเมือง (overtourism) เมืองและแหล่งท่องเที่ยวเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ “หยาบคาย” และไม่มีชาวญี่ปุ่นคนไหนต้องการกลับไปเผชิญสภาพความเป็นอยู่แบบเดิม นั่นคือเมืองที่เต็มไปด้วยรถบัสอัดแน่นและโรงแรมที่เต็มทุกห้องจนคนญี่ปุ่นเองก็มาเที่ยวลำบาก
ตัวอย่างความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นต่อแคมเปญนี้ เช่น “ฉันรู้สึกหดหู่ทันทีที่คิดถึงฝูงคนที่จะกลับมาอีกครั้ง แคมเปญนี้ไม่ได้คิดถึงผู้พักอาศัยในเมืองเลยสักนิดเดียว” “ทำไมพวกเขาถึงพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขนาดนี้ พวกเขาไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย ถ้าจะทำแบบนี้ ทำไมไม่เน้นไปที่นักท่องเที่ยวในประเทศ” “พวกเขาไม่เคยเรียนรู้จริงๆ ถ้าคุณยังพึ่งพิงคนจีน เรื่องเดิมๆ ก็จะเกิดขึ้นเหมือนก่อนหน้านี้”
ทั้งนี้ แม้ว่าความไม่พอใจส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่นักท่องเที่ยวจีน แต่ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเกินของเกียวโตนั้นเกิดจากนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติรวมกัน และรวมถึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วย เพราะเกียวโตเป็นจุดหมายสำคัญของทัวร์ทัศนศึกษาเด็กมัธยมและคนญี่ปุ่นเองก็นิยมมาที่นี่อยู่แล้ว
ย้อนวันวาน เมืองเกียวโตที่คลาคล่ำไปด้วยคน
แม้ขณะนี้เมืองเกียวโตจะหายใจหายคอได้โล่งขึ้น แต่ก่อนหน้าการปิดประเทศและโรคระบาด สภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมืองของเกียวโตถึงจุดพีคสุดตั้งแต่ปี 2018 โดยในรอบสิบปี (2008-2018) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเกียวโตพุ่งขึ้นจาก 5 แสนคนไปแตะ 8 ล้านคน และถ้าหากรวมนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น จะมีนักท่องเที่ยวเข้าเกียวโตถึงปีละ 52 ล้านคน ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วเมืองนี้มีประชากร 15% เป็นนักท่องเที่ยว
แต่โครงสร้างของเมืองไม่ได้พร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวมากมายขนาดนี้ ทำให้ขนส่งมวลชนแน่นเอี้ยดไปด้วยนักเดินทาง นักท่องเที่ยวลากกระเป๋าขวางทางเดินเสียงดัง ไล่ตามถ่ายภาพเกอิชา ทิ้งขยะเกลื่อนกลาดตามสถานที่ท่องเที่ยว แม้แต่ป่าไผ่ในอาราชิยาม่าก็มีคนมือบอนแกะสลักชื่อของตนเองลงบนลำต้นไผ่
นอกจากสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตแล้ว คนเมืองเกียวโตยังต้องรับภาระค่าอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งขึ้น เนื่องจากโรงแรมและการลงทุน “บ้านหลังที่สอง” ของชาวต่างชาติมาปั่นราคาบ้านจนสูงขึ้น รวมถึงค่าอาหารและบริการก็สูงขึ้นด้วยตามดีมานด์นักท่องเที่ยว ดังนั้น คนเกียวโตจึงรังเกียจนักท่องเที่ยวมากขึ้นทุกทีจนบางคนมีทีท่าไม่ต้อนรับและมุ่งร้ายเลยทีเดียว
ทางการของเกียวโตพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2017 เช่น ออกกฎระเบียบให้บ้านพักที่อยู่ในเขตที่อยู่อาศัย หากจะปล่อยเช่าในแพลตฟอร์มแบบ Airbnb ให้ทำได้ไม่เกิน 2 เดือนต่อปี และต้องอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมเท่านั้น แต่ก็ยังมีผู้ให้เช่ารายเล็กๆ ที่ฝ่าฝืนกฎอยู่เสมอ
บางคนอาจมองว่าการท่องเที่ยวบูมจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่จริงๆ เมืองเกียวโตไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวแต่เป็นเมืองอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของเศรษฐกิจเมือง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ได้ช่วยให้
รายได้ของพนักงานสูงขึ้น เพราะตำแหน่งงานในธุรกิจนี้ก็มักจะเป็นงานพาร์ตไทม์มากกว่า สถานที่ท่องเที่ยวของเมืองส่วนใหญ่ก็เป็นวัดและศาลเจ้าซึ่งไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ทางการไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นมาพัฒนาเมือง ทั้งที่มีนักท่องเที่ยวล้นหลาม
โดยสรุป สภาพเช่นนี้ทำให้คนเมืองเกียวโตไม่อยากต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกต่อไป เหมือนตัวอย่างคอมเมนต์ข้างต้นที่แค่พบเห็นการจัดโปรโมตด้วยทัวร์เสมือนจริงก็เกิดอาการ “เข็ดขยาด” ไปตามๆ กันแล้ว
Source: Japan Today, Nippon.com