หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นับเป็นหนึ่งใน “ศาสตร์พระราชา” ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้กับประชาชนคนไทยได้น้อมนำมาปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตเป็นทางออกในการประคับประคองตัวเองให้อยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตสถานการณ์การระบาดของไวรัสร้ายโควิด-19คนไทยทุกคนได้มีการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ New Normal แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีหนัก ก็ต้องจำเป็นอย่างมากที่ปรับตัวในวิถีใหม่แต่ก็ต้องรู้จักประหยัดมัธยัสถ์ มีน้อยใช้สอยน้อย ด้วยเหตุฉะนี้ ทาง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จึงมองเห็นความสำคัญเรื่องการปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ซึมซับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งในศาสตร์พระราชาที่หลายๆ หน่วยงานกำลังขับเคลื่อน เพื่อรักษา สืบสานและต่อยอด และที่สำคัญคือศาสตร์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นโมเดลในหัวใจคนไทยอย่างยั่งยืน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้เล็งเห็นเห็นถึงแนวทางในการแก้ไขวิฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปลูกฝังเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนไทยทุกคน จึงนำร่องผนึก โครงการตามรอยพระราชา จัดกิจกรรม เอไอเอถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เพื่อถ่ายทอดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้กับตัวแทนเยาวชนผู้นำกว่า 20 คน ทั่วประเทศมาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา การทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ และความพอเพียง ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านศาลาดิน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมเพื่อเป็นการให้โอกาสและปลูกฝังเยาวชนเพื่อเรียนรู้จากกิจกรรมนอกห้องเรียน พร้อมทั้งร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พร้อมสอดแทรกการเรียนรู้มิติใหม่ที่เน้นเรื่องการถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เพื่อให้เยาวชนไทยได้เข้าใจ และนำหลักคิดดีๆ ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน เพื่อประโยชน์แก่ตัวเองและสังคมต่อไป
โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้นำตัวแทนเยาวชนลงพื้นที่ ณ บ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐมพร้อมได้รับความรู้พร้อมโมเดลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงโดยนายวันชัย สวัสดิ์แดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านศาลาดินเล่าว่า “บ้านศาลาดินเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นหลังจากเริ่มมีการขุดคลองมหาสวัสดิ์ ในปี พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ทางการสร้างศาลาเพื่อสาธารณประโยชน์ริมคลองขุดมหาสวัสดิ์ทุกระยะทาง 4 กิโลเมตร เป็นจำนวนทั้งหมด 7 ศาลา ศาลาหลังสุดท้ายตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลมหาสวัสดิ์ เรียกกันว่าศาลาดิน จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านศาลาดิน”เดิมทีชาวบ้านมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวปีละครั้งเป็นเหตุให้มีฐานะยากจน ต้องขายที่ดินทำกินของตัวเอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จำนวน 1,009 ไร่ในปีพ.ศ. 2518 โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลและจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรแปลงละ 20 ไร่ ให้เกษตรกรเข้าทำกินได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 พร้อมกับพระราชทานแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสาน ส่งผลให้คนในชุมชนบ้านศาลาดินมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันบ้านศาลาดินกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติด้านการจัดการน้ำในชุมชนตามแนวพระราชดำริ”
นายจีระพงษ์ จูมครอง นักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้นำนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมเรียนรู้ โครงการเอไอเอสถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา โดยส่วนตัวมีความสนใจที่จะศึกษาเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และวันนี้ได้มาเห็นกับตาตัวเองว่าชุมชนบ้านศาลาดิน อุดมสมบูรณ์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข แทบจะทุกหลังคาเรือน มีการปลูกพืชผัก ทำการเกษตร รวมถึงการจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อสร้างรายได้พร้อมนำโมเดลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงเข้ามาปรับใช้และขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดี และผมได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมนาบัวลุงแจ่ม พื้นที่ปลูกบัวสัตตบงกชที่มีทิวทัศน์สวยงามและมีศาลากลางน้ำให้ความร่มรื่น พร้อมทั้งเรียนรู้แนวพระราชดำริการทำเกษตรแบบผสมผสานจากป้าติ๋ว ปราชญ์ชาวบ้านเจ้าของนาบัวลุงแจ่ม ทั้งยังได้ลองพายเรือเก็บบัว หัดพับดอกบัวถวายพระและร่วมกันสวดมนต์ถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากนี้ยังได้รับประทานอาหารว่างรวมถึงน้ำเกสรดอกบัวที่ให้ความสดชื่นและหาทานได้ไม่ง่ายนัก”
นอกจากนี้เหล่าเยาวชนกว่า 20 คน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตแบบชาวสวนชาวไร่และการเกษตรผสมผสาน ด้วยการนั่งรถอีแต๋นชมสวนผลไม้และวิวทุ่งนาแบบ 360 องศา และยังได้ชิมผลไม้สดจากสวนที่มีให้ทานอย่างหลากหลายตลอดทั้งปีพร้อมเรียนรู้ศาสตร์พระราชาเรื่องความพอเพียง จากการลงมือทำขนมไทยพื้นบ้านคือ ข้าวตู ที่ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานและได้รับความสนใจจากเหล่านักศึกษาเป็นอย่างมาก
อีกทั้งยังได้ฟังแรงบันดาลใจของด.ญ. พริมา ธัญญอนันต์ผล เยาวชนผู้ออกแบบภาพปกหนังสือเดินทางตามรอยพระราชาที่จัดทำโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยคัดสรร 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ตามรอยพระราชา เพื่อช่วยในการลงพื้นที่ทำกิจกรรมเรียนรู้ศาสตร์พระราชา พร้อมสร้างความเข้าใจและเข้าถึงคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และเพื่อให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพัฒนา ‘ศาสตร์พระราชา’ ให้ชาวบ้านนำมาปฏิบัติจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น
กิจกรรมในโครงการ “เอไอเอส ตามรอยพระราชา ถอดรหัสนวัตกรรม ณ บ้านศาลาดิน”ยังรวมถึงการบรรยายให้ความรู้เรื่องเคล็ดลับในการตัดต่อวิดีโอให้น่าสนใจ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นมากขึ้นในการเรียนและการทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยนายณภัทร ตั้งสง่า ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นระดับเอเชีย และกิจกรรมเวิร์กช็อปถอดบทเรียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงผ่านบอร์ดเกม โดย อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม วิทยากรจิตอาสา นักเรียนเก่า AFS และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบกาณ์ที่ได้รับจากโครงการครั้งนี้ โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด
งานนี้เยาวชนได้ทั้งความรู้และประสบการณ์แปลกใหม่ พร้อมทั้งความประทับใจและแนวคิดที่มีประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแน่นอน