กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เผยแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยและอาเซียนปี 2564 ในงานสัมมนา Krungsri Business Talk: Thailand and ASEAN Economic Outlook 2021 งานสัมมนาแบบไฮบริดทั้งออนไลน์และออนกราวด์ ที่จัดขึ้นเพื่อลูกค้าธุรกิจของกรุงศรี ด้วยการผสานพลังศักยภาพระหว่างกรุงศรีและ MUFG รวมทั้งเครือข่ายธนาคารพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงินชั้นนำในอาเซียน ระดมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเงินมาร่วมวิเคราะห์และประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเงินโลก พร้อมเจาะลึกอินไซต์ใน 4 ประเทศอาเซียน – ไทย เวียดนาม อินโดนิเซีย และเมียนมา ท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19
นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการจัดงานสัมมนาครั้งนี้แสดงถึงศักยภาพที่โดดเด่นของกรุงศรีในการผสานความร่วมมือกับเครือข่ายที่ครอบคลุมของ MUFG โดยมีวิทยากรทั้งจาก MUFG Bank ในสิงคโปร์ และธนาคารพันธมิตรคือ Bank Danamon Indonesia และ VietinBank ประเทศเวียดนาม ร่วมให้ข้อมูลเชิงลึกผ่านทางออนไลน์อีกด้วย โดยกรุงศรีมีความพร้อมทั้งบริการทางการเงิน บริการให้คำปรึกษาและข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้กับลูกค้าที่มองหาตลาดที่มีศักยภาพในภูมิอาเซียน และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความผันผวนของโลกธุรกิจ ตอกย้ำพันธกิจของกรุงศรีในการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นธนาคารพันธมิตรที่ลูกค้าไว้วางใจ
ภายในงาน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดประเด็นว่าเศรษฐกิจของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่วิกฤตโควิค-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกตลอดปี 2563 และมีแนวโน้มว่าภาคธุรกิจต่างๆ ของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในปีหน้า แต่ภาคท่องเที่ยวยังคงชะลอตัว อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ กลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงจึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักที่จะผลักดันอัตราการใช้จ่ายในประเทศ
สำหรับแนวโน้มเมกะเทรนด์ของโลกที่จะมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม คือ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ที่ต่อเนื่องจากปีนี้ โดยประเทศในแถบเอเชียจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ ความผันผวนของตลาด การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ธุรกิจ ลดความเกี่ยวข้องกับคน ห่วงโซ่อุปทานจะสั้นลง ขณะเดียวกันแนวโน้มRegionalization หรือการรวมกลุ่มระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน จะมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนเองมีจุดเด่นที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดที่ต่างกัน จึงเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆ ภายในอาเซียน
ด้าน Ms. Sook Mei LEONG, ASEAN Head of Global Markets Research, MUFG Bank Singapore ให้ความเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2564 มีแนวโน้มดีกว่าปีนี้จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ตลอดจนภาพรวมของตลาดในเอเชีย รวมทั้งท่าทีและนโยบายของผู้นำประเทศคนใหม่ของญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ขณะที่เงินเยนและเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น และเศรษฐกิจของจีนจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในบรรดาประเทศ G10 สำหรับอาเซียน การเลือกตั้งที่ประเทศมาเลเซียและเวียดนามในปีหน้า อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
นายรมเกียรติ แก้วรัตนอัมพร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการกลุ่มธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการสมาคมนักธุรกิจไทย ประเทศสาธารณรัฐเมียนมา กล่าวถึงสถานการณ์และโอกาสทางเศรษฐกิจของเมียนมาว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากในระยะยาวสำหรับธุรกิจไทย เพราะคนเมียนมามีทัศนคติที่ดีและเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย ธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย ได้แก่ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจเครื่องจักรการเกษตร การท่องเที่ยว บรรจุภัณฑ์อาหาร และอีคอมเมิร์ซ โดยกรุงศรีมีสำนักงานตัวแทน ณ กรุงย่างกุ้ง พร้อมให้บริการลูกค้าทั้งด้านการเงิน ข้อมูลด้านกฎระเบียบ ข้อมูลเชิงลึกและการแนะนำเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชนให้กับนักธุรกิจไทยที่สนใจลงทุนในเมียนมา
สำหรับ Mr. Wisnu Wardana นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคาร Danamon ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แนวทางการส่งเสริมการลงทุนด้านไอซีที และการปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจ และสร้างระบบนิเวศการลงทุนที่เอื้อต่อการจ้างงานที่มากขึ้น ส่วนธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ ธุรกิจด้านไอซีที การเงิน และอาหารและเครื่องดื่ม
ปิดท้ายที่ Mr. Le Duy Hai, Head of Corporate Banking Division, VietinBank ประเทศเวียดนาม กล่าวเสริมว่าเวียดนามมีความพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน เช่น สิทธิทางภาษีต่างๆ สำหรับการลงทุนแบบ Public-Private-Partnership หรือ PPP ค่าแรงที่ถูกกว่า ความมั่นคงทางการเมืองที่สูงกว่า นอกจากนั้นยังได้รับสิทธิพิเศษจากข้อตกลงเศรษฐกิจต่างๆ เช่น CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้งานสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ของซีรีส์สัมมนาที่จัดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับลูกค้าธุรกิจของกรุงศรี ภายใต้บริการ Krungsri Business Empowerment ที่เน้นการให้บริการข้อมูลเชิงลึกผ่านกิจกรรมสัมมนาและการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่จะช่วยสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจและสร้างการเติบโตให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง สามารถชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่ Krungsri Business Empowerment Facebook, Krungsri Simple Youtube และ Krungsri.com
Related