ส่องปัจจัย “เวียดนาม” เตรียมครองที่ 1 อาเซียน เศรษฐกิจโตแรงสุดยุค COVID-19

Photo : Shutterstock
มาตรการตอบสนองโรคระบาดที่รวดเร็ว และได้ผลจริง บวกกับการส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง และรายจ่ายสาธารณะซึ่งอยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจของเวียดนามรอดพ้นสภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2020 และสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วกว่าเพื่อน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก

ส่งออกยังขับเคลื่อนประเทศ

ในขณะที่หลายประเทศมีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 นับหมื่นนับแสนคน และมีอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง แต่เวียดนามสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1,500 คน และมีผู้เสียชีวิตเพียง 35 คนเท่านั้น

ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากมาตรการกักกันโรคขนานใหญ่ การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และการควบคุมการเคลื่อนที่ของประชากรอย่างเข้มงวด ซึ่งช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่ต้องปิดตัวยาว และประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว

“มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดถูกใช้แค่ไม่ถึง 3 เดือน ดังนั้นกิจกรรมภายในประเทศจึงกลับมาเป็นปกติตั้งแต่ราว ๆ เดือน มิ.ย.” เหงียน ซวน ทัญ (Nguyen Xuan Thanh) อาจารย์ด้านนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยฟุลไบรท์ในนครโฮจิมินห์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

ระหว่างที่พลเมืองในยุโรปถูกขอร้องให้เก็บตัวอยู่บ้านเพื่อสกัดการแพร่เชื้อมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ชาวเวียดนามจำนวนมากยังสามารถไปนั่งกินลมชมวิวตามชายหาดที่สวยงาม เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

Photo : Shutterstock

หลายคนเคยวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกของเวียดนามมีแววจะทรุดหนักจากผลกระทบของ COVID-19 เนื่องจากอุปสงค์สินค้าจำพวกเครื่องแต่งกาย รองเท้า และสมาร์ทโฟน ลดลงในกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

“แต่กลับกลายเป็นว่าภาคการส่งออกยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีในปีนี้ นั่นเป็นเพราะเวียดนามมีตลาดส่งออกที่หลากหลาย เราไม่ได้พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเพียงแห่งเดียว”

ข้อมูลจากกรมศุลกากรเวียดนาม (Vietnam General Customs) ระบุว่ามูลค่าสินค้าที่ส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นกว่า 15% ในช่วง 9 เดือนแรกเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่สินค้าซึ่งเวียดนามเป็นฐานการผลิตสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ ต่างขายดิบขายดี เนื่องจาก COVID-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้น

เศรษฐกิจยังขยายตัว

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา แม้เศรษฐกิจเวียดนามอาจจะเติบโตไม่ถึงเป้าหมาย 6.8% ในปีนี้ แต่ก็คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 2.4% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ดีอันดับต้น ๆ ของโลกตามการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 6.5% ในปี 2021 หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศดำเนินไปตามปกติ

IMF คาดการณ์เมื่อเดือน ต.ค. ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวราว 4.4% ในปีนี้ ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าตัวเลขคาดการณ์ 4.9% ในเดือน มิ.ย.

(Photo by Kevin Frayer/Getty Images)

ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในชาติที่ได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น แอปเปิล อิงค์ เล็งย้ายห่วงโซ่การผลิตมายังภูมิภาคนี้เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการรีดภาษีของอเมริกา และจะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 4 มาอยู่ที่ 54,700 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

ท่องเที่ยวยังทรุด แต่ดีกว่าเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม COVID-19 ยังคงส่งสร้างความลำบากให้แก่บางภาคส่วนในเวียดนาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบินที่ซบเซาหนัก

เมืองเว้ (Hue) ซึ่งมีหมู่โบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเวียดนาม เวลานี้มีสภาพไม่ต่างจากเมืองร้าง โดยสำนักงานท่องเที่ยวจังหวัดเถื่อเทียน-เว้ ระบุว่า โรงแรมในเว้กว่า 80% ต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน และยอดคนตกงานก็สูงถึง 8,000 คน

“ตั้งแต่มีโรคระบาดใหญ่ พวกเราเดือดร้อนกันมาก” เหงียน วัน ฟุก (Nguyen Van Phuc) รองผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวจังหวัดเถื่อเทียน-เว้ บอกกับเอเอฟพี

บรรยากาศการท่องเที่ยวในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ก็มีสภาพไม่แตกต่างกันนัก โดย งู ดิญ ตอย (Ngu Dinh Toi) ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมในย่านฮาลองเบย์และเมืองซาปาให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า “การท่องเที่ยวตายสนิท”

เวียดนาม
Photo : Shutterstock

“ตอนที่โรคซาร์สระบาดเราก็ยังรอดมาได้ ช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2009-2010 ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่สถานการณ์ตอนนี้มันไม่น่าเชื่อจริง ๆ” ตอย กล่าว

กระนั้นก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามยังถือว่าได้รับผลกระทบจาก COVID-19 น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่าง “ไทย” ซึ่งไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัวถึง 7.1% อยู่ในอันดับรองบ๊วยจาก “ฟิลิปปินส์” ที่คาดว่าจะหดตัวถึง 8.3% แรงสุดในกลุ่มอาเซียน

ทัญ ชี้ว่าการที่รัฐบาลเวียดนามอัดฉีดเม็ดเงินสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การตัดถนนและสะพาน มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากพอสมควร

“เงินลงทุนเหล่านี้ช่วยเพิ่มอุปสงค์ชดเชยสิ่งที่เสียไปจาก COVID-19 และการบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดลง และช่วยยังสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นด้วย”

การลงทุนภาครัฐ (public investment) ในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 34% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งนับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 9 ปี ตามข้อมูลสถิติของรัฐบาล

แอดัม แมคคาร์ธีย์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบัน Mekong Economics ในกรุงฮานอย เชื่อว่า การที่เวียดนามสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงจาก COVID-19 ในปีนี้จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ระยะยาวตลอดหลายปีข้างหน้า

เขาระบุว่า แนวทางการรับมือ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ “เกือบทำให้เวียดนามมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก” และยังช่วยส่งสัญญาณไปยังบริษัทต่างชาติรายใหญ่ ๆ ว่าเวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่พวกเขาควรหันมาให้ความสนใจมากขึ้น

Source