วิธีรับมือ 7 คำถาม “สัมภาษณ์งาน” ที่คนสมัครงานมักจะต้องเจอ

ปีใหม่ 2564 นี้หลายคนอาจมีคิว “สัมภาษณ์งาน” รออยู่ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย และจำนวนตำแหน่งงานในตลาดที่ลดลง การตอบคำถามสัมภาษณ์ให้ปังจนนายจ้างให้คะแนนคุณเป็นเบอร์หนึ่งคือเรื่องสำคัญมาก

สถิติจากเว็บไซต์ InterviewSuccessFormula.com พบว่า 80% ของผู้สมัครงานที่ส่งเรซูเม่จะไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ ดังนั้น หากคุณคือ 20% ที่เหลือที่ผ่านการประเมินรอบแรก ใบสมัครงานเข้าตากรรมการ และกำลังจะเข้าสู่ด่านต่อไปคือการ “สัมภาษณ์งาน” ร่วมกับคู่แข่งที่ไม่รู้ว่ามีอีกกี่คน นี่คือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการตอบคำถาม

“แอชลีย์ สตาห์ล” โค้ชและนักพูดด้านการงานอาชีพ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา เขียนบทความแนะนำการตอบ 7 คำถามสำคัญในการสัมภาษณ์งาน คำถามเหล่านี้เป็นคำถามทั่วไปที่คนมักจะเจอ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ตอบได้ดี

1) แนะนำตัวเอง

คำถามที่ดูเหมือนเป็นคำถามธรรมดาๆ จริงๆ แล้วเป็นหนึ่งในคำถามที่สำคัญที่สุด ผู้สัมภาษณ์มักจะมองคำถามนี้เป็นเหมือนการ “อุ่นเครื่อง” สำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกในลำดับต่อไป สตาห์ลแนะนำว่า ผู้ตอบควรจะใช้โอกาสนี้ในการแนะนำตัวให้เห็นความตั้งใจในการสมัครงาน โดยแบ่งคำตอบออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

  • เล่าเรื่องราวของตัวเอง : นอกจากการเล่าประวัติการศึกษาและการทำงาน ควรจะเสริมข้อมูลการสมัครงานนั้นๆ ด้วยว่าคุณมีแพสชัน มีความตั้งใจอย่างไรที่จะทำงานนี้ ไม่ใช่การหว่านใบสมัครและบังเอิญได้รับเลือกให้มาสัมภาษณ์
  • ชิงบอกจุดอ่อนก่อน : ในระหว่างเล่าประวัติการทำงาน คุณอาจจะมีบางอย่างที่เป็นจุดอ่อนบนเรซูเม่ เช่น ทำไมจึงมีช่วงว่างระหว่างการย้ายงานบางจุด หรือทำไมคุณจึงออกจากที่ทำงานเก่าเร็วนัก ผู้สัมภาษณ์อาจจะถามหรือไม่ถามเรื่องพวกนี้ในการสัมภาษณ์ก็ได้ แต่พวกเขามองเห็นจุดอ่อนเหล่านี้แน่นอน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่คุณจะชี้ให้เห็นและอธิบายสั้นๆ
  • “ทักษะทองคำ” ของคุณ : ไม่ต้องเล่าทักษะความสามารถจนหมดทุกเม็ด แต่เน้นเฉพาะความสามารถที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานก็พอ และอย่าลืมเล่าด้วยทีท่า “อวดเบาๆ” ไม่ใช่การอวดความสามารถใหญ่โต เพราะมีการศึกษาในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลพบว่า 72% ของ HR มองว่าบุคลิกภาพแบบ “มั่นใจจนเกินไป” คือเรื่องใหญ่ที่สุดที่จะทำให้คุณถูกกาหัวกระดาษ
  • เป้าหมายของคุณ : นี่คือศาสตร์แห่งการผูกเป้าหมายการทำงานของคุณเข้ากับภารกิจของบริษัทได้อย่างแนบเนียน และยังเป็นการบอกใบ้ให้ผู้สัมภาษณ์รู้ว่า คุณต้องการจะทำงานกับบริษัทนี้ในระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่บริษัทต้องการ

แค่เพียงแนะนำตัวแต่ต้องตอบยาวขนาดนี้เลยหรือ? คุณอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วการตอบแบบปังๆ ตั้งแต่ต้นจะทำให้คุณเป็นผู้สมัครงานที่โดดเด่นขึ้นมาทันที

2) คุณมีข้อเสียสำคัญอะไรบ้าง

นี่คือคำถามเพื่อให้ผู้สมัครงานโชว์ความซื่อสัตย์และจริงใจ และแสดงให้เห็นว่าคุณมีบุคลิกแบบ “คนที่ตระหนักถึงข้อดี-ข้อด้อยของตัวเอง” ซึ่งเป็นซอฟต์สกิลที่สำคัญมากในที่ทำงาน เพราะเป็นทักษะที่คนส่วนใหญ่ไม่มี จากการวิจัยของ Eurich Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้บริหารในสหรัฐฯ พบว่ามีคนเพียง 10-15% ที่มีทักษะดังกล่าว ดังนั้น คุณควรจะแสดงให้เห็นว่าคุณคือหนึ่งในกลุ่มคนหายาก โดยขอแนะนำว่า “อย่า” ใช้คำตอบเหล่านี้

  • ฉันเป็นคนรักความสมบูรณ์แบบ – คนสัมภาษณ์เคยได้ยินมาเยอะแล้ว
  • ฉันเป็นคนบ้างาน – คนสัมภาษณ์รู้ว่าเป็นคำตอบเพื่อเลี่ยงจะตอบความจริง
  • ฉันชอบเก็บงานกลับไปทำที่บ้าน – อาจถูกมองได้ว่า คุณเป็นคนบริหารเวลาไม่เป็น
  • ฉันไม่ชอบการทำให้ใครไม่พอใจ – สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคุณตอบ “ได้ค่ะ/ครับ” กับทุกอย่าง ซึ่งไม่ใช่ข้อเสียจริงๆ ที่คนฟังอยากได้ยิน

การตอบคำถามเรื่อง “ข้อเสีย” เป็นเรื่องของการจัดสมดุลระหว่าง การแสดงให้เห็นจุดอ่อนใหญ่จริงๆ ของคุณโดยไม่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าคุณไม่มีทางที่จะพัฒนาจากจุดนั้นได้เลย พร้อมๆ กับการอ่านให้ออกว่า ตำแหน่งที่คุณสมัครต้องการคนที่มีจุดอ่อนแบบไหน ซึ่งจะกลายเป็นจุดเด่นที่เหมาะสมกับตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งนี้ต้องการคนที่รักการทำงานเป็นทีม หรือต้องการคนที่ทำงานด้วยตนเอง หรือต้องการผู้นำ หรือต้องการคนที่ทำตามคำสั่งได้ดี

คุณต้องวิเคราะห์ตำแหน่งของตัวเองที่สมัครไปให้ออก โดยสตาห์ลมีคำตอบตัวอย่างให้นำไปปรับใช้ให้เหมาะกับตำแหน่งที่คุณสมัครงาน เช่น

  • ฉันเป็นคนทำตามอารมณ์ และมักจะตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ
  • ฉันจะทำงานได้ดีถ้าทำคนเดียว และมักจะทำตามเป้าหมายได้ดีกว่าถ้าไม่มีคนแนะนำมากเกินไป
  • ฉันทำงานได้ดีกว่าในการทำงานเป็นทีม และมักจะต้องการการร่วมมือเพื่อวางวิสัยทัศน์
  • ฉันมักจะชอบคิดแผนงานแบบภาพใหญ่ และให้คนอื่นช่วยคิดรายละเอียดแทน
  • ฉันชอบการคิดรายละเอียดเล็กๆ ในการทำงาน และให้คนอื่นช่วยคิดภาพใหญ่

เพื่อเสริมให้เห็นความสำคัญ เมื่อคุณเลือกจุดอ่อนที่จะตอบได้แล้ว สตาห์ลแนะนำให้พูดถึงความท้าทายด้วยว่าจุดอ่อนนั้นมีผลอย่างไรกับการทำงานของคุณในอดีต และได้พยายามพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

3) ทำไมคุณจึงเหมาะที่สุดที่จะทำงานนี้

ความจริงก็คือ คุณไม่รู้หรอกว่าคุณเหมาะที่สุดหรือเปล่า แต่คุณต้องเชื่อว่าคุณคือคนที่ใช่ สตาห์ลแนะนำวิธีตอบคำถามปลายเปิดและตอบได้กว้างมากนี้ว่า คุณอาจจะเริ่มจากการแนะนำทักษะประเภทซอฟต์สกิลของตัวเองที่ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้เห็นบนเรซูเม่ เช่น

  • ฉันทำงานได้ตามคำสั่งและไม่ต้องมีการตามงานหรือตรวจงานมากนัก
  • ฉันเก่งเรื่องการเล็งเห็นปัญหาล่วงหน้าและสามารถป้องกันสิ่งเหล่านั้นก่อนได้
  • สิ่งที่ฉันทำได้ดีมากคือการรับมือกับลูกค้าที่อารมณ์ไม่ดี

เมื่อพูดถึงทักษะเหล่านี้แล้ว คุณควรจะเล่าเรื่องสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นทักษะนั้นของคุณ และเรื่องสั้นๆ เหล่านี้เองที่ฉายภาพความเป็นตัวคุณได้ดียิ่งกว่าการพูดคุยหรือการอ่านแค่เรซูเม่ และยังเป็นโอกาสได้แสดงตัวตนว่าคุณจะเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรของที่นั่นหรือไม่

การแสดงออกถึงบุคลิกที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรนั้นสำคัญมาก สถิติจาก Millenial Branding พบว่า 43% ของเจ้าหน้าที่ HR มองว่า “บุคลิกเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร” คือคุณลักษณะที่สำคัญ ขณะที่คนสมัครงานส่วนใหญ่มักจะพูดเรื่องทักษะการทำงานเป็นหลักเพื่อแสดงว่าตัวเองเหมาะกับตำแหน่ง การที่คุณเล่าเรื่องเพื่อโชว์บุคลิกที่เข้ากับบริษัทจะส่งให้คุณโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ

4) ถ้าเกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน คุณจะทำอย่างไร

คำถามสุดหินที่คำตอบจะสะท้อนได้ว่าคุณมี EQ มากแค่ไหน และเรื่องความฉลาดทางอารมณ์คือซอฟต์สกิลที่สำคัญมาก โดยมีผลวิจัยพบว่า 71% ของผู้จัดการฝ่าย HR จะเลือกผู้สมัครงานที่มี EQ ดีมากกว่าคนที่มี IQ สูง และ 59% ในจำนวนนี้ถึงกับตอบว่าพวกเขาจะทิ้งใบสมัครของคนที่ IQ สูงแต่มี EQ ต่ำเสียด้วยซ้ำ

จำไว้ว่า สิ่งสุดท้ายที่คุณอยากทำในการสัมภาษณ์งานคือการสร้างบรรยากาศเชิงลบ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะพูดคุยเรื่องความขัดแย้งในการทำงาน คุณก็ต้องเล่าถึงมันในเชิงบวกให้ได้ เช่น การเล่าวิธีรับมือความขัดแย้งในอดีตคงไม่ใช่การเล่าแบบเจาะลึกว่าเพื่อนร่วมงานคุณรับมือยากและขัดขวางการทำงานขนาดไหน แต่อาจจะใช้คำว่า เพื่อนร่วมงานทำให้กระบวนการทำงานช้ากว่าแผน และคุณได้สร้างบทสนทนาเพื่อส่งเสริมกระตุ้นให้เพื่อนร่วมงานให้ความร่วมมือในเชิงบวก

โทนโดยรวมของการเล่าเรื่องนี้ไม่ใช่การบ่นเรื่องคนทำงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างกันของคน แต่เป็นการโชว์ให้เห็นว่าคุณมุ่งมั่นที่การทำงานให้ดีขึ้น

5) คุณเห็นภาพตัวเองอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า

ได้โปรด อ ย่ า ต อ บ ว่ า “อยู่ในตำแหน่งนี้แหละ”

เหมือนกับคำถามที่ขอให้แนะนำตัวเอง นี่คือคำถามปลายเปิดเพื่อให้คุณโชว์ความมั่นใจและแรงขับในการเติบโตทางการงาน คุณควรแสดงให้เห็นว่าคุณจะทำงานหนักและจะเติบโตต่อไป สิ่งที่บริษัทอยากได้ยิน 3 อย่างจากคำถามนี้คือ

  • ความปรารถนาที่จะเติบโตไปกับบริษัท
  • ความปรารถนาที่จะเผชิญความท้าทายภายในบริษัท
  • ความต้องการของคุณและความจำเป็นของบริษัทคือสิ่งที่ไปด้วยกันได้

คำตอบที่ยอดเยี่ยมคือคำตอบที่สามารถเน้นย้ำให้เห็นว่า โอกาสการเติบโตในบริษัทสามารถไปคู่กับเป้าหมายอาชีพในระยะยาวของคุณ

6) เราจะได้เห็นอะไรจากคุณบ้างภายใน 90 วันแรกของการทำงาน

อีกหนึ่งโอกาสให้คุณแสดงออกว่า คุณทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่งนี้มาดี วิธีที่ดีในการตอบคำถามนี้คือลงลึกในรายละเอียดว่า คุณเข้าใจความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับตำแหน่งนี้ รวมถึงมองไปข้างหน้าทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่าหน้าที่นี้น่าจะได้ทำอะไรบ้าง นี่คือคำตอบที่คุณสามารถนำไปพิจารณาใช้

  • พบผู้จัดการแผนกเพื่อพูดคุยว่าเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวคืออะไร
  • สร้างแผนภูมิเป้าหมายเพื่อหาว่าเป้าหมายใดที่จะ “สร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง” เพื่อเน้นทิศทางการทำงานไปในทางนั้น
  • ใช้เวลานี้ในการเฝ้ามอง เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร และแง่มุมต่างๆ ของธุรกิจนี้ให้มากที่สุด
  • สำรวจการทำงานของบริษัทคู่แข่ง และมานำเสนอว่าถ้าพวกเขาจ้างคุณ คุณจะใช้โซลูชันใดให้บริษัทแข่งขันได้ดีขึ้น
  • สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานใหม่

7) คุณมีคำถามจะถามเราไหม

คำตอบของคำถามนี้คือ “ใช่”

คุณต้องไม่ลืมที่จะเตรียมคำถามตัวเองไปบ้างเหมือนกัน ไม่ต้องถามเยอะเกินไป แต่ต้องมีบ้าง ปกติผู้สัมภาษณ์จะยิงคำถามนี้เมื่อใกล้จะจบการสัมภาษณ์ หรืออาจจะเป็นคำถามสุดท้ายเลย ดังนั้น นี่เป็นโอกาสท้ายสุดเหมือนกันที่คุณจะได้แสดงออกว่า คุณมีการเตรียมตัวและกระตือรือร้น รวมถึงเป็นโอกาสให้คุณหาข้อมูลเพิ่มเติมถ้าหากคุณได้รับงานนี้จริงๆ นี่คือลิสต์คำถามที่คุณอาจจะอยากถาม

  • คุณต้องการเห็นความสำเร็จแบบไหนจากฉัน ถ้าฉันได้รับงานนี้
  • ถ้าฉันทำงานนี้ได้ดีเยี่ยม ฉันจะไปได้ไกลแค่ไหนในบริษัทภายในเวลา 6-12 เดือน
  • ชีวิตประจำวันของตำแหน่งนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง
  • อยากให้เริ่มงานเมื่อไหร่
  • ฉันอ่านเจอเรื่อง (บางอย่างที่เกี่ยวกับบริษัท) ดูน่าสนใจมาก คุณช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม
  • วัฒนธรรมองค์กรที่นี่เป็นอย่างไร
  • คุณชอบอะไรมากที่สุดในการทำงานที่บริษัทนี้
  • คุณมีประสบการณ์ที่น่าสนใจในบริษัทมาเล่าให้ฟังบ้างไหม

แต่ละการสัมภาษณ์ย่อมแตกต่างกันไป คุณอาจจะได้รับคำถามพวกนี้ทั้งหมดหรือไม่ได้เลยก็ได้ แต่เป็นไปได้สูงกว่ามากที่ผู้สัมภาษณ์ต้องแตะคำถามอย่างน้อยสักหนึ่งคำถามในนี้ และการเตรียมตัวเองเพื่อตอบคำถามสามัญธรรมดาพวกนี้ย่อมทำให้คุณเหนือกว่าผู้สมัครคนอื่น

การสัมภาษณ์ก็คือบทสนทนาครั้งหนึ่ง ขอแค่คุณพกความมั่นใจไปและอย่าลืมว่าพวกเขาก็ต้องการคนทำงานเช่นคุณมากพอๆ กับที่คุณอยากได้งานนั่นแหละ!

Source