จีนมีแนวโน้มจะก้าวแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี 2028 หรือเร็วกว่าที่ประเมินกันไว้ถึง 5 ปี เนื่องจากระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของสองมหาอำนาจในยุค COVID-19
ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research – CEBR) เผยรายงานประจำปี ระบุว่า “การแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการใช้อำนาจละมุน (soft power) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน กลายเป็นธีมของเศรษฐกิจโลกมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว”
“โรคระบาด COVID-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาทำให้จีนกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบมากขึ้นในการแข่งขันนี้”
CEBR มองว่า “ทักษะด้านการจัดการโรคระบาด” ของจีนซึ่งตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นตั้งแต่แรก รวมถึงการที่ COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวของโลกตะวันตก มีส่วนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจจีนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเฉลี่ย 5.7% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2021-2025 ก่อนที่จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 4.5 ต่อปีในช่วงปี 2026-2030 ตามการประเมินของ CEBR
ในส่วนของสหรัฐฯ คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวชัดเจนในปี 2021 และมีการขยายตัวเฉลี่ย 1.9% ระหว่างปี 2022-2024 ก่อนจะลดเหลือ 1.6% ต่อปีหลังจากนั้น
ญี่ปุ่นจะยังเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกต่อไปจนถึงต้นทศวรรษ 2030 ก่อนจะถูกแซงหน้าโดย “อินเดีย” ซึ่งจะพลอยทำให้ “เยอรมนี” หล่นจากอันดับ 4 ลงไปอยู่ที่ 5 ด้วย
สหราชอาณาจักรซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลกในปัจจุบัน จะร่วงลงไปอยู่อันดับที่ 6 หลังจากปี 2024 เป็นต้นไป
แม้จะได้รับผลกระทบจากการถอนตัวออกจากตลาดร่วมยุโรป แต่ CEBR คาดการณ์ว่าจีดีพีของอังกฤษจะสูงกว่าฝรั่งเศสถึง 23% ภายในปี 2035 โดยได้อานิสงส์จากความเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม CEBR เตือนว่าผลผลิตในเชิงเศรษฐกิจ (output) ของยุโรปซึ่งคิดเป็น 19% ของกลุ่ม 10 มหาอำนาจชั้นนำของโลกในปี 2020 จะร่วงเหลือเพียง 12% ในปี 2035 หรือต่ำกว่านั้น หากเกิดข้อขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป
สถาบันแห่งนี้ยังคาดการณ์ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 น่าจะปรากฏในรูปของอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ