เจาะกลยุทธ์ ‘บัตร Rabbit’ ในวันที่นักท่องเที่ยวหายและถูกท้าทายจาก ‘อีวอลเล็ต’

ตลอด 9 ปีที่ผ่านมามีการออกบัตร ‘แรบบิท (Rabbit)’ มากกว่า 14 ล้านใบ เพื่อใช้เป็นตั๋วรถไฟฟ้าและบัตรเติมเงินสำหรับซื้ออาหารเครื่องดื่มและบริการซึ่งมีกว่า 550 แบรนด์ที่รองรับการใช้งานผ่านบัตรแรบบิท และโดยปกติจะมีการออกบัตรแรบบิทใหม่ประมาณ 2 ล้านใบ/ปี แต่เมื่อมีการระบาดของ COVID-19 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 1.5 ล้านใบ ซึ่งการจะกลับมาเติบโตเหมือนเดิมอีกครั้ง ถือเป็นอีกโจทย์ของ รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บัตรแรบบิท)

รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บัตรแรบบิท)

เดินหน้าเพิ่มพันธมิตร

รัชนี ระบุว่า เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงและจำนวนผู้โดยสารที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนน้อยลงในช่วงล็อกดาวน์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การออกบัตรแรบบิทลดลง แต่ยังมีความหวังว่าในปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะ ‘กลับมา’ หลังจากที่ทั่วโลกได้รับความหวังจากการมี ‘วัคซีน’

อย่างไรก็ตาม บริษัทกำลังดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องในการเพิ่มจำนวนผู้ถือบัตรด้วยการนำบัตรแรบบิทไปใช้ในบริบทต่าง ๆ อาทิ ร่วมกับองค์กรและสถานศึกษาในการทำ ‘บัตรพนักงาน’ และ ‘บัตรนักเรียน’ รวมถึงร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ‘แสนสิริ’ ในการจัดหาคีย์การ์ดแรบบิทเพื่อเข้าคอนโดมิเนียม นอกจากนี้ยังออก ‘บัตรเมมเบอร์’ ให้แบรนด์ต่าง ๆ อีกด้วย

ล่าสุด ได้ออก ‘บัตรเครดิต อิออน แรบบิท แพลทินัม’ (AEON Rabbit Platinum Card) ซึ่งเข้ามามีส่วนใน eco-system ของบัตรแรบบิทให้เข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกการแตะบัตรใบนี้เพื่อชำระค่าบริการไม่ต้องกังวลว่ามีเงินอยู่ในบัตรพอเพียงหรือไม่ เพราะเมื่อเงินในฟังก์ชันแรบบิทที่อยู่ในบัตรใบนี้ไม่พอจ่ายค่าสินค้า/บริการ เงินจากวงเงินบัตรเครดิตก็จะเติมเข้า กระเป๋าบัตรแรบบิทโดยอัตโนมัติ และยังได้รับเครดิตเงิน 5%

เพิ่มบริการ ขนส่งมวลชน

บริษัทต้องการให้บัตรแรบบิทครอบคลุมการขนส่งประเภทต่าง ๆ ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า เนื่องจากจะทำให้มีผู้ถือบัตรมากขึ้นและมีร้านค้ามากขึ้นที่เสนอตัวเลือกการชำระเงินด้วยแรบบิท โดยในระหว่างที่รอการเชื่อมต่อ Rabbit กับตั๋วรถไฟฟ้า MRT บริษัทกำลังขยายบริการให้ครอบคลุมเส้นทางรถเมล์บางส่วนตามสถานที่ท่องเที่ยวและเรือสาธารณะ อาทิ การเดินทางบนคลองภาษีเจริญและแม่น้ำเจ้าพระยา

“เป้าหมายของเราคือการขยายเครือข่ายของเราให้มากที่สุด อย่างการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายจากวัดพระศรีมหาธาตุไปยังคูคต และรถไฟฟ้าสายสีทองที่เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรีกับคลองสานน่าจะเป็นปัจจัยบวกเพิ่มจำนวนการใช้บัตร”

ในส่วนของร้านค้าปลีกต่าง ๆ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มจุดรับชำระให้ได้ 40% โดยจะเน้นไปที่ร้านรายย่อย

“เรามั่นใจว่าจะสามารถหลับมาเติบโตได้เหมือนกับก่อนที่มี COVID-19 โดยในปีหน้าเราตั้งว่ายอดออกบัตรใหม่จะเติบโตได้ 15-20%

เพิ่มแอปฯ เพิ่มความสะดวก

ภายในไตรมาสที่สองของปี 2564 บริษัทมีแผนจะเปิดตัวแอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อให้ผู้ถือบัตรสามารถ ‘ตรวจสอบยอดคงเหลือ’ ‘ประวัติการใช้งาน’ และเติมเงินมูลค่าบัตรได้ในไม่กี่วินาที และในอนาคตพวกเขาจะสามารถใช้ ‘มือถือแตะทำธุรกรรม’ ต่าง ๆ ได้ด้วย โดยผู้ถือบัตรจะต้องเชื่อมโยงแอปพลิเคชันกับบริการธนาคารบนมือถือ และต้องใช้โทรศัพท์ที่มี NFC

“ทุกสิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่เพิ่มยอดออกบัตรใหม่ แต่ต้องใช้บัตรในกิจวัตรประจำวันนอกจากแค่ใช้เดินทาง BTS ซึ่งปัจจุบันมีการทำธุรกรรมผ่านบัตร 700,000-800,000 รายการ/วัน แต่การใช้นอกเหนือจากโดยสาร BTS หรือการใช้จ่ายซื้อของยังมีสัดส่วนเพียง 5-10%”

โปรโมชัน ยังจำเป็น

ส่วนบัตรลายลิมิเต็ดต่าง ๆ ช่วยให้บริษัทได้รู้ว่าลูกค้าเป็นใคร และจากนี้จะมีสิทธิประโยชน์เพิ่ม เช่น ได้ส่วนลดเพิ่มเติม ซึ่งจะไม่ใช่แค่ขายลายแต่ยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายด้วย อาทิ ลาย ‘กันดั้ม’ ที่เพิ่งออกไปก็จะมีสิทธิพิเศษเพิ่มไปด้วย ดังนั้น สิทธิพิเศษหรือโปรโมชันต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งจำเป็น ช่วยให้รู้สึกว่าดีกว่า ‘ใช้เงินสด’ ดังนั้น การแข่งขันของบัตรแรบบิทกับ ‘อีวอลเล็ต’ ต่าง ๆ ยังอยู่ที่โปรโมชันเป็นหลัก ส่งผลให้ทรานแซคชั่นของร้านค้าต่าง ๆ จะขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วแต่ใครมี ‘โปรโมชัน’ ดังนั้น ‘Loyalty’ ไม่มีแล้ว

“โปรโมชันยังสำคัญในการดึงลูกค้ามาใช้ แต่ความชินเป็นอีกสิ่งที่คนใช้ไม่รู้ตัว การชำระเงินผ่านแอปฯ อาจจะง่าย แต่การหยิบบัตรมาแตะก็ง่าย และเราไม่ได้มีโปรหวือหวาให้ว้าว แต่มีตลอดเพื่อให้อยู่ในใจลูกค้า”

ผู้อยู่รอดต้องมี อีโคซิสเต็มส์ ที่แข็งแรงพอ

ตอนนี้การแข่งขันเป็นสิ่งที่ท้าทายของแรบบิทที่สุด เพราะตอนนี้กำลังแข่งขันกับ ‘ออนไลน์’ แต่ไม่ได้มีใครมองว่าความจริงเป็นยังไง โดยแรบบิทยังมองว่า ‘ออฟไลน์’ ยังแข็งแกร่ง และออนไลน์แรบบิทก็มี Rabbit Line Pay นอกจากนี้ จุดแข็งของบัตรแรบบิทคือ ‘BTS’ ตราบใดที่คนยังต้องเดินทางด้วย BTS บัตรแรบบิทยังจำเป็น ดังนั้น คนที่จะอยู่รอดหรืออีวอลเล็ตที่จะอยู่รอดต้องมีอีโคซิสเต็มส์ที่แข็งแรง

“เรายังมีความจำเป็นต้องเป็นออฟไลน์เพราะเรื่องการเดินทาง แต่ก็พร้อมจะอัพเกรดเป็นออนไลน์ 100% ได้ทันที ดังนั้นเราเท่าเทียมกับอีวอลเล็ต แต่มีมากกว่าก็คือทรานซิท”

สุดท้าย แม้ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่โลกดิจิทัลและโลกเสมือนจริง แต่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ โลกออฟไลน์ยังคงแข็งแกร่ง ดังนั้น การจะเป็นสังคมไร้เงินสดเหมือนจีนยังไม่ง่าย เพราะการใช้จ่ายของไทยกระจุกอยู่ในสังคมเมืองมากกว่า แถมคนไทยถูกกปลูกฝังว่าเรื่องเงินเป็นของธนาคาร ดังนั้นมันยังมีปัญหาตรงส่วนนี้อยู่ ดังนั้นอีก 10 ปีอาจเป็นไปได้