IoT เป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในยุคที่มี 5G แบบนี้ เนื่องจากจะเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว สำหรับภาคอุตสาหกรรมเองก็มักนำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งยังช่วยเก็บข้อมูลไว้เป็น Big Data สำหรับวิเคราะห์จุดอ่อนจุดด้อย โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 มูลค่าตลาดของ IoT ทั่วโลกจะอยู่ที่ 11.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว ดังนั้น ตลาด IoT จึงเป็นตลาดที่หลายองค์กรให้ความสนใจจะเข้ามาในตลาดนี้ แต่ก็ไม่ได้หมูขนาดนั้น
Things on Net เป็นใคร
รติรส จันทรพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ติงส์ ออน เน็ต (THINGS ON NET CO., LTD.) ผู้ให้บริการโซลูชั่นอินเทอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือไอโอที (Internet of Things: IoT) ครบวงจร กล่าวว่า บริษัท ติงส์ ออน เน็ตคือ เป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นด้าน IoT จากโครงข่าย Sigfox Operator โครงข่ายเทคโนโลยีการสื่อสารจากประเทศฝรั่งเศสแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ซึ่งโครงข่ายดังกล่าวเป็นโครงข่ายเดียวในโลกที่สามารถส่งสัญญาณได้ในระดับ Global แบบครบวงจรในคลื่น 920-925 MHz ครอบคลุมพื้นที่กว่า 72 ประเทศ และครอบคลุมประชากรโลกมากกว่า 1.2 พันล้านคน โดยอุปกรณ์ IoT จะสามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณการสื่อสารของ Sigfox ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแบบโรมมิ่งโดยอัตโนมัติซึ่งใช้พลังงานน้อยเนื่องจากส่งข้อความขนาดเล็ก โดยปัจจุบันมีการส่งข้อความกว่า 3 พันล้านข้อความ
“อย่างหลุยส์ วิตตองก็เป็นลูกค้า โดยใช้ระบบ IoT ติดกับกระเป๋าเดินทาง เมื่อกระเป๋าหายก็สามารถแทร็กได้ว่าไปอยู่ที่ไหน เพราะสามารถส่งสัญญาณได้ในระดับโลก หรือแม้แต่ใช้ IoT เป็นเซ็นเซอร์จับหนูในสนามบิน”
ไม่ใช่คู่แข่งของใคร
ในด้านการแข่งขันบริษัทมองว่าไม่มี เพราะบริษัทเป็นรายเดียวที่ให้บริการแบบ Global Network และบริษัทจะเน้นให้บริการแบบ B2B ในเขตภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยโฟกัสหลักของบริษัทจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมอย่างอะกรีเคาเจอร์, ทรานสปอร์ตเทชั่น, เฮลท์แคร์, เรียลเอสเตส และอุปโภคบริโภค นอกจากนี้จะเน้นไปที่สมาร์ทซิตี้ เช่น ฝั่ง IoT ดูที่จอดรถว่าว่างหรือไม่ว่าง, ใช้ดูท่อประปาต่าง ๆ ว่ามีรอยรั่วหรือไม่, ใช้บริหารจัดการขยะเพื่อดูว่าถังขยะไหนเต็มหรือไม่เต็ม, ใช้วัดคุณภาพอากาศ เป็นต้น
โดยบริษัทให้บริการแบบ Total Solution ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การกำหนดกลยุทธ์ การวิเคราะห์ข้อมูลด้าน IoT รวมทั้งชุดอุปกรณ์เซนเซอร์สำเร็จ แพลตฟอร์มและโซลูชันไอโอที อาทิ Asset tracking management, การบริหารจัดการของเสีย (Waste management), สมาร์ทโซลูชั่นความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (Safety and Environmental), Smart farming, Smart city
“ในเขตอุตสาหกรรมหนึ่งไม่สามารถใช้เทคโนโลยีใครเทคโนโลยีเดียวได้ อย่างของเราจะเน้นให้บริการแบบกว้างส่งสัญญาณได้ไกล แต่ถ้าอยากได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ส่งทีละเยอะ ๆ 5G ถือว่าตอบโจทย์ ดังนั้นเรากับผู้ให้บริการรายอื่นมีจุดดีจุดด้อยต่างกัน”
ตลาด IoT ไทยไม่หมูเพราะอีโคซิสเต็มส์กระจัดกระจาย
อย่างไรก็ตาม ความยากในการทำตลาด IoT ก็คือ 1.คนทั่วไปยังไม่รู้จักอย่างแท้จริงและองค์กรยังไม่เคยใช้ เพราะส่วนใหญ่จะเข้าใจแค่ด้าน B2C 2.อีโคซิสเต็มส์ยังกระจัดกระจาย อย่างคนมีฝีมือแต่ขาดการรวบรวม ซึ่ง 2 ข้อนี้ถือว่าเป็นโจทย์หลักของบริษัทเพื่อให้คนรู้ว่า IoT มีความหลากหลายอย่างมาก รวมถึงการรวบรวมอีโคซิสเต็มส์ที่กระจัดกระจาย
ทั้งนี้ บริษัทมีกลยุทธ์ 4C ในการทำตลาด 1.Communications มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ 2.Coverage โดยวางเสาสัญญาณได้ครอบคลุมทุกจังหวัด 3.Channel ช่องทางการขายต่าง ๆ และ 4.Co-Partnerships การมีพาร์ตเนอร์เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งพาร์ตเนอร์ด้านคลาวด์ แดชบอร์ด และพาร์ตเนอร์ด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาเหล่าดีเวลลอปเปอร์และรวมอีโคซิสเต็มส์ที่กระจัดกระจาย เป็นต้น
“ตอนนี้เราพยายามหาพาร์ตเนอร์ให้ได้มากที่สุดในทุกด้าน เพราะแน่นอนว่า COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุน แต่ก็จะยังมีความต้องการในบางกลุ่ม ดังนั้น บริษัทจึงพยายามมุ่งเน้นการสื่อสารไปหากลุ่มลูกค้าให้ได้หลากหลายที่สุด เพราะเราเชื่อว่ายังมีความต้องการ”
เราไม่หยุดอยู่แค่นี้ ในปีหน้าเราจะมีโซลูชันใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้ามาตอบโจทย์ตลาด และพยายามสร้างบุคลากรรวมถึงรวบรวมอีโคซิสเต็มส์ที่กระจัดกระจาย เรามองว่าตลาด IoT ในไทยโตแน่นอน แม้ว่า COVID-19 อาจทำให้ชะลอตัวไปบ้าง แต่ภาครัฐไทยก็พยายามให้การสนับสนุน เพราะ IoT มันช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานรวมถึงช่วยลดต้นทุนได้