ดนัย จันทร์เจ้าฉาย แรงกระเพื่อมสีขาว

“เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน” คือหนังสือธรรมะที่สร้างกระแสให้คนสะดุดหูจนกลายเป็นหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี บุ๊ค ของ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดีซี คอนซัลแทนซ์ จำกัด ซึ่งทำให้นามปากกา “ดังตฤณ” กลายเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนหนังสือธรรมะของเมืองไทย

ดนัยเอ่ยปากว่า ธุรกิจต่างๆ ที่ทำอยู่ถือเป็นงานอดิเรก และแม้จะไม่ได้เอ่ยปากถึงหน้าที่หลักของชีวิตนี้โดยตรง แต่ดูเหมือนภาพลักษณ์ของดนัยจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างว่า โลกของผู้ชายคนนี้ “สีขาว”

เขาใช้เวลาส่วนใหญ่กับการสนับสนุนให้คนหันมาสนใจและปฏิบัติตนตามหลักพุทธศาสนา รวมไปถึงการผสมผสานหลักคิดทางศาสนาเข้ากับการทำธุรกิจในรูปแบบของ White Ocean ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่เขารับบรรยายเป็นประจำ เริ่มจากคำคำนี้ยังไม่แพร่หลาย จนกระทั่งปัจจุบันนี้ภายในวันเดียว มีการจัดบรรยายในหัวข้อนี้พร้อมกันมากกว่า 40-50 แห่งพร้อมกันทั่วโลก

นั่นคือการตอบรับกระแสสีขาว หรือการทำธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ชัดเจนที่สุด เหมือนกับชื่อหนังสือ “รวยได้ไม่ต้องโกง” หนังสือแปลเล่มหนึ่งของสำนักพิมพ์แห่งนี้ที่เคยตีพิมพ์และได้รับการตอบรับไม่แพ้หนังสือธรรมะ

หัวข้อพุทธศาสนาเริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตดนัยตั้งแต่สมัยที่เขาเรียนอยู่ในระดับมัธยมที่โรงเรียนหอวัง เมื่อเขาใช้ความรู้ด้านพุทธศาสนาเป็นความสามารถพิเศษเพื่อใช้ในการสอบแข่งขัน และใช้เป็นสิ่งที่เขานำติดตัวไปเผยแพร่ในฐานะนักเรียนทุน AFS

การมีพุทธศาสนาเป็นหลักยึด บวกกับประสบการณ์ และการศึกษาที่ทำให้มุมมองชีวิตกว้างและลึกขึ้น ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากปวารณาตัวในฐานะพุทธศาสนิกชนผู้ถือศีล 5 เป็นพื้นฐาน สิ่งที่ดนัยต้องทำเป็นประจำก่อนนอนทุกคืนคือการเดินจงกรม ขณะเดียวกันเขากำหนดกิจวัตรประจำวันให้กับพนักงานในบริษัทด้วยการให้พนักงานทุกคนอาราธนาศีลทุกเช้าหลังเคารพธงชาติ สวดคาถาชินบัญชรทุกวัน เช่นเดียวกับสวดมนต์เป็นประจำหลังเคารพธงชาติในตอนเย็น มีศีล 5 เป็นส่วนหนึ่งของกฎบริษัท ที่ประกาศชัดเจนว่า แค่พนักงานโกหกถือว่าทำผิดร้ายแรง ไล่ออกสถานเดียว

กฎเกณฑ์ที่หลายบริษัทอาจจะรู้สึกไม่คุ้นเอาเสียเลยนี้ หากเป็นพุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติเป็นประจำ จึงไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจ เช่นเดียวกับพนักงานที่ ดีซี คอนซัลแทนซ์

ก่อนหน้าที่ดนัยจะเปิดบริษัทดีซี คอนซัลแทนซ์ของตัวเอง สิบกว่าปีที่แล้วเขาเคยเป็นลูกจ้างที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดในเมืองไทยของ บริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนซ์ จำกัด ตั้งแต่ช่วงนั้นแล้วที่เขาริเริ่มเอาความคิดเรื่องการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนามาเผยแผ่ในขอบเขตพื้นที่ที่เขารับผิดชอบดูแลบ้างแล้วอย่างเป็นระบบ เพื่อหาโอกาสดึงคนกลุ่มต่างๆ เขาสัมผัสกับธรรมะ เพราะหลายคนอาจจะไม่โชคดีอย่างเขาที่สามารถหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ถึง 2 เดือนในหนึ่งปี นอกเหนือจากเที่ยวอีก 1 เดือน

“ผมใช้กระบวนการสื่อสารที่เรียกว่า IMC (Integrated Marketing Communication) เพื่อขับเคลื่อนธรรม แล้วใช้ Experiential Learning เพราะเราต้องเอาธรรมะเข้าไปสู่ใจของคนจริงๆ ถามว่าทุกคนรู้ศีล 5 รู้ปล่อยวางก็รู้ รู้หมดแต่ทำไม่ได้” เป็นเทคนิคการผสมผสานวิชาชีพเพื่อนำมาผลักดันในสิ่งที่ชอบ

เริ่มแรกดนัยใช้กลุ่มพนักงานของเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงกระเพื่อมสีขาว ทั้งผลักทั้งดันให้ทุกคนได้มีโอกาสลองไปปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง

“ตอนนั้นฮือฮามาก เรามีโครงการอุ้มบุญ ให้พนักงานไปปฏิบัติธรรม 8 วัน 7 คืน ไม่ถือว่าเป็นวันลา แล้วยังให้วันพักร้อนเพิ่มอีก 8 วัน มีเงินให้สองหมื่นบาท มีรถลิมูซีนรับส่ง มีพี่เลี้ยงเด็ก มีคนทำงานบ้านแทน จัดให้ทุกอย่าง เพื่อโน้มให้เขาเข้ามา การจะทำให้คนยอมหลุดออกจากโลกของตัวเองก็เหมือนกับยิงจรวจออกจากพื้นผิวโลก ต้องใช้แรงอัดเยอะมาก ไม่อัดไม่ฉีดไม่ไป ต้องล่อลวงดึงทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาก่อน”

นั่นคือเหตุการณ์เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จากตัวเอง ครอบครัว มายังคนใกล้ตัว จากนั้นก็กระจายไปยังสื่อมวลชน ซึ่งดนัยเลือกระดับบรรณาธิการเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก เพื่อให้เข้าไปสู่การปฏิบัติธรรม

“ตอนแรกทุกคนปฏิเสธ บอกว่าลางานไม่ได้หรอก โดยเฉพาะ บก. ต้องคิดประเด็นทุกชั่วโมง ผมก็ถามว่า พี่ทำข่าวชาวบ้านมาทั้งชีวิตเคยเขียนชีวิตตัวเองไหม เรื่องชาวบ้านรู้หมดเคยรู้จักตัวเองหรือเปล่า ให้เวลากับตัวเองหน่อย ส่วนหนึ่งจึงยอม”

บางคนนอกจากเห็นผลทางใจ ยังได้ผลทางกายเพราะทำให้ลืมกินยาไปได้ถึง 7-8 วัน โดยไม่รู้ว่าอยู่ได้อย่างไรโดยไม่ใช้ยา แต่สิ่งที่ดนัยคาดหวังให้ผู้ปฏิบัติได้รับคือ การได้รู้จักธรรมะอย่างแท้จริง ซึ่งธรรมะจะเกิดประโยชน์ได้ต้องรู้จริง ไม่ใช่รู้จำ นั่นคือรู้โดยสมองซีกขวา เข้าใจ ปฏิบัติได้

เขาเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมของกลุ่มบรรณาธิการสื่อจากหลายสำนักที่เขาดินหนองแซง จ.จันทบุรี ศูนย์ปฏิบัติที่เขาสร้างขึ้นและยังคงเปิดดำเนินงานต่อนเองถึงวันนี้ มีผลต่อการจัดสรรพื้นที่สำหรับธรรมในสื่อหลายสำนัก

“จุดกำเนิดที่อมรินทร์ตั้งสำนักปฏิบัติธรรม หรือเกิดหนังสือซีเคร็ด ก็มาจากตรงนั้น คุณเมตตา อุทกพันธุ์ คุณระริน เป็นกลุ่มแรกจากอมรินทร์ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม พอเข้าใจเขาไปของเขาเอง ตอนนี้อมรินทร์ไม่ต้องพูดถึงเลย แอคทีฟมากเรื่องหนังสือธรรมะ พ็อกเกตบุ๊กธรรมะก็เริ่มมาจากตรงนี้ รายการทีวีมีการสอดแทรกช่วงธรรมะ เพราะผมเอา บก.ไป พอทำให้เขาเข้าใจที่เหลือเขาก็ขับเคลื่อนกันต่อเอง”

ทั้งนี้ก่อนหน้าจะผลักดันพนักงานและสื่อเข้าไปหาประสบการณ์จากธรรมะ ดนัย เคยเปิดบ้านคอนโดของตัวเองในซอยมหาดเล็กหลวง เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมให้กับกลุ่มเพื่อนในแวดวงธุรกิจมาแล้ว จนได้รับความนิยมขนาดไม่สามารถเข้าบ้านตัวเองได้เพราะญาติธรรมเต็มบ้านไปหมด

“สิบกว่าปีที่แล้วเหมือนกัน ก่อนเปิดโครงการที่ออฟฟิศ เปิดบ้านก่อน ให้เพื่อนที่บอกไม่มีเวลาไปปฏิบัติธรรม มีห่วง ให้เขาลองหาเวลาอาทิตย์ละสองชั่วโมงให้ตัวเอง เริ่มจากเพื่อนแปดคนเพิ่มเป็นสองร้อยกว่าคน นั่งกันเต็มบ้านทั้งห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนอน จากจุดนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน”

แรงกระเพื่อมจากจุดเล็กๆ ที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ส่งผ่านไปยังกลุ่มเพื่อน พนักงาน สื่อ และสังคม เป็นกระบวนการที่ดนัยบอกว่าหมุนอยู่ตลอด อย่างน้อยทุกวันนี้แรงนี้ก็ยังหมุนอยู่ในตัวเขาเสมอ เพราะเขายืนยันว่า ธรรมะสำหรับเขาคือชีวิต เพราะทั้งวันทั้งคืน ทุกลมหายใจเข้าออก เสาร์อาทิตย์ หรือแม้แต่ไปบรรยายในที่ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ก็ยังคงเป็นเรื่องของธรรมะทั้งสิ้น

“เพราะเราเชื่อมั่นตรงนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นมันก็เวิร์คตรงที่เราเป็นจุดเล็กๆ ของการเปลี่ยนของสังคม”

จากความนิยมของผู้ปฏิบัติธรรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดนัยตัดสินใจเช่าพื้นที่ชั้น 22 ของอาคารอัมรินทร์พลาซ่า ขนาด 1,000 ตารางเมตร ซึ่งเดิมเป็นเฮอริเทจคลับ และมีอัตราค่าเช่าแพงที่สุดในตึก ส่วนหนึ่งเปิดเป็นสถานปฏิบัติธรรม ชื่อ หอประชุมพุทธคยา และอีกส่วนจัดทำเป็นออฟฟิศ

หอประชุมพุทธคยา เปิดปฏิบัติธรรมทุกวันอังคารและวันพุธ สามารถจุคนได้ประมาณ 500 คน แต่บางรอบหากได้พระอาจารย์ชื่อดัง หรือพระอาจารย์ที่มาจากต่างประเทศ ก็จะแน่นล้นเข้าไปถึงพื้นที่ส่วนที่เป็นออฟฟิศ เช่น การบรรยายของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ซึ่งแต่ะครั้งมีคนฟังไม่ต่ำกว่า 500 คน หลวงปู่เณรคำ จากจังหวัดศรีสะเกษ มียอดผู้ฟังสูงสุดจากที่เคยจัดมานับพันคน หรือพระลามะจากทิเบตก็มาใช้พื้นที่แห่งนี้แสดงธรรมเช่นเดียวกับพระชื่อดังจากพม่าหลายรูป

“เสด็จป้าของกษัตริย์จิกมี นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ก็เคยเสด็จฯ มา เป็นที่ทราบไปถึงภูฏานว่าที่นี่ใจกลางกรุงเทพฯ ชั้นสูงสุดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ทุกคนงงว่าเป็นไปได้อย่างไร ตรงนี่คือไพรม์โลเกชั่น บางคนคิดว่ามาแล้วต้องจ่ายเงินกันอุตลุด แต่เราไม่คิดเงิน ฟรีหมด”

ในแง่ของโปรดักต์ ดนัยยังคงพิมพ์หนังสือธรรมะอย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าสำนักพิมพ์ดีเอ็มจีเป็นผู้ปฏิรูปหนังสือธรรมะให้ทันสมัยอินเทรนด์ หนังสือทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอนกลายเป็นรูปแบบของหนังสือธรรมะ เริ่มแรกจากผลงานของตัวเขาเอง ชื่อ ทักทายด้วยความสุข ทักทายด้วยรอยยิ้ม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

“พิมพ์หนังสือธรรมะ ยอดขายไม่เคยตก ขึ้นเรื่อยๆ ผิดกับหนังสือประเภทอื่นยอดขึ้นแล้วก็ตก แต่หนังสือธรรมะไปได้เรื่อยๆ ผมก็แนะนำหลายสำนักพิมพ์ให้มาพิมพ์หนังสือธรรมะ ท่าน ว.วชิรเมธี เห็นหนังสือของผมยังบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านลุกขึ้นมาเขียนหนังสือครั้งแรก เมื่อก่อนหนังสือธรรมะไม่เคยติดเบสท์เซลเลอร์ เราก็ทำให้เห็น แต่ละเล่มพิมพ์อย่างน้อยสิบกว่ายี่สิบครั้งทั้งนั้นเลย มีบางเล่มเจ็ดสิบกว่าครั้ง บางคนบอกพิมพ์อย่างไร คนก็เริ่มมองว่าทำได้ไง ก็ทำจริงๆ ไปบอกเขาแล้วเราก็แชร์หมดทุกอย่าง”

ความคิดเช่นนี้ ก็คือส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม เหมือนกับหลักการของไวท์โอเชี่ยนที่บอกว่า มีที่ว่างพอสำหรับทุกคน ทุกคนเป็นผู้ชนะร่วมกันได้ การเป็นแค่หนึ่งในห้าร้อยสำนักพิมพ์ถ้าอยากจะเห็นหนังสือธรรมะเป็นส่วนหนึ่งของวงการก็ต้องผนึกกำลังทุกสำนักพิมพ์

งานพิมพ์ของดีเอ็มจีบางเล่มแจกมากกว่าขาย ยังไม่รวมแนวคิดที่ว่านักเขียนทุกคนจะรู้กันก่อนว่า พิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์นี้คุณจะมีทั้งฟรีดาวน์โหลดสำหรับผู้สนใจ การทำเป็นเอ็มพีสามแจกเป็นแสนๆ แผ่น แต่กระนั่งก็ยังคงมีต้นฉบับธรรมะมาให้ดนัยพิจารณาจัดพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 4-5 เล่มวางอยู่บนโต๊ะทำงานประจำ

“งานบรรยายธรรมที่นี่ก็เหมือนกัน ทุกครั้งก็จะมีอาสาสมัครมาถอดเทป ก๊อบปี้เป็นเอกสารแจกก่อน มีเอ็มพีสามแจก เขาก็ทำกันเองเราไม่ต้องไปยุ่งอะไรเลย นี่คือเคลื่อนสังคมจิตใจต้องกว้างขวาง แจกขนาดนี้เราก็ยังประสบความสำเร็จ ล่าสุดผมก็เพิ่งได้ทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ 10 ล้านบาทสำหรับโครงการธรรมะ และคาดว่าจะได้อีก 10 ล้านบาท จาก สสส. เห็นไหมสิ่งที่ได้กลับมามันมากกว่า”

หลักการนี้ ก็คงไม่ต่างอะไรกับวัดที่ไม่หวังเงินทำบุญค่าธูปเทียนจากผู้มาไหว้พระ แต่จัดดอกไม้ธูปเทียนไว้ให้เพื่อส่งเสริมให้คนเข้าวัดไหว้พระ แต่ศรัทธาจากการให้อาจจะนำมาซึ่งเงินทำบุญที่มากกว่าค่าธูปเทียนดอกไม้ที่กำหนดไว้ตายตัวเสียอีก

ทุกวันนี้ดนัยสื่อสารกับเครือข่ายคนธรรมะด้วยกัน ผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คไซต์ต่าง ๆ ทั้งทวิตเตอร์ที่มีผู้ตามอยู่ราว 7 พันคน เฟซบุ๊กส่วนตัว บล็อก รวมทั้งของสำนักพิมพ์และของบริษัท ซึ่งจะเชื่อมโยงกันหมด เมื่อคนหนึ่งรู้ก็จะฟอร์เวิร์ดเมลต่อไป

การเชิญพระมาบรรยายธรรมะที่หอประชุมพุทธคยา รวมทั้งการจัดพิมพ์หนังสือธรรมะของดีเอ็มจี ก็ขยายบทบาทลึกขึ้น จากฆราวาสเขียนธรรมะ ก็เป็นพระที่มีบารมีอยู่แล้ว ซึ่งดนัยเลือกหยิบผลงานมาตีพิมพ์เผยแพร่เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นผลงานของพระอาจารย์มิตซูโอะ หรือพระพม่าอย่าง ท่านสยาดอ อู โชติกะ ผู้เขียนหิมะกลางฤดูร้อน (Snow in the Summer) ซึ่งเป็นงานเขียนที่เกิดจากการตอบปัญหาชีวิตให้กับบรรดาลูกศิษย์ที่เขียนมาถามเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน แต่ด้วยหลักธรรมนอกจากเป็นที่พึ่งทางใจ ยังเข้าใจง่ายเมื่อแปลเป็นไทย ก็ได้รับการตอบรับ

“เรื่องนี้มีคนมาเลเซียไปเที่ยวพม่าแล้วเอามาแนะนำ ตอนแรกท่านไม่ให้แปลแต่ตอนหลังไม่ทราบทำไมท่านเปลี่ยนใจอีเมลมาบอกให้เราแปลได้ เราโชคดีที่ได้ครูบาอาจารย์แบบนี้ คนพม่ายังไม่ได้กราบแต่เรามีโอกาส เรื่องที่ท่านเขียนตอบมีทั้งเรื่องครอบครัว ธุรกิจ ชีวิตรัก ขนาดท่านสงบอยู่ในป่าของท่าน แต่ความมีภูมิธรรมทำให้คนมองโลกแนะนำคนทั่วไปได้”

หนังสือเล่มนี้ยังทำให้ดีเอ็มจีได้สร้างบุญใหญ่กับชาวพม่าตอบแทน เมื่อมีโอกาสนำรายได้จากการขายหนังสือไปช่วยผู้ประสบภัยนาร์กีสในประเทศพม่า ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นล้านคนเมื่อสองปีก่อน

พัฒนาการของหนังสือธรรมะในปัจจุบัน นอกจากเลือกเรื่อง ผู้อ่านยังสามารถเลือกอาจารย์ที่ศรัทธา ชอบ หรือถูกจริต ได้มาก นั่นเพราะแรงกระเพื่อมยิ่งตีวงกว้างเท่าไร โอกาสของตัวเลือกก็สูงขึ้น ไม่ต่างจากการแข่งขันของสินค้าต่างๆ ในตลาด เพียงแต่ว่าสำหรับธรรมะ อาจจะเรียกว่าเป็นการเพิ่มเติมมากกว่าจะเข้ามาแข่งขันกันเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าธรรมะจะขยายวงกว้างเท่าไร แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสร้างให้มีแรงกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์แต่ละคนมีเชื้อธรรมะในตัวในระดับที่แตกต่างกัน ร่างกายต้องหมั่นทำความสะอาดฉันใด จิตก็ต้องหมั่นฝึกฉันนั้น เหตุผลหนึ่งที่ดนัยยังคงต้องกระตุ้นให้เกิดวงกระเพื่อมนี้อยู่เสมอ คงเป็นเพราะเขาตระหนักดีว่า

“ธรรมะนี่เหมือนวัคซีน แต่เป็นวัคซีนที่ฉีดเข้ามาในหัวใจเรา คือบางคนมีภูมิคุ้มกันเยอะ ฉีดไปนิดเดียวก็จะใส มีความมั่นคงในอารมณ์ คนไม่มีธรรมะก็คือโดนกระทบง่าย เป็นทาสอารมณ์ คนที่สติไม่ค่อยมี ลืมตัวไม่ค่อยรู้เรื่อง ที่นี่บางคนภูมิดี ฉีดไปเข็มเดียวก็อยู่ได้หลายเดือน บางคนก็แป๊บเดียว แต่ทุกคนต้องได้ผลบางอย่าง ดีกว่าหมักหมมสะสมไว้โดยไม่เคยชำระออกเสียเลย”