ธรรมะคงจะ “อินเทรนด์” ไม่ได้ขนาดนี้ หากขาดสื่อกลางอย่าง “หนังสือเล่ม” ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบยาขม ให้กลายยาน้ำสีหวานสดใส รสชาติทานง่าย ที่ต้องมีติดไว้เป็นยาสามัญประจำบ้านในยามทุกข์ใจ
ระริน อุทกะพันธุ์ ซีอีโอ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ริเริ่มการจัดพิมพ์หนังสือเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับธรรมะในชื่อสำนักพิมพ์ “อมรินทร์ธรรมะ” บอกว่า รูปแบบหนังสือเล่มที่ดูทันสมัย และเนื้อหาที่ปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ สร้างให้หนังสือเล่มเป็นสื่อกลางในการเผยแผ่ข้อคิด คำสอนทางศาสนาพุทธให้กับผู้คนที่ไม่เคยสนใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
พิสูจน์ได้จากยอดขายของสำนักพิมพ์ที่ปัจจุบันติดอันดับ Top 3 ของบริษัทฯ ซึ่งระรินเองก็ไม่คิดว่าจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว อมรินทร์ธรรมะจะเป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
ธรรมะติดปีก คือพ็อกเกตบุ๊กธรรมมะเล่มแรกของสำนักพิมพ์ โดยเป็นผลงานของท่าน ว.วชิรเมธี ซึ่งเกิดขึ้นจากความสนใจและศรัทธาอย่างแรงกล้าในศาสนาพุทธของระรินและคุณแม่ (เมตตา อุทกะพันธุ์) หลังจากการจากไปของคุณพ่อเมื่อ 7 ปีที่แล้ว
เธอเล่าย้อนให้ฟังว่า ตอนนั้นรับรู้ได้ถึงความทุกข์ของคุณแม่ ท่านเสียใจอย่างมาก ทุกข์เยอะ มีแต่ความโศกเศร้า เหมือนขาดที่พึ่งไป แต่นับว่าเป็นโชคดีที่มีโอกาสได้ไปปฏิบัติธรรม จากการชักชวนของคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย และเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง
ตอนนั้นทั้งระรินและคุณแม่ไม่รู้ว่าการไปปฏิบัติธรรมคืออะไร และต้องทำอะไรบ้าง โดยก่อนเดินทางไปปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มานพ ที่จันทบุรี คุณดนัยได้ให้หนังสือพระอาจารย์ปราโมทย์ วิถีแห่งความรู้แจ้งมาอ่าน 2 เล่ม พออ่านจบก็รู้สึกอึ้ง
เธออธิบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า เหมือนโดนตบหน้า เพราะสิ่งที่รู้เกี่ยวกับพุทธศาสนามาตลอดชีวิตไม่ใช่เป็นการรู้ความแม้แต่น้อย
“แพรถึงกับอุทานกับตัวเองว่า ที่ชั้นเรียนทั้งชีวิต ทำไมไม่มีใครเคยบอกเลยว่า เท่านี้เอง ธรรมมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป ทำไมไม่มีใครบอกเราเลย”
“อ่านเล่มนั้นจบ พอจะเข้าใจขึ้นมาบ้าง แก่นธรรมที่บอกให้เราเห็นตั้งอยู่ดับไปคืออะไร แต่ก็ยังเข้าไม่ถึง แต่พอได้เข้าไปปฏิบัติธรรม ถึงได้ประสบกับตัวเองว่า สภาวะของความรู้คืออะไร”
“พอกลับมาทั้งแม่ทั้งลูก เราค้นพบว่า นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้รู้ เรื่องทุกข์ใจที่มีอยู่ก็คลี่คลายไปเลย พอเข้าไปรู้แล้วมันจบ ก็เห็นว่าไม่มีแล้ว จิตที่เคยไปเกาะอยู่ในสิ่งนั้นก็คลายตามธรรมชาติของจิต และไม่ทำร้ายใจเราอีกต่อไป นี่คือหนทางที่ดีที่สุดที่คนเรามีโอกาสรู้”
ความตั้งใจแรกของระรินหลังจากกลับมาจากปฏิบัติธรรม คือ อยากให้คนอื่นได้เห็นอย่างที่เธอและแม่ได้เห็น จึงตัดสินใจเริ่มทำหนังสือธรรมะ เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้ถึงประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ไว้ ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นหนังสือธรรมะส่วนใหญ่ที่มีเป็นหนังสือแจกฟรี
แต่ในมุมมองของระริน การซื้อคือความตั้งใจที่อยากอ่านมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หนังสือธรรมะที่เคยมีมาล้วนมีรูปแบบที่ชวนเบื่อ มากกว่าสร้างแรงจูงใจให้อยากอ่าน ระรินจึงใช้หลักการตลาดเข้ามาจับ เริ่มต้นด้วยธรรมะประยุกต์ ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จากงานเขียนของท่าน ว.วชิรเมธี และออกแบบปกให้มีหน้าตาสวย อ่านที่ไหนก็ให้ความรู้สึกว่าไม่อายใคร ซึ่งเพียงไม่นานหลังจากธรรมะติดปีก พิมพ์สู่ตลาดครั้งแรก 3,000 เล่ม ก็หมดอย่างรวดเร็ว และตอนนี้ก็ยังพิมพ์อย่างต่อเนื่อง และมียอดพิมพ์ประมาณ 85,000 เล่ม
“ในแง่ของการวางสินค้า ถ้ามองการตลาด ก็ต้องพยายามทำตัวเป็นเทรนด์เซตเตอร์ พยายามทำให้คนสนใจ อยากหยิบ ปรับแพ็กเกจจิ้ง ให้เด็กรุ่นใหม่อยากหยิบ ใครจะบอกว่าเป็นเทรนด์เราไม่สนใจ เพราะมันดี ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าปล่อยให้มียาขมอยู่บนหิ้ง ก็ไม่มีใครสนใจ สู้ทำให้เข้าไปกับชีวิตคนรุ่นใหม่น่าจะเป็นประโยชน์กว่า เราก็พยายามหารูปแบบ หัวข้อการนำเสนอที่น่าสนใจให้กับคนอ่าน
จากนั้นสำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ ก็มีผลงานออกมาแทบทุกเดือน เดือนละเล่ม และแตกออกเป็น Category อื่นๆ ได้แก่ ธรรมะประยุกต์ ธรรมะคลาสสิก และธรรมะจิตวิทยา โดยเล่มที่มียอดพิมพ์สูงสุดในตอนนี้ คือ Top Secret ของทันแพทย์สม สุจีรา รวม 260,000 เล่ม
ถูกที่ ถูกเวลา ถูกสถานการณ์ คือ บทสรุปที่ทำให้หนังสือธรรมะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
“โลกเปลี่ยนคนก็ขาดที่พึ่งทางใจ คนเจอปัญหาหลายอย่าง ถึงแม้ความเจ็บป่วยของร่างกายยังต้องใช้ใจเยียวยา ยิ่งในโลกยุคใหม่แข่งขันมากขึ้น บีบคั้น คนก็พยายามที่จะหาทางออก หาวิธีปลอบประโลมใจ หาวิธีให้ชีวิตตัวเองมีความสุข พอรูปลักษณ์หนังสือออกไปทันสมัย อ่านง่าย ไม่ต้องไต่บันได้อ่าน ก็เลยเหมาะกัน”
จากสามหมวดพื้นฐาน ทางสำนักพิมพ์ฯ ก็ได้แตกออกมาตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน อย่างเช่น ธรรมะสำหรับครอบครัว ของแม่ชีศันสนีย์ ในชื่อ มีความสุขให้ลูกเห็น เป็นคนดีให้ลูกดู และในอนาคตวางแผนที่จะออกหนังสือธรรมะสำหรับเด็กเพิ่มเติมอีกด้วย
ขั้นตอนการออกหนังสือธรรมะในแต่ละหมวดหมู่เป็นไปตามขั้นตอนที่ได้วางแผนไว้ เพราะธรรมมะเป็นเรื่องลึก จึงต้องปูทาง สร้างความรู้ความเข้าใจ ด้วยธรรมะประยุกต์ และธรรมะจิตวิทยาก่อน สำหรับกลุ่มคนทำงาน จากนั้นจึงขยับสู่ธรรมะคลาสสิกสำหรับผู้ใหญ่ซึ่งจะมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งขึ้น และเมื่อคนที่อ่านหนังสือเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้าจนอยากปฏิบัติธรรมขึ้นมา จึงออกหนังสือในหมวดหมู่ ธรรมะปฏิบัติ
เมื่อปูพื้นฐานความรู้เรื่องธรรมะแล้ว จึงขยายสู่ธรรมะครอบครัว และธรรมะเด็ก ซึ่งเป็นหนังสือภาพ ที่ต้องผ่านการปูทางกับบรรดาพ่อแม่ก่อน เพราะถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ก็จะไม่ซื้อ ไม่นำเสนอให้ลูกอ่าน
และที่สำคัญ หนังสือธรรมะไม่เคยล้าสมัย บางเล่มพิมพ์แจก เอามาพิมพ์ขายก็ยังขายได้ มีคนกลุ่มใหม่สนใจธรรมะมากขึ้นทุกวัน เพราะทุกครั้งที่หยิบมาอ่านไม่ว่าเล่มไหน ล้วนได้ประโยชน์เหมือนเป็นการเตือนสติทุกครั้ง ถึงแม้ประโยคนั้นเราจะเคยอ่านซ้ำๆ มาแล้วก็ตาม