ถอดรหัสคำพูด “ทิม คุก” วิจารณ์โซเชียลเรื่อง Privacy โหมไฟขัดแย้ง Facebook แรงขึ้น

(Karl Mondon/Digital First Media/The Mercury News via Getty Images)
เด็ดขาดจริงๆ สำหรับคำพูดของ “ทิม คุก” (Tim Cook) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิล (Apple) ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแบ่งขั้วแยกข้าง และการระบาดของข้อมูลเท็จบนโซเชียลมีเดียอย่างถึงพริกถึงขิง กลายเป็นความเผ็ดร้อนที่โหมไฟให้ความขัดแย้งระหว่างผู้ผลิตไอโฟนและยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) ยิ่งทวีความชัดเจนกว่าเดิม ทำให้ผู้คนทั่วโลกจับตามองใกล้ชิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดตามมาหรือไม่

Tim Cook ออกแถลงการณ์ผ่านการประชุมออนไลน์เรื่อง Computers, Privacy and Data Protection conference ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องความเป็นส่วนตัว และการปกป้องข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ Cook วิพากษ์วิจารณ์ว่าหลายแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไป และให้ความสำคัญกับ “ทฤษฎีสมคบคิดและการยั่วยุที่รุนแรง” เพียงเพราะประเด็นเหล่านี้สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ในอัตราที่สูง จุดนี้ Cook ย้ำว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้อีกต่อไป

“ในช่วงเวลาที่การบิดเบือนข้อมูล และทฤษฎีสมคบคิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะอัลกอริทึม เราไม่สามารถหลับหูหลับตาเชื่อทฤษฎีของเทคโนโลยีที่บอกว่าทุก engagement หรือการมีส่วนร่วมทั้งหมดคือ engagement ที่ดี หรือ engagement ยิ่งนานเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น และทั้งหมดนี้มีเป้าหมายในการรวบรวมข้อมูลให้มาก เท่าที่จะทำได้” เจ้าพ่อ Apple กล่าว

แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อ Facebook แต่ทั้งสองบริษัทมีข้อพิพาทกันชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ Apple กำลังเตรียมที่จะใช้การแจ้งเตือนความเป็นส่วนตัว (privacy notifications) ที่หลายบริษัทในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัล เชื่อว่าจะทำให้ผู้ใช้บางส่วนปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ระบบใช้เครื่องมือ เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายโฆษณา

เช่นในเร็วๆ นี้ที่ Apple จะกำหนดให้แอปต้องขออนุญาตจากผู้ใช้ก่อนติดตามข้อมูลในแอปฯ หรือเว็บไซต์ที่บริษัทอื่นเป็นเจ้าของ โดยผู้ใช้จะสามารถดูได้ภายใต้หัวข้อการตั้งค่าว่าแอปฯ ไหนขออนุญาตติดตามและทำการเปลี่ยนแปลงตามเห็นสมควร ข้อกำหนดนี้จะเปิดให้ใช้งานอย่างแพร่หลายในต้นฤดูใบไม้ผลิพร้อมกับการเปิดตัวการอัปเดตไอโอเอสใหม่ iOS 14, ไอแพดโอเอส iPadOS 14 และทีวีโอเอส tvOS 14

Apple ยังเปิดตัวเทคโนโลยีมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยระบุว่าเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และช่วยรักษาข้อมูลของผู้ใช้ให้ปลอดภัยอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ซาฟารี (Safari) เป็นเบราว์เซอร์ตัวแรกที่บล็อกคุกกี้ของบริษัทอื่นเป็นค่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2005

ส่วนใน iOS 11 และ macOS High Sierra นั้น Safari ก็ได้เพิ่มคุณสมบัติ “การป้องกันการติดตามอัจฉริยะ” เพื่อจำกัดการติดตามมากขึ้นไปอีกในขณะที่เว็บไซต์ยังคงทำงานได้ปกติ ต่อมาในปี 2018 ทาง Apple ได้เพิ่มมาตรการที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการสะกดรอย Mac ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทอื่นใช้ในการระบุอุปกรณ์ของผู้ใช้โดยอ้างอิงจากข้อมูลอย่างฟอนต์และปลั๊กอิน

แม้ Apple จะย้ำว่าได้รับการสนับสนุนจากผู้รณรงค์ด้านความเป็นส่วนตัวทั่วโลก แต่ Facebook กล่าวหา Apple ว่ามีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน เนื่องจาก Apple เดินหน้าขยายแคตตาล็อก paid app หรือแอปฯ ที่ต้องซื้อให้เพิ่มจำนวนขึ้น รวมถึงมีธุรกิจโฆษณาดิจิทัลของตัวเอง

โดยมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Facebook ตัดสินใจออกสื่อเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า Apple มี “แรงจูงใจ” ในการใช้ฐานะแพลตฟอร์มที่โดดเด่นของตัวเอง เพื่อขัดขวางการทำงานของแอปพลิเคชันอื่น รวมถึงแอปฯ ของ Facebook

Mark Zuckerberg

อีกประเด็นที่ Cook วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาคือ แนวทางการปฏิบัติของโซเชียลมีเดียที่ทำลายความไว้วางใจในวัคซีนของสาธารณชน และยังสนับสนุนให้ผู้ใช้เข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรงหลากหลายด้วย

Cook เชื่อว่าโลกควรหยุดได้ตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะการแสร้งทำเป็นว่าสื่อโซเชียลไม่ได้มาพร้อมกับความเสียหายมากมายของการแบ่งขั้ว การทำลายความไว้วางใจ และความรุนแรง ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางสังคม ไม่สามารถปล่อยให้กลายเป็นหายนะทางสังคมได้อีกต่อไป

เพื่อตอบโต้คำพูดของ Cook เจ้าพ่อสื่อโซเชียลอย่าง Facebook ออกแถลงการณ์บ้างโดยบอกว่า “Apple มีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน โดยใช้อำนาจการควบคุม App Store เพื่อสร้างประโยชน์ต่อผลกำไรของตัวเอง บนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้พัฒนาแอปฯ และธุรกิจขนาดเล็ก”

ไม่ว่าข้อกล่าวหาของใครจะเป็นเรื่องจริง แต่ความขัดแย้งระหว่าง Apple และ Facebook นั้นรุนแรงขึ้นอย่างแท้จริงแน่นอน

Source