ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เห็นสัญญาณบวก ตั้งเป้าโต 30% พร้อมขยายธุรกิจมั่นใจเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2564

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เดินหน้าประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2564 พร้อมเผยภาพรวมความสำเร็จของธุรกิจในปี 2563 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์มีการเติบโตสอดคล้องกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังโดดเด่นและเขตอุตสาหกรรมในเวียดนามที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คว้าสัญญาจากนักลงทุนรายใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จจากการเพิ่มทุนเข้ากองทรัสต์ WHART และ HREIT ที่มีมูลค่ารวม 4,870ล้านบาท อีกทั้งทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ A-พร้อมประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2564 มุ่งพัฒนาธุรกิจทั้ง4 กลุ่มให้พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตอย่างราบรื่น ตั้งเป้ารายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30และยังคงระดับอัตราผลกำไรEBITDA[1]อยู่ที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35ตอกย้ำความเป็นผู้นำของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในประเทศไทย รวมถึงการขยายธุรกิจในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น และยังคงมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ

ความสำเร็จอันโดดเด่นในปี 2563

ปี 2563 เป็นอีกหนึ่งปีที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของประเทศไทยในฐานะผู้พัฒนาด้านโลจิสติกส์  นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัลแพลตฟอร์ม

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ดินอุตสาหกรรมในประเทศไทยอันเนื่องมาจากการระงับการเดินทางชั่วคราว แต่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มลูกค้ายังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้อย่างแข็งแกร่ง

กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ สามารถทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยมในปีแห่งความท้าทายโดยกลุ่มธุรกิจ
โลจิสติกส์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น สอดรับกับความสำเร็จของวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซและความต้องการคลังสินค้าในไทยที่เพิ่มมากขึ้นโดยในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าที่มีผู้เช่าภายใต้การถือครองและบริหารเพิ่มขึ้นประมาณ 130,600 ตารางเมตรนอกจากนี้ ยังมีการทำสัญญาให้เช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงอีกจำนวน112,000 ตารางเมตร

สำหรับการลงทุนในประเทศเวียดนาม มีเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติจำนวนมหาศาล ส่งผลให้บริษัทฯ มียอดขายที่ดินในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซนในจังหวัดเหงะอานเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันสามารถขายที่ดินได้ครึ่งหนึ่งของโครงการเฟส 1 ซึ่งมีพื้นที่รวม 900 ไร่

ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายและตลาดกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้เตรียมพร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ ได้แก่การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับทัส โฮลดิ้งส์ ผู้พัฒนาศูนย์ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศจีน เพื่อดำเนินการศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม “ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ”แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร และการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายก๊าซอุตสาหกรรมให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ

ประเทศเวียดนามนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมากและยังเป็นหนึ่งในประเทศที่รองรับการย้ายฐานการผลิตนอกเหนือจากประเทศไทย ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดับบลิวเอชเอได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นประจำจังหวัดทัญฮว้า(Thanh Hoa)เพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรม 2 แห่งในจังหวัดทัญฮว้าพื้นที่รวมเกือบ 7,500 ไร่ นับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สำหรับนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในประเทศไทยยังคงพัฒนาและขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่องนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 3(WHA ESIE 3)พัฒนาแล้วครอบคลุมพื้นที่ 2,200 ไร่ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอระยอง 36(WHA RY 36)ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 11 ในประเทศไทยของบริษัทฯมีพื้นที่ 1,281 ไร่ ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ที่ผ่านมา

ในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานดับบลิวเอชเอ ได้เพิ่มการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเริ่มเปิดดำเนินการของโครงการ Wastewater Reclamation Plant ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยกำลังผลิต 9,125,000ลูกบาศก์เมตรต่อปีซึ่งมีโรงผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) ด้วยกำลังผลิตสูงสุดกว่า4,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อให้บริการแก่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)แม้ว่าจะมีสถานการณ์ภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโควิด-19  WHAUPยังสามารถเพิ่มยอดจัดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวมขึ้นเป็น 114 ล้านลูกบาศ์กเมตร หรือคิดเป็นการเติบโตราวร้อยละ 3.7 จากปีก่อน การพัฒนาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีความต้องการจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอบริการติดตั้งและการบริหารจัดการแบบครบวงจร ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯมียอดเซ็นสัญญาเพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้ารวม 50.8เมกะวัตต์ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้น 590 เมกะวัตต์

เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 กลุ่มธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม โดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท ได้ลงนามในสัญญาการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์จำนวน 109 ตู้แร็คกับบริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (JasTel)นอกจากนั้นดับบลิวเอชเอ ยังได้จับมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำเพื่อวางแผนการติดตั้งเครือข่ายเพื่อกระจายสัญญาณ 5G และทดสอบการใช้งานจริงของโซลูชัน 5G ภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ

ในปี 2563ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปยังประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนเข้ากองทรัสต์ WHART และ HREIT คิดเป็นมูลค่ารวม 4,870 ล้านบาท โดยHREIT เป็นการเพิ่มทุนครั้งที่ 2ลงทุนในพื้นที่โรงงาน และคลังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่าบนพื้นที่รวม 48,127 ตารางเมตร เช่นเดียวกับ WHART ที่ได้เพิ่มทุนครั้งที่ 5เพื่อลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม ประกอบด้วยโครงการศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่จำนวน 3 โครงการ ซึ่งมีพื้นที่รวม 128,789 ตารางเมตร

บริษัทฯ คาดว่ารายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติในปี 2563 จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 9.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากปีก่อนโดยมีมูลค่าสินทรัพย์โดยรวม 8.3 หมื่นล้านบาท และทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ A-

“แม้ว่าต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19แต่เราได้วางรากฐานอันมั่นคงไว้ให้กับทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯผลตอบรับที่ได้จึงเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตลอดจนยังสามารถรักษาฐานกลุ่มลูกค้าไว้ได้ทำให้เราได้รับผลกระทบน้อยมาก” นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทาย บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าดำเนินธุรกิจ นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่องรวมถึงการขยายธุรกิจโครงการใหม่ๆ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ตลอดจนบริหารจัดการฐานะทางการเงินได้อย่างแข็งแกร่งเราได้ไปถึงส่วนหนึ่งของเส้นทางสำคัญที่ตั้งไว้ และพร้อมมุ่งมั่นที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการลงทุนและพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นในปี 2564” นางสาวจรีพร กล่าวเพิ่มเติม

ทิศทางกลยุทธ์แผนธุรกิจประจำปี 2564 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

บริษัทฯ เริ่มต้นปี 2564 ด้วยการเปิดตัวโครงการ ดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ (WHA Tower) อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ บนถนนเทพรัตน์ ก.ม. 7 (ถนนบางนา-ตราด เดิม) ซึ่งเป็นอาคารสูง 25 ชั้น เกรดเอ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 52,000 ตารางเมตร มีพื้นที่สำนักงานระดับไฮเอนด์ สร้างสมดุลชีวิตการทำงานและไลฟ์สไตล์ที่ลงตัวให้แก่พนักงานของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และลูกค้า รวมถึงบริษัทที่เข้ามาเช่าพื้นที่  โครงการ WHA Tower ตั้งอยู่ในทำเลศูนย์กลางธุรกิจสำคัญ ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมการเดินทางสะดวกสบาย ล่าสุดคว้ารางวัลสุดยอด “สถาปัตยกรรมอาคารสำนักงานแบบไฮไรส์ ประจำประเทศไทย (Commercial High Rise Architecture Thailand)”

  • ธุรกิจโลจิสติกส์ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปมุ่งมั่นที่จะแสวงหาลูกค้าในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงเน้นการเพิ่มมูลค่าให้การบริการผ่านการผสานรวมเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาในธุรกิจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซการให้บริการด้านโลจิสติกส์ เฮลท์แคร์ ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลก คลังสินค้าของดับบลิวเอชเอ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเทพมหานครสมุทรปราการ และในเขตอีอีซี ทำให้ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ สามารถสานต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าสำคัญ อีกทั้งผนึกกำลังกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจรายใหม่ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ในระยะยาว ในปี 2564 บริษัทฯ จะเปิดโครงการศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ 5 โครงการ รวมพื้นที่ 400,000 ตารางเมตร พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ อาทิ 5G และโรโบติกส์ ซึ่งจะส่งผลให้ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์พัฒนาไปสู่การเป็น “คลังสินค้าอัจฉริยะ” โดยตั้งเป้าโครงการใหม่ และอาคารอุตสาหกรรมให้เช่าในปี 2564ไว้ที่ 175,000 ตารางเมตร และสัญญาให้เช่าระยะสั้นที่สร้างผลตอบแทนสูงอีกกว่า50,000 ตารางเมตร
  • ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) ยังคงยืนหยัดความเป็นผู้นำในประเทศไทยและขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอีอีซี พร้อมเปิดดำเนินการและต้อนรับกลุ่มนักลงทุนแล้วนอกจากนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติมภายในนิคมอุตสาหกรรมอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (จำนวน 641 ไร่) นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง(จำนวน 2,152 ไร่) และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี2 (จำนวน 1,907 ไร่) รวมถึงการติดตั้งห้องควบคุมอัจฉริยะที่อาคาร WHA Towerภายใต้แนวคิด “Smart Eco Industrial Estates” ซึ่งจะช่วยให้ บริษัทฯ สามารถควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานแบบรวมศูนย์

ในประเทศเวียดนาม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จะเร่งสานต่องานก่อสร้างพื้นที่ส่วนที่เหลือในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟส 1 พร้อมขยายการก่อสร้างในเฟส 2 และเฟส 3 คิดเป็นพื้นที่แล้วเสร็จโดยรวม7,800 ไร่ และจะเริ่มดำเนินการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่งในจังหวัดทัญฮว้ารวมพื้นที่ 7,500 ไร่ ได้แก่ โครงการ WHA Smart Technology Industrial Zone – Thanh Hoaและโครงการ WHA Northern Industrial Zone – Thanh Hoaในช่วงปี 2565- 2566

ด้วยความต้องการที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้า บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 2564 ที่จำนวน 1,000 ไร่

  • ธุรกิจระบบสาธารณูปโภค และพลังงาน ดับบลิวเอชเอยูทิลิตี้ส์แอนด์พาวเวอร์มุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยและเวียดนามโดยการเริ่มคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมโซลูชันพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ
    • ด้านสาธารณูปโภคดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จะใช้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพื่อให้บริการโซลูชันน้ำหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ Wastewater Reclamation และการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water)สำหรับลูกค้าภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงผู้พัฒนาที่ดินอุตสาหกรรมอื่นๆ และเขตเทศบาล นอกจากนี้บริษัทฯ พร้อมเปิดตัวโซลูชันนวัตกรรมและแพลตฟอร์มการให้บริการระบบสาธารณูปโภคสำหรับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนในประเทศเวียดนาม ซึ่งบริษัทฯ มีหุ้นในบริษัทน้ำ 2 แห่ง จะยังมองหาโอกาสการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคเพิ่มเติม โดยในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดจัดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวมไว้ที่ 153 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปีก่อน
  • ด้านพลังงาน ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จะขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop)สำหรับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าการเซ็นสัญญาเพื่อลงทุนผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารวม 30 เมกะวัตต์ WHAUP เร่งเดินหน้าโครงการที่มุ่งเน้นนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ การทดสอบระบบPeer-to-Peer Energy Trading และจะนำมาใช้จริงเมื่อผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจในปี 2564 บริษัทฯ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้น 650 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อน
  • ธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์มบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิทพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานในทุกกลุ่มธุรกิจจะมีการติดตั้งไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) ครอบคลุมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่อด้านดิจิทัลภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ จะมอบบริการที่ครบวงจรมากขึ้นให้แก่ลูกค้า พร้อมขยายโอกาสจากการใช้เทคโนโลยี 5G ภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ

“ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มองว่าปี 2564 โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี แต่ยังต้องดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ บริษัทฯ พร้อมนำเสนอโครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะแล้วเสร็จเตรียมรองรับการฟื้นตัวของตลาดในเร็วๆ นี้ อันจะช่วยให้ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดี คาดว่ารายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30จากปีก่อน ตั้งเป้ารายได้จากการดำเนินงานอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่แข็งแกร่งอยู่ที่กว่าร้อยละ 35และคาดหวังการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เราคาดการณ์ว่าจะมีการใช้งบประมาณในการลงทุนช่วงปี 2564 – 2568อยู่ที่ 5.6หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 1.5เท่า เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ ด้วยความแข็งแกร่งและความสามารถในการปรับตัวรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” คุณจรีพร กล่าวสรุป

[1]กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin)