ผลวิจัยชี้ ‘คนไทย’ สนใจใช้ ‘รถ EV’ สูงสุดในอาเซียน แต่ ‘ที่ชาร์จ’ ยังเป็นข้อกังวลหลัก

Photo : Shutterstock
‘นิสสันอาเซียน’ ร่วมมือกับ ‘ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน’ (Frost & Sullivan) องค์กรที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และงานวิจัยทางธุรกิจได้เผยถึงผลสำรวจเทรนด์ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยประจำปี 2564 โดยระบุว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีความต้องการ มีความสนใจ และตื่นตัวต่อระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนเลยทีเดียว

43% สนใจเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าใน 3 ปี

ที่ผ่านมา ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนได้ทำงานวิจัยด้านระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 เพื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ จากนั้นในเดือนกันยายน 2563 บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ได้ทำการศึกษาอีกครั้งจาก 6 ตลาดในภูมิภาคอาเซียน ประกอบไปด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจพบว่า 43% ของผู้ใช้รถยนต์ที่ไม่ใช่พลังงานไฟฟ้าจะเลือกพิจารณารถยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอนหากจะต้องซื้อรถยนต์คันต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า และเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนร่วมตอบแบบสำรวจจะเลือกพิจารณาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 33%

นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่เข้าใจเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ารวมถึงวิธีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น 53% โดยวัดจากผู้ที่ร่วมตอบแบบสำรวจ นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมีความกระตือรือร้นในการพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

สิ่งแวดล้อมแรงผลักดันใหญ่

จากการสำรวจพบว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนได้แก่ 1.ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.ค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการใช้รถยนต์สันดาป และ 3.ความปลอดภัยที่มากกว่า

และสำหรับประเทศไทยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลักที่ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดย 90% ของผู้ใช้รถตระหนักว่า ‘รถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคอาเซียนที่อยู่ที่ 88%

โดยผู้ร่วมตอบแบบสำรวจคนไทยมากถึง 91% ระบุว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีผลต่อการพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ 3 ใน 4 ของผู้ใช้รถในประเทศไทยระบุว่า แหล่งพลังงานหมุนเวียนจะช่วยส่งเสริมให้มีการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นทำให้พวกเขามีส่วนช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม โดย 39% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 34% เมื่อเทียบกับงานวิจัยเดียวกันเมื่อปี 2561

อุปสรรคใหญ่ สถานีชาร์จ

ผู้บริโภคเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคต่อการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยความกังวลเรื่องพลังไฟฟ้าจะหมดระหว่างทางก่อนไปถึงสถานีชาร์จลดเหลือ 53% จากปี 2561 อยู่ที่ 58% ส่วนปัญหาข้อสงสัยต่อเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าก็ลดลงเหลือ 40% จากปี 61 อยู่ที่ 48%

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคหลักสำคัญเพียงเรื่องเดียวที่ยังคงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 นั่นก็คือ ความกังวลต่อระบบแท่นชาร์จไฟฟ้าสาธารณะที่มีอยู่อย่างจำกัด” โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 76% มองว่าสถานีชาร์จไฟฟ้าจำเป็นต้องมีมากขึ้นในเขตบริเวณที่พักอาศัย และ 47% มีความกังวลเกี่ยวกับระบบแท่นชาร์จไฟฟ้าตามแหล่งสาธารณะ กลับกัน ข้อกังวลนี้กลับลดลงในทุกประเทศที่มีการสำรวจ โดยเฉลี่ย 9%

ภาษีและสถานีชาร์จ 2 ปัจจัยกระตุ้น

จากงานวิจัยผู้บริโภคในอาเซียนพบว่า 66% ของผู้บริโภคในภูมิภาคเชื่อว่าพวกเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงการหันมาใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งสิ่งนี้จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในอนาคตอันใกล้ โดยผลวิจัยในปี 2561 พบว่า 2 อันดับที่ช่วยจูงใจให้เปลี่ยนไปใช้รถฟ้าคือ สิทธิประโยชน์ทางภาษี 77% การมีแท่นชาร์จติดตั้งตามอาคารที่พักอาศัย 75%

สำหรับประเทศไทย แรงจูงใจที่มาเป็นอันดับ 1 คือ สถานีแท่นชาร์จในเขตบริเวณที่พักอาศัย 76% ตามด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี 73% และช่องทางพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 50%

เทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ อีกนวัตกรรมน่าสนใจ

เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ กับระบบไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และระบบสันดาปภายใน (Internal Combustion Engine Vehicle: ICE Vehicle) แล้ว ปัจจัยที่เป็นสิ่งดึงดูดสำหรับผู้ใช้รถในไทยมากที่สุด คือเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ซึ่งให้สมรรถนะเฉกเช่นรถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่ต้องชาร์จไฟจากภายนอก และเมื่อลูกค้าได้เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ได้อย่างไร ผู้ตอบแบบสำรวจถึง 82% ระบุว่า ขุมพลังอี-พาวเวอร์นั้น “น่าสนใจมาก” และ “ค่อนข้างน่าสนใจ” เป็นรองแค่รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่เท่านั้น